ดอกบัว พันธุ์ไม้คู่บ้านคู่เมืองของไทย
บัวเป็นพืชล้มลุก ลักษณะลำต้นมีทั้งที่เป็นเหง้า ไหล หรือหัว ใบเป็นใบเดี่ยวเจริญขึ้นจากลำต้น โดยมีก้านใบส่งขึ้นมาเจริญที่ใต้น้ำ ผิวน้ำ หรือเหนือน้ำ รูปร่างของใบส่วนใหญ่กลมมีหลายแบบ บางชนิดมีก้านใบบัว บัวเป็นราชินีแห่งไม้น้ำ จัดเป็นพันธุ์ไม้น้ำที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความดี บัวหลวงชอบขึ้นในน้ำจืด ออกดอกตลอดปี ชอบน้ำสะอาด อยู่ในน้ำลึกพอสมควร จะเริ่มบานตั้งแต่ตอนเช้า ก้านดอกยาวมีหนามเหมือนก้านใบ ชูดอกเหนือน้ำ และชูสูงกว่าใบเล็กน้อย กลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ สีขาวอมเขียว หรือเทาชมพู ร่วงง่าย กลีบดอกจำนวนมากเรียงซ้อนหลายชั้น เกสรตัวผู้มีจำนวนหลายสี
นักพฤกษศาสตร์ แบ่งบัวออกเป็น 3 สกุลใหญ่คือ
สกุลเนลุมโบ (Nelumbo) หรือ ปทุมชาติ
สกุลนิมเฟียร์ (Nymphaea) หรือ อุบลชาติ
สกุลวิคตอเรีย (Victoria) หรือ บัววิกตอเรีย
ในแต่ละสกุลสามาถจำแนกได้หลายชนิด สำหรับในประเทศไทยชนิดของบัวที่ปลูกเป็นการค้ามี 6 ชนิด
ปทุมชาติ หรือบัวหลวง บัวสกุลนี้คนไทยนิยมนำไปไหว้พระ และนำรากทำอาหาร (Lotus)
บัวหลวง อยู่ในสกุลปทุมชาติ ลักษณะใบชูเหนือน้ำ เจริญเติบโตโดยมี ไหลอยู่ใต้ดิน ชอนไชไปใต้พื้นดิน ใบมีขนาดใหญ่ ดอกมีทั้งดอกซ้อนและไม่ซ้อน ใบและดอกชูเหนือขึ้นน้ำ ในประเทศไทยมีอยู่ 4 พันธุ์ แต่พันธุ์ของบัวหลวงที่นิยมปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์ฉัตรขาว ฉัตรแก้ว และฉัตรแดง
บัวฝรั่ง (Hardy Water-Lilly)
บัวฝรั่ง อยู่ในสกุลอุบลชาติยืนต้น มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่น และเขตหนาว ลักษณะคล้ายบัวหลวง ต้นอ่อน เจริญเติบโตโดยสร้างลำต้น หรือเหง้า เจริญตามแนวนอนใต้ผิวดิน ลักษณะใบมีทั้งขอบเรียบ และขอบใบจัก ดอกลอยแตะผิวน้ำ หรือชูเหนือน้ำเล็กน้อย ดอกมีหลายสี กลีบดอกซ้อนสวยงาม มีชื่อเรียกต่างกันตามลักษณะสีและดอก สี ตามผู้พัฒนาพันธุ์ขึ้น
บัวผัน- ฉลองขวัญ มีกลิ่นหอม (Tropical Water-Lilly)
บัวผัน บัวเผื่อน อยู่ในสกุลอุบลชาติล้มลุก ต้นที่งอกจากเมล็ดจะเจริญตามแนวดิ่งขึ้นสู่ผิวดิน แล้วแตกก้านใบบนผิวดิน ดอกชูพ้นน้ำ บานในเวลาเช้าหรือกลางวัน และหุบตอนเย็น ดอกมีกลิ่นหอมมาก เป็นบัวชนิดที่ขยายพันธุ์ได้ช้า ผสมพันธุ์ข้ามระหว่างสีต่างๆ ได้ง่าย โดยแมลงในธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ บัวชนิดนี้จึงเกิดสีสันต่างๆ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ขยายพันธุ์ง่าย ดูแลง่าย หาซื้อได้ตามร้านขายทั่วไป กระถางละ 25 - 50 บาท
บัวสาย มีกลิ่นหอม บานกลางคืน
บัวสาย อยู่ในสกุลอุบลชาติ เป็นบัวที่ชาวบ้านนิยมเก็บสายบัวมาทำอาหาร บัวชนิดนี้มีก้านใบ และก้านดอกยาว สามารถขึ้นอยู่ในระดับน้ำลึกๆ ได้ พบได้ทั่วไปตามหนองบึง และแหล่งธรรมชาติตามชนบท มีหัวกลมๆ สายขนาดปลายนิ้วก้อย มีขนเล็กน้อย ใบมน ขอบใบจัก ดอกบานกลางคืน และหุบเวลาเช้า
บัวจงกลนี
บัวจงกลนี อยู่ในสกุลอุบลชาติ เป็นบัวที่พบใหม่ในธรรมชาติคาดว่าเกิดจากการแปลงพันธุ์ในธรรมชาติ ใบเหมือนบัวตระกูลบัวผัน บัวเผื่อน แต่ดอกซ้อนเหมือนบัวฝรั่ง มีเหง้าใต้ดินเจริญเติบโตในแนวดิ่ง ต้นอ่อนจะเกิดจากเหง้าใต้ดินเจริญเติบโตขึ้นมจากต้นแม่ ใบลอยอยู่แตะผิวน้ำ ดอกลอยแตะผิวน้ำเล็กน้อย
บัวกระด้ง อยู่ในสกุลวิกตอเรีย จัดเป็นบัวขนาดใหญ่ที่สุด มีลำต้นใต้ดินเป็นหัวใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยวมีขนาดใหญ่ประมาณ 6 ฟุต ลอยบนผิวน้ำ ใบ ก้านใบ ก้านดอก มีหนามแหลมอยู่ทั่ว มีดอกสีขาว และสีชมพู ดอกมีกลิ่นหอมแรง บานตอนกลางคืน และหุบในตอนเช้า เป็นบัวที่ต้องใช้พื้นที่ปลูกมาก และมีปัญหากอบัวหลุดลอยขึ้นสู่ผิวน้ำหากระดับน้ำท่ปลูกมีการเปลี่ยนขึ้น อย่างกระทันหัน
ในจำนวนบัวทั้ง 6 ชนิดนี้ บัวหลวงนับเป็นบัวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุด และเกษตรกรปลุกมากที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์ของการปลุก 2 ประการ คือ ปลูกเพื่อตัดดอกตูม ซึ่งนำไปใช้บูชาพระ และปลูกเพื่อเก็บเมล็ด ซึ่งสามารถใช้ประกอบอาหารทั้งคาวหวาน นอกจากนี้ส่วนอื่นของบัวหลวงก็สามารถจำหน่ายและใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ เช่น ใบแห้งใช้ทำยากันยุง มวนบุหรี่ ต้มเป็นยาไทยบำรุงหัวใจ แก้ไข และรักษาโรคตับ, ใบสด ใช้ห่ออาหาร และไหลหรือราก สามารถนำมาเชื่อมเป็นอาหารหวาน มีสรรพคุณแก้ร้อนใน และระงับอาการท้องร่วงได้อีกด้วย
อ้างอิงจาก wordpress
Written by Ami B.
ข้อมูลและภาพจาก http://homedeedeeforyou.com/