ดอกขจร
ขจร ชื่อวิทยาศาสตร์ Telosma minor Craib จัดอยู่ในวงศ์ ASCLEPIADACEAE
ผักขจร ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีก เช่น สลิด ขจร (ภาคกลาง), ผักสลิด(นครราชสีมา), กะจอน, ขะจอน, สลิดป่า, ผักสลิดคาเลา, ผักขิก เป็นต้น
ต้นขจร หรือ ต้นสลิด มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนและอินเดีย โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันกับต้นไม้ชนิดอื่น สามารถเลื้อยพันไปได้ไกลประมาณ 2-5 เมตร เถามีขนาดเล็กลักษณะกลมเหนียวมากและเป็นสีเขียว เมื่อแก่เถาขจรจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ตามยอดอ่อนมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม แตกใบเป็นพุ่มแน่นและทึบ ทำให้บางครั้งพุ่มของของต้นขจรจะแผ่ปกคลุมต้นไม้อื่นได้มิดเลยทีเดียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำและวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบแสงแดดจัด สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจะขึ้นได้ตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง
ดอกขจร หรือ ดอกสลิด ออก ดอกเป็นช่อแบบกระจุกตามหรือออกเป็นพวงๆ คล้ายพวงอุบะตามซอกใบหรือโคนก้านใบ โดยในช่อดอกหนึ่งๆ จะมีดอกย่อยอยู่ประมาณ 10-20 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะแข็งเป็นสีเขียวอมสีเหลือง ดอกมีกลิ่นหอม (หอมแรงกว่าดอกชำมะนาดหรือกลิ่นของใบเตย โดยจะหอมมากในช่วงเย็นถึงกลางคืน) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 1.5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้นๆ กลีบดอกย่นและบิด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ติดอยู่บนหลอดกลีบดอก เชื่อมติดกันเองและเชื่อมติดกับยอดเกสรเพศเมีย แล้วจะเปลี่ยนรูปร่างไปเป็นชั้นกระบังรอบ ล้อมรอบก้านยอดเกสเพศเมียและเกสรเพศเมียเอาไว้ และมีชุดกลุ่มเรณูอยู่ 5 ชุด ซึ่งมีลักษณะการเกิดคล้ายกับในดอกรัก เกสร เพศเมียจะมีรังไข่ 2 อัน แต่มีก้านยอดเกสรเพศเมียและยอดเกสรเพศเมียร่วมกัน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว มี 5 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม บ้างว่าจะออกดอกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม
สรรพคุณ
- ช่วยบำรุงโลหิต (ดอก,ยอดใบอ่อน)
- ช่วยรักษาโลหิตเป็นพิษ (ราก)
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก,ยอดใบอ่อน)
- แก่นแลกเปลือกใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น,เปลือก)
- ดอกและยอดใบอ่อนมีวิตามินสูง การรับประทานเป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตาได้เป็นอย่างดี (ดอก,ยอดใบอ่อน)
- ช่วยรักษาหวัดที่เกิดจากการตากลมหรือตากอากาศเย็น (ดอก)
- ช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน (ดอก)
- รากมีรสเบื่อเย็น ใช้รับประทานเพื่อให้เกิดอาการอาเจียน ช่วยถอนพิษยาเยื่อเบา (ราก)
- รากนำมาฝนหยอดตาแก้ตาอักเสบ ตาแดง ตาแฉะ ตามัว (ราก)[1] บ้างว่านำมาใช้ผสมกับยาหยอดตา แล้วใช้หยอดตา (ราก)
- ช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะและโลหิต (ดอก)
- ดอกมีรสเย็นขมและหอม มีสรรพคุณช่วยบำรุงปอด (ดอก)
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ (ดอก)
- ช่วยในการขับถ่าย (ดอก)
- ช่วยบำรุงฮอร์โมนของสตรี (ดอก)
- ช่วยบำรุงตับและไต (ดอก,ยอดใบอ่อน)
- รากใช้เป็นยาดับพิษทั้งปวง (ราก)
- ช่วยทำให้รู้รสชาติของอาหาร และช่วยดับพิษยา (ราก)
- ดอกใช้เข้าเครื่องยาหอม
Written by Hephaestus Best
ข้อมูลและภาพจาก http://homedeedeeforyou.com