CHOM Hand Craft จากผักตบชวาสู่งานสานสุดเท่ในมือทายาทรุ่นสอง

CHOM Hand Craft จากผักตบชวาสู่งานสานสุดเท่ในมือทายาทรุ่นสอง

CHOM Hand Craft จากผักตบชวาสู่งานสานสุดเท่ในมือทายาทรุ่นสอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • “CHOM Hand Craft” แบรนด์ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา ก่อตั้งโดยคุณแม่ชม รอดรัตน์ และถ่ายทอดมายังทายาทรุ่นที่สอง คือ แอล – อิสรัตน์ แซ่ลิ้ม ซึ่งตัดสินใจรีแบรนด์ และสร้างผลงานที่มีรูปแบบทันสมัยมากขึ้น
  • จุดเด่นของ CHOM Hand Craft คือผลิตภัณฑ์ที่มีรูปร่างและสีสันแปลกตา ประโยชน์ใช้สอยที่มากกว่า 1 อย่าง รวมถึงงานสั่งทำที่ตอบโจทย์ตัวตนของลูกค้า
  • แม้ว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะไม่ได้สูงมากนัก แต่สิ่งที่อิสรัตน์ได้รับคือความท้าทายในการทำงาน ซึ่งทำให้เธอยังคงทำธุรกิจนี้อยู่ เพื่อให้เห็นภาพตัวเองที่เติบโตขึ้นและเก่งขึ้น

งานหัตถกรรมประเภทจักสานของไทย เป็นผลิตภัณฑ์อีกประเภทที่ถูกผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ เพื่อฉีกกรอบจากความล้าสมัยให้กลายเป็นแฟชั่นที่ดูเก๋ไก๋และมีมูลค่ามากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะได้รับความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติ แต่ในสายตาของคนไทย ผลิตภัณฑ์จักสานก็ยังไม่สามารถข้ามพ้นจากการเป็นอุปกรณ์ที่คนสูงวัยใช้ถือไปวัด อีกทั้งราคาก็ถูกมาก เมื่อเทียบกับเรี่ยวแรงที่ผู้ผลิตลงมือทำในทุกขั้นตอน สิ่งเหล่านี้จุดประกายให้ แอล – อิสรัตน์ แซ่ลิ้ม ตัดสินใจ “รีแบรนด์” ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา ที่คุณแม่ของเธอก่อตั้งมานานกว่า 30 ปี ในชื่อว่า “CHOM Hand Craft”

แอล อิสรัตน์ แซ่ลิ้ม เจ้าของแบรนด์งานสานผักตบชวา CHOM Hand Craftแอล อิสรัตน์ แซ่ลิ้ม เจ้าของแบรนด์งานสานผักตบชวา CHOM Hand Craft

ยุคแรกของ CHOM Hand Craft

CHOM Hand Craft เกิดขึ้นจากฝีมือของคุณแม่ชม รอดรัตน์ โดยเริ่มต้นจากการเป็นซัพพลายเออร์ผลิตผลงาน รวมทั้งแกะงานและออกแบบงานส่งให้ลูกค้า ทว่าด้วยความที่ต้องย้ายบ้านบ่อย บวกกับการที่คุณแม่ชมอายุมากขึ้น ทำให้คุณแม่ไม่สามารถทำงานได้ครั้งละมากๆ เท่ากับเมื่อก่อน จึงหันมาผลิตผลงานเพื่อขายเองเป็นหลัก

“ปัญหาก็คือ เขาทำตะกร้าเป็นชุดๆ ไล่ขนาดกัน 3 ใบ เซ็ตนี้ 400 เองน่ะ เรารู้สึกว่า 400 ไม่ได้ เพราะเราเห็นเขาทำเป็นอาทิตย์เลย แล้วเขาก็บอกว่า ถ้าแพงกว่านี้ใครจะไปซื้อ เราก็เลยบอกแม่ว่า มันต้องมีคนซื้อแม่ เดี๋ยวลองดู ก็เลยเริ่มทำจากตอนนั้น” อิสรัตน์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการลงมือปั้นแบรนด์ใหม่ด้วยตัวเอง

CHOM Hand Craft ในมือรุ่นลูก

ในขณะที่เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่มองหางานประจำและรายได้ที่มั่นคง อิสรัตน์ในวัย 20 ปี กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมาะกับการทำงานประจำในออฟฟิศ จึงตัดสินใจทดลองทำงานสานผักตบชวากับแม่ โดยวางระยะเวลาทดลองงานของตัวเองนาน 10 ปี ซึ่งเธอรู้ดีว่าเธอจะสามารถเติบโตได้ในเส้นทางนี้ เพียงแต่ว่าต้องมีความอดทนมากพอ

“เรายังชอบภาพเดิมอยู่ ที่เป็นคุณป้าคุณยายถือตะกร้าทำบุญ แต่เราอยากได้ภาพที่เพิ่มขึ้นคือ เราเห็นภาพเป็นผู้หญิงมั่นใจคนหนึ่ง เชื้อชาติไหนก็ได้ ใส่กางเกงยีนส์ ถือกระเป๋าสาน ใส่รองเท้าส้นสูง ให้มันเป็นเรื่องปกติ ที่ทุกคนไม่ต้องรอปิกนิก ไปทะเล ไม่ต้องรอกิจกรรมอะไรที่ดูอีโค หรือว่าไปงานผ้าไหมแล้วค่อยถือมันไป” อิสรัตน์กล่าวถึงเป้าหมายของเธอ

ด้วยประสบการณ์ในการฝึกงานด้านโซเชียลมีเดียให้กับโรงแรม และฝีมือด้านการถ่ายภาพ อิสรัตน์พยายามผลักดัน CHOM Hand Craft ให้กลายเป็นผลงานศิลปะ โดยมีเธอและแม่เป็นศิลปิน ไม่ใช่ผู้รับจ้างผลิตสินค้า แม้จะฟังดูแล้วโรแมนติก แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“พอมันเป็นแบบนี้ มันมีความฟุ้งของงานที่มากเกินไป เหมือนคนทำงานมันอยากใส่เต็มน่ะ มันอยากให้ของที่ตัวเองทำมันดีที่สุด เป็นตัวเองที่สุด จนเราลืมคิดไปว่าเราทำของขาย สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำให้เป็นตัวของคนซื้อต่างหาก เลยเหมือนต้องเปลี่ยนความคิดตรงนี้ แล้วก็แยกส่วนมันออกว่าอะไรอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นตัวเรา แล้วก็ความเป็นตัวของลูกค้า

จากความฟุ้งในช่วงปีแรกๆ ที่ทำให้การรีแบรนด์ต้องหยุดชะงัก อิสรัตน์ตั้งตัวใหม่อีกครั้ง โดยค่อยๆ พิจารณางานของแม่ ขณะที่คุณแม่เองก็หันมารื้อฟื้นงานที่เคยทดลองทำสมัยยังเป็นสาว ทั้งการผสมสี ผสมลายสาน ซึ่งทำให้อิสรัตน์มองเห็นจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของคุณแม่ และค่อยๆ จัดวางไอเดียต่างๆ ให้อยู่ในที่ทางที่เหมาะสม จนกระทั่งปัจจุบันนี้ แบรนด์ CHOM Hand Craft เริ่มอยู่ตัวมากขึ้น โดยอิสรัตน์รับหน้าที่ดูแลเรื่องการตลาดและการสื่อสารกับลูกค้าเป็นหลัก ส่วนคุณแม่ที่ชำนาญเรื่องงานสานมากกว่า ก็รับหน้าที่ดูแลด้านการผลิต

“ผักตบชวา” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

โดยทั่วไป ผักตบชวามักจะถูกมองว่าเป็นวัชพืช และเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยจำนวนที่มีมากเกินไป อย่างไรก็ตาม อิสรัตน์เล่าว่า “ผักตบชวามีช่วงเวลาที่ขาดตลาดด้วย”

“ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการตัดผักตบชวาจะเป็นช่วงไตรมาสแรกของปี เดือนมกราคม – เมษายน ไม่เกินพฤษภาคม เพราะพฤษภาคมเริ่มฝนแล้ว พอฝนตก สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาจะออกดอก สารอาหารจากลำต้นจะไปเลี้ยงดอกค่ะ ทำให้ลำต้นที่เราใช้สานนั้นเริ่มแข็ง แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ไปจนถึงสิ้นปี แล้วมันจะทำให้ตัวผักตบชวาที่เหมาะกับการใช้งานมันหายากมาก”

นั่นหมายความว่า ผักตบชวาที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของ CHOM Hand Craft จึงต้องได้รับการคัดสรรอย่างดีที่สุด ซึ่งอิสรัตน์เล่าว่า โดยปกติทางแบรนด์จะรับผักตบชวาจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งหลังจากตัดแล้วจะนำไปตากแห้ง ก่อนจะส่งให้ผู้ผลิตนำไปสานต่อ

“หลักๆ ก็จะมีคุณยายห้อง เขาจะมีบ้านติดริมน้ำ หลังบ้านแกจะเป็นน้ำไหล ผักมันก็จะมาตามน้ำค่ะ ไหลมา แกจะขึงตาข่ายดัก แล้วผักตบชวาที่มันไหลมาตามน้ำ มันจะได้สารอาหารจากหลายๆ ที่ ทำให้ต้นมันยาวมาก และเมื่อต้นมันยาว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เวลาเราทำงานเราจะต่อน้อย งานจะแข็งแรง เราจะทำสะดวกขึ้น”

“งานสานเราจำเป็นจะต้องใช้ผักตบที่มีความเหนียว นุ่ม ไม่แข็งจนเกินไป ถ้าแข็งมาก งานที่ออกมาจะไม่สวย ไม่ทน กรอบ เปราะ และบาดมือคนทำด้วย” อิสรัตน์เล่า

งานสานที่มีมากกว่าความสวย

จุดเด่นอย่างหนึ่งของ CHOM Hand Craft ในมือของทายาทรุ่นที่สองอย่างอิสรัตน์ คือผลงานที่มีรูปร่างแปลกตา และสีสันที่จัดจ้าน ซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจจากสิ่งเล็กๆ รอบตัว อย่างแมลงที่มีสีสันสวยงาม หรือผลงานศิลปะที่อิสรัตน์มักจะศึกษาเป็นข้อมูล กลายเป็นการทดลองนำสิ่งใหม่ๆ มาประยุกต์เข้ากับรูปแบบดั้งเดิม

“ลักษณะมันจะเป็นลายเดิมที่เพิ่มลายใหม่ เช่น ตัวงานบางอย่างมันเป็นลายพื้นฐานดั้งเดิมของมันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราใส่สีบางอย่างเพื่อให้มันเกิดความซับซ้อนยิ่งขึ้น การใช้สีคู่ตรงข้าม การใช้สีในโทนเดียวกัน ถ้าเป็นงานผักตบชวา การจับคู่สีบางอย่างจะยังไม่ค่อยมี แต่ว่าแบรนด์เราจะค่อนข้างชัดกว่าเจ้าอื่น” อิสรัตน์กล่าว

นอกจากสีสันและรูปทรงที่แปลกตาแล้ว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของสินค้าของ CHOM Hand Craft คือประโยชน์ใช้สอยที่มากกว่า 1 อย่างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าขายดีตลอดกาลอย่างหมอนกลม ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งของแต่งบ้าน เป็นหมอนที่ใช้สำหรับรดน้ำในงานมงคลสมรส และเป็นเบาะรองนั่งได้ด้วย เช่นเดียวกับกระเป๋าสามเหลี่ยมสีสันสดใส ที่นอกจากจะทำหน้าที่เป็นกระเป๋าถือแล้ว ยังสามารถแปลงร่างเป็นแจกันแขวนได้ด้วย

“โคมไฟอันนี้ค่ะ โคมไฟน้ำเต้า ก็คิดมาจากอยากให้มันทำงานได้มากกว่า 1 อย่าง คืออยากให้มันเป็นโคมไฟ ถ้าไม่เป็นโคมไฟก็อาจจะแกะขาไปแขวนหรือเอาไปใส่เป็นแจกันดอกไม้หรืออะไรก็ได้ อยากให้คนใช้งานได้สนุกกับมันเหมือนกัน” อิสรัตน์ชี้ไปที่โคมไฟขนาดใหญ่ที่มุมห้อง

นอกจากนี้ จุดแข็งอีกหนึ่งอย่างของ CHOM Hand Craft คืองานสั่งทำตามออร์เดอร์ ที่ผลิตตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคนโดยเฉพาะ

“ลูกค้าบางคนเขาไปตามร้านแล้วเขารู้สึกว่า ซื้อของอันนี้ มันเล็กไป มันใหญ่ไป กระเป๋าอันนี้สายมันน่าจะแบน หรือสายมันน่าจะสั้นกว่านี้ น่าจะยาวกว่านี้ เราแก้ปัญหาตรงนี้ให้เขาได้ สมมติว่าคุณซื้อบ้านใหม่ แล้วอยากได้กล่อง 12 นิ้ว คูณ 12 นิ้วครึ่ง เพื่อจะยัดเข้าไปในซอกตู้เสื้อผ้าเพื่อจะเก็บของ ไปซื้อมาแล้ว มันขนาดอีกนิดเดียว มันใส่ไม่ได้ คุณจะนึกถึงเรา เราทำให้ได้”

แม้ว่าแรงงานฝ่ายผลิตจะมีจำนวนน้อย ทำให้ไม่สามารถรับออร์เดอร์ครั้งละมากๆ ได้ แต่การได้พูดคุยอย่างละเอียดกับลูกค้าเป็นรายบุคคล ก็ช่วยให้อิสรัตน์สามารถเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

“คนที่ซื้อจากเรา เราก็จะมาให้ซ่อมฟรี 1 ครั้ง เพราะว่าเราอยากเห็นสภาพหลังใช้งานว่าลูกค้าเราซื้อไป เอาไปใช้งานอะไรบ้าง เพื่อทำให้งานที่จะออกมาใหม่มันดีขึ้น” อิสรัตน์เล่าเสริม

ปัจจุบัน CHOM Hand Craft ขายสินค้าออนไลน์เป็นหลัก ที่ Facebook Fanpage CHOM Hand Craft และวางขายเป็นป็อปอัพสตูดิโอ ที่ When Life Gives You Lemons ซอยจรัญสนิทวงศ์ 91 รวมทั้งวางขายในโซน ICONCRAFT ที่ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี และไอคอนสยาม และยังมีผลงานซิกเนเจอร์ที่ทำร่วมกับ The Continuum ด้วย

แบรนด์เติบโต คนเติบโต

เมื่อถามถึงผลตอบแทนในเชิงรายได้ อิสรัตน์ยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่เริ่มปั้นแบรนด์มา เพิ่งจะมีผลตอบแทนในช่วง 2 – 3 ปีหลังนี้เอง ซึ่งรายได้ต่อเดือนก็ไม่ต่างจากพนักงานประจำมากนัก แต่สิ่งที่แตกต่างคือ การมีเวลาว่างเป็นของตัวเอง ประกอบกับรายละเอียดในการทำงานที่ซับซ้อน และมีอุปสรรคที่ท้าทายเธอตลอดเวลา ทำให้คนขี้เบื่ออย่างอิสรัตน์อยู่กับงานนี้ได้นานกว่าที่คิด

“มันทำให้ชีวิตเรามีรายละเอียดมากขึ้น ทุกวันนี้เราทำลายสานได้ไม่กี่ลายเองนะ แต่ว่าสิ่งที่เราได้คือว่า ลายที่ทำได้ไม่กี่ลายนั้นน่ะ กลับมาทำแล้วยังเหมือนเดิมไหม ยังจำได้หรือเปล่าว่าแม่สอนว่าอะไร ต่ออย่างนี้ได้ไหม มันก็เป็นความสนุกเหมือนกัน ที่บางครั้งเราได้ดื้อกับสิ่งที่เรารู้บ้าง แล้วก็ได้ลองกับสิ่งที่เราไม่รู้บ้างในอาชีพนี้ มันก็เลยยังอยู่ต่อได้”

“สิ่งที่เราทำอันนี้ เรารู้สึกว่าเราและมันอยู่ด้วยกันและตายไปด้วยกันได้ คือเราเห็นภาพตัวเองว่า เราตอนนี้อายุ 27 เราจะเป็นคนอายุ 37 ที่เก่งกว่านี้มาก และเราเห็นภาพนั้น เรายังอยากเป็นแบบนั้น มันก็เลยเหมือนตัวรายได้มันอยู่ได้ แต่ว่าภารกิจของเราคือทำไปจนแก่ เพื่อจะได้เห็นภาพตัวเองตอนนั้นให้ได้” อิสรัตน์ทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 51 ภาพ

อัลบั้มภาพ 51 ภาพ ของ CHOM Hand Craft จากผักตบชวาสู่งานสานสุดเท่ในมือทายาทรุ่นสอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook