Rain is Perfect for Home Inspections
พอเข้าหน้าฝนทีไร ท่านเจ้าของบ้านทั้งใหม่และเก่าต่างก็กังวลกับปัญหา “การรั่วซึม”กันทั้งนั้น แต่ทราบหรือไม่ว่า น้ำฝน นี่แหละที่จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที เพราะทำให้รู้จุดที่มีปัญหาได้อย่างชัดเจน และต่อไปนี้คือ Tips & Tricks ที่จะช่วยให้คุณเช็คสุขภาพบ้านได้ด้วยตนเอง พร้อมคำแนะนำเพื่อรับมือปัญหาการรั่วซึมที่มักพบกันบ่อยๆ
Q: วิธีสังเกต หรือ อาการที่บ่งชี้ว่า บ้านหรืออาคารกำลังมีปัญหาเรื่องการรั่วซึมจากน้ำฝนคืออะไร?
A: บ้านที่กำลังมีปัญหาการรั่วซึมสามารถสังเกตได้จากรอยแตกร้าวซึ่งเป็นช่องทางให้น้ำฝนรั่วซึมผ่านเข้าสู่ภายในบ้านได้ อีกประเด็นหนึ่ง
การรั่วซึมจากน้ำฝนอาจเกิดจากการติดตั้งวัสดุก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของการติดตั้งวัสดุนั้น เช่น การมุงหลังคาที่มีความลาดเอียง
ต่ำกว่า 15 องศา ด้วยกระเบื้องลอนคู่โดยไม่ได้ติดตั้งแผ่นรองใต้หลังคา (Roof Sarking) กันรั่วซึม เป็นต้น
Q: Tips ในการป้องกันปัญหาความชื้นในฤดูฝนสำหรับบ้านใหม่และบ้านเก่าที่มีพื้นชั้นล่างเทพื้นคอนกรีตวางบนดิน
A: สำหรับบ้านสร้างใหม่ควรออกแบบโดยยกพื้นบ้านชั้นล่างให้สูงจากระดับพื้นดินอย่างน้อย 60 เซนติเมตร
และให้นำผ้าพลาสติกปูคลุมดินที่อยู่ใต้บ้านก่อนที่จะทำการวางแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปลงบนคาน สำหรับบ้านเก่า สาเหตุของความชื้นเกิดมาจากน้ำในดินใต้พื้นบ้านมีปริมาณมาก ดังนั้นการควบคุมระดับน้ำในดินจึงช่วยลดความชื้นได้ วิธีหนึ่งคือการวางท่อระบายน้ำที่มีรูพรุนช่วงครึ่งบนของท่อ
โดยรอบตัวบ้านที่ความลึกประมาณ 1 เมตร (Sub-drain) เพื่อควบคุมระดับน้ำในดินไม่ให้สูงจนใกล้กับพื้นบ้าน นอกจากนี้ ความชื้นจากพื้นดินรอบตัวบ้านยังทำให้ชั้นสีช่วงล่างของผนังบ้านภายนอกบวมพองลอกล่อน จึงควรเปลี่ยนพื้นดินรอบตัวบ้านเป็นพื้นทางเดินคอนกรีตกว้างประมาณ 60 เซนติเมตร ปรับให้ลาดเอียงระบายน้ำออกนอกตัวบ้าน
Q: วิธีและเคล็ดลับในการ Inspect จุดที่เสี่ยงต่อการรั่วซึมต่างๆ ในบ้าน
A: ฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์) เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการซ่อมแซมการรั่วซึม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่หลังคาหรือผนังบ้านควรเริ่มต้นจากการเดินสำรวจรอบตัวบ้าน ตรวจดูรอยแตกร้าวรั่วซึมที่ผนังและหลังคา คราบน้ำที่ฝ้าเพดานคราบน้ำที่ผนัง แล้วจดบันทึกเอาไว้เริ่มซ่อมแซมรอยแตกร้าวจากภายนอกบ้านก่อน เพราะเป็นต้นเหตุของการรั่วซึม ต่อมาทดสอบการรั่วซึมด้วยการฉีดน้ำบริเวณจุดที่ได้ทำการซ่อมแซมไปแล้ว ถ้าไม่พบการรั่วซึมอีกจึงเข้ามาทำการซ่อมแซมภายในบ้านต่อ ท้ายสุดทำการตกแต่งพื้นผิวให้กลับมาดังเดิม
Q: กรณีที่หลังคาเป็นกระเบื้องซีเมนต์และหารอยรั่วไม่เจอ จะมีเทคนิคในการแก้ไขอย่างไร
A: วิธีตรวจสอบการรั่วซึมที่กระเบื้องมุงหลังคาแบบง่ายๆ ทำได้ด้วยการฉีดน้ำเป็นละอองในลักษณะวิถีโค้งขึ้นไปบนผืนหลังคาที่บริเวณ
ที่คาดว่ามีการรั่วซึม จุดที่มีการรั่วซึมจะสังเกตเห็นคราบน้ำหรือแนวการไหลของหยดน้ำได้อย่างชัดเจน จากนั้นจึงพิจารณาซ่อมแซม
โดยแก้ไขตามอาการต้นเหตุของการรั่วซึมต่อไป
Q: Tips ในการซ่อมแซมหากผนังบ้านมีรอยรั่วซึม สีหลุดล่อนออก
A: วิธีการซ่อมแซมขึ้นอยู่กับขนาดความกว้างของรอยแตกหากมีความกว้างน้อยกว่า 1.5 มิลลิเมตร ให้ใช้วัสดุอุดยาแนวประเภทอะคริลิก
สำหรับรอยแตกร้าวที่มีความกว้างตั้งแต่ 1.5 มิลลิเมตรขึ้นไป ควรขยายรอยแตกให้เป็นร่องกว้างและลึกขึ้นแต่ไม่เกิน 10 มิลลิเมตร
จากนั้นใช้วัสดุอุดรอยต่อประเภทโพลียูรีเทนอุดตามร่องฉาบวัสดุอุดยาแนวประเภทอะคริลิกแล้วทาทับด้วยสีทาผนังที่มีความยืดหยุ่นสูง
สำหรับรอยแตกร้าวที่มีความกว้างมากกว่า 10 มิลลิเมตรและค่อนข้างลึก ควรเลือกใช้โฟมสเปรย์ชนิดโพลียูรีเทนฉีดอุดตามรอยแตกร้าวแทน
Credit : SCG@HOME ฉบับ กค.-กย.56