คนญี่ปุ่นมีทริคเตรียมอาหารเทศกาลปีใหม่อย่างไรให้ประหยัดงบ

คนญี่ปุ่นมีทริคเตรียมอาหารเทศกาลปีใหม่อย่างไรให้ประหยัดงบ

คนญี่ปุ่นมีทริคเตรียมอาหารเทศกาลปีใหม่อย่างไรให้ประหยัดงบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อีกเพียง 1 เดือนก็จะเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีกันแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อถึงเดือนธันวาทุกคนก็มักจะนึกถึงช่วงวันปีใหม่กันอย่างแน่นอน และธรรมเนียมช่วงวันปีใหม่ของคนญี่ปุ่นที่ขาดไม่ได้เลยคือการทานอาหารในเทศกาลปีใหม่ หรือที่เรียกว่า “おせち料理 (โอเซจิเรียวริ)” ถึงแม้ว่าในสมัยนี้จะสามารถหาซื้อมาทานได้ แต่ก็ยังมีบางบ้านที่ยังเตรียมทำโอเซจิเรียวริเองอยู่ด้วย การทำอาหารในเทศกาลเช่นนี้ถือเป็นการเตรียมการใหญ่แห่งปีอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ และแน่นอนว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่สูงพอสมควรทีเดียว แล้วคนญี่ปุ่นเขามีแบบแผนในการประหยัดงบช่วงปีใหม่สำหรับการเตรียมอาหารมือสำคัญแห่งปีกันอย่างไรบ้าง

โอเซจิเรียวริคืออะไร

“โอเซจิเรียวริ” คืออาหารที่นิยมทานกันช่วงวันที่ 1-3 มกราคมของทุกปี ถือเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานหลายต่อหลายยุคแล้ว ซึ่งจะมีการกำหนดเมนูและประเภทวัตถุดิบที่จำเป็นเอาไว้หลายชนิด และยังเชื่อว่าเป็นอาหารมงคลเมื่อทานแล้วจะนำโชคดีมาให้

4 ทริคที่คนญี่ปุ่นใช้เตรียมโอเซจิเรียวริให้ประหยัดงบ

โอเซจิเรียวริเป็นอาหารช่วงเทศกาลปีใหม่ที่หลายบ้านรับประทานเพื่อความเป็นศิริมงคล แน่นอนว่าเมื่อเป็นที่ต้องการของคนมากมาย จึงไม่แปลกที่ราคาโอเซจิเรียวริสำเร็จรูปขายตามซูเปอร์มาเก็ตและราคาวัตถุดิบจะพุ่งกระฉูด! คนญี่ปุ่นจึงใช้ 4 ทริคง่ายๆ นี้เพื่อประหยัดงบช่วงปีใหม่กันค่ะ

1.อาหารในเทศกาลปีใหม่ต้องเตรียมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน!

เมื่อฤดูใบไม้ผลิมาถึงห้างสรรพสินค้ามากมายหลายแห่งก็เริ่มเปิดให้จองโอเซจิกันเลย ปัจจุบันมีโอเซจิสำเร็จรูปจำหน่ายอย่างแพร่หลายและมีให้เลือกซื้อสารพัดแบบ ทำให้ไม่ต้องยุ่งยากในการเตรียมวัตถุดิบเอง การจองชุดโอเซจิจึงเป็นอีกทางเลือกที่สะดวกมากสำหรับคนรุ่นใหม่ ทำให้โอเซจิที่จำหน่ายตามห้างหรือร้านค้าต่างๆ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น การรีบหาจับจองก็จำเป็นต้องไวขึ้นเช่นกัน

แต่สำหรับบ้านไหนที่ตัดสินใจเตรียมวัตถุดิบเองสิ่งแรกที่ต้องซื้อให้ไวที่สุดคือผักประเภทรากค่ะ! เพราะผักประเภทนี้เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปีจะมีราคาสูง คนญี่ปุ่นจึงนิยมหาซื้อกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดยจะหาซื้อตุนเอาไว้ช่วงไม่เกินต้นเดือนธันวาคม บางแห่งจะมีลดราคาด้วย

เทคนิคการเก็บรักษาให้สามารถเก็บเอาไว้ได้นานๆ คือนำไปตากให้แห้ง, ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์, เก็บเอาไว้ในที่ที่มีความเย็นและไม่โดนแสงแดด หากเป็นรากโกโบให้ห่อกระดาษหนังสือพิมพ์ทั้งๆ ที่ยังมีขี้ดินติดอยู่แบบนั้นได้เลย แล้วนำไปเก็บในที่ที่เย็นและไม่โดนแสงแดด แต่ถ้าเป็นแครอทให้นำไปล้างให้สะอาด, ใส่ถุงพลาสติกแบบซิปล็อคโดยรีดอากาศออกให้หมด, ปิดปากถุงให้แน่นสนิทแล้วนำเก็บเอาไว้ในตู้เย็น

2. เดือนธันวาคมต้องซื้อเนื้อสัตว์และอาหารทะเลมาตุนไว้ในช่องแช่แข็ง

เพราะช่วงสิ้นปีและปีใหม่อาหารและวัตถุดิบต่างๆ จะมีราคาขึ้นสูงมาก ถ้าซื้อช่วงนั้นได้โอดโอยเรื่องราคากันเป็นแถว ทางเดียวที่จะประหยัดได้คือซื้อในเดือนธันวาคมก่อนสิ้นปีแล้วนำไปแช่แข็งเก็บเอาไว้ดีที่สุด

3. อาหารแปรรูปควรซื้อก่อนวันคริสต์มาส

หากต้องการซื้อสินค้าในราคาถูกหรือช่วงลดราคาต้องเล็งเอาไว้ตั้งแต่ก่อนคริสต์มาสกันเลย เพราะเมื่อหมดวันคริสต์มาสตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์แต่ละที่จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นการวางจำหน่ายสินค้าสำหรับช่วงปีใหม่ในทันที ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาขึ้นแล้วนั่นเอง โดยอาหารแปรรูปต่างๆ สามารถนำใส่ถุงเก็บเอาไว้ในช่องแช่แข็งได้โดยที่ไม่ทำให้อาหารเสียรสชาติด้วยค่ะ

4. ผักสดต่างๆ ควรซื้อก่อนก่อนวันคริสต์มาสเช่นกัน

ผักสดและผักใบเขียวต่างๆ รวมถึงมะเขือเทศ แตงกวา และอื่นๆ ที่ปกติไม่ใช่ผักในฤดูกาลก็จะมีราคาแพงกว่าผักทั่วไปอยู่แล้ว แต่ยิ่งแพงมากขึ้นอีกเมื่อไปซื้อหลังวันคริสต์มาส ยิ่งคนไทยที่ชินกับผักชีถูกๆ ตามตลาดบ้านเรา ถ้าไปญี่ปุ่นช่วงปลายปีคงตกใจแน่ๆ เพราะกลุ่มผักชีนั้นราคาขึ้นสูงจนงงเลยล่ะค่ะ การซื้อผักตุนไว้ควรซื้อเท่าที่จำเป็นเท่านั้นด้วย เพราะเป็นของที่ไม่สามารถเก็บเอาไว้ได้นาน หากซื้อเยอะเกินไปจะกลายเป็นเสียของแล้วสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุแทน สามารถนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ และแช่เย็นเก็บไว้ได้

วัตถุดิบที่จำเป็นต้องเตรียมให้ได้ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม

ผัก

กลุ่มผักประเภทราก (ก่อนวันปรุงอาหาร 1 สัปดาห์)
เห็ดหอม, ส้มยูสุ (ก่อนวันปรุงอาหาร 1 สัปดาห์)
ผักใบ (ก่อนวันปรุงอาหาร 3 วัน)

เนื้อสัตว์

ประเภทเนื้อ (ก่อนวันปรุงอาหาร 1 – 2 สัปดาห์ขึ้นไป)
ประเภทปลา (ก่อนปรุงอาหาร 1 – 2 วัน)

อาหารแปรรูป (ก่อนปรุงอาหาร 1 วัน)
ผลิตภัณฑ์ห่อสาหร่าย, Tsukudani (อาหารตุ๋นรสหวานชนิดหนึ่ง) (ก่อนวันปรุงอาหาร 1 สัปดาห์)
กลุ่มอาหารแปรรูปต่างๆ ที่จะนำมาทานเป็นอาหารเทศกาลปีใหม่มักจะสั่งออนไลน์ล่วงหน้าให้มาส่งในช่วงวันส่งท้ายปีเก่า

โอเซจิเรียวริที่ขาดไม่ได้สำหรับมื้ออาหารวันสิ้นปีและในวันปีใหม่

1.โซบะ

เส้นโซบะที่มีลักษณะหั่นได้ง่ายกว่าเส้นรูปแบบอื่นสื่อได้ถึงการตัดเคราะห์หมดโศกต่างๆ ลักษณะเส้นเล็กบางและยาวสื่อถึงการต่ออายุให้ยืนนานมากยิ่งขึ้น ซึ่งธรรมเนียมการทานโซบะวันสิ้นปีนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยเอโดะแล้วด้วย (ค.ศ. 1603 – 1868)

2. โมจิ

หนึ่งในอาหารสำหรับวันปีใหม่จะมีเมนูที่เรียกว่า “โอโซนิ” ซึ่งเป็นอาหารประเภทต้ม จะมีการใส่ผัก, เนื้อสัตว์ และโมจิลงไป ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาในหลายๆ พื้นที่ที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันค่ะ

3. ถั่วแดง

คนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าอาหารที่มีสีแดงจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายได้ ดังนั้นประเพณีการทานข้าวต้มใส่ถั่วแดงมีความหมายเพื่อไม่ให้พบกับอาการเจ็บป่วยตลอดทั้งปีนั่นเอง

4. คามาโบโกะสีแดงขาว

ลูกชิ้นปลาชนิดหนึ่งที่เรามักเห็นประดับอยู่บนชามราเม็ง คนญี่ปุ่นเชื่อว่าสีแดงและสีขาวของลูกชิ้นชนิดนี้เมื่ออยู่ด้วยกันแล้วคล้ายกับรูปลักษณ์ของพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งเป็นสิ่งแรกที่น่ายินดีสำหรับเช้าของวันปีใหม่ค่ะ

5. เกาลัดหวาน

เชื่อกันว่าสีเหลืองของเกาลัดนี้เปรียบเหมือนกับสีเหลืองทองของทองคำ จึงมีความหมายว่าได้รับโชคลาภด้านธุรกิจและการเงินที่เจริญรุ่งเรือง

6. ถั่วดำ

หมายถึงการขอให้มีอายุยืนนานปราศจากไข้หวัดและโรคภัย ให้ร่างกายแข็งแรงและอึดทนเหมือนดั่งเปลือกเกาลัดที่ถูกไฟลนจนกลายเป็นสีดำนั่นเอง

7. โคะบุ หรือ คมบุ

คมบุหรือสาหร่ายทะเลชนิดหนึ่งที่คนญี่ปุ่นนำมาเล่นคำกับคำว่า “喜ぶ (yorokobu)” ที่แปลว่า ความยินดี และ “養老昆布 (yorokonbu) เป็นต้น ซึ่งทานเพื่อเป็นการขอพรให้มีอายุยืนยาวโดยไม่แก่ค่ะ

ทริคสำคัญของคนญี่ปุ่นเลยก็คือการรีบซื้อเตรียมเอาไว้ให้ครบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงภายในกลางเดือนธันวาคม และห่อหรือใส่ถุงซีนเก็บเอาไว้ในตู้แช่ เป็นอีกวิธีที่ประหยัดได้มากกว่าที่คิด เนื่องจากวัตถุดิบและเครื่องปรุงหลายอย่างที่เคยราคาถูกก็จะถูกปรับราคาให้สูงขึ้นในช่วงสิ้นปีจนถึงปีใหม่ คนญี่ปุ่นเองจึงจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคการอยู่รอดแบบประหยัดและคุ้มค่าให้ได้มากที่สุด

สรุปเนื้อหาจาก katazukeshuno, shokudepo

 

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ คนญี่ปุ่นมีทริคเตรียมอาหารเทศกาลปีใหม่อย่างไรให้ประหยัดงบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook