เลือกบ้านมือสอง ได้ของดี ราคาโดน
"บ้านมือสอง" เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตนเอง โดยเฉพาะคนที่มีงบประมาณจำกัด แต่ต้องการอยู่ในทำเลที่ดี บ้านมือสองมีราคาถูกกว่าบ้านใหม่อย่างแน่นอน แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าบ้านมือสอง ก่อนตัดสินใจซื้อควรพิจารณาให้รอบคอบ โดยทั่วไปผู้ซื้อมักมองหาบ้านมือสองจากแหล่งต่างๆ ทั้ง 4 แหล่งต่อไปนี้
1.ซื้อบ้านจากเจ้าของบ้านโดยตรง
ข้อเด่น -เจรจาต่อรองการซื้อขายกันได้ง่าย
-ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่า เจ้าของบ้านเต็มใจขาย โดยทีไม่ต้องมีการขับไล่โดยอาศัยอำนาจศาล
ข้อควรพิจารณา -ผู้ซื้อและผู้ขายต้องทำนิติกรรมสัญญาด้วยตนเอง ซึ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง และรอบคอบมากขึ้น แต่หากใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือก็จะทำให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น
2.ซื้อผ่านนายหน้า
ข้อเด่น-มีบ้านให้เลือกจำนวนมาก หลากหลายแบบ โดยจัดสรรประเภท ทำเล และราคาไว้อย่างชัดเจน จึงง่ายต่อผู้ซื้อ
-บ้านที่อยู่ในรายการของนายหน้า มักเป็นบ้านที่ผ่านการคัดสรรแล้วว่าใช้ได้
-เมื่อต้องทำนิติกรรมสัญญา นายหน้าจะเป็นผู้ดำเนินการเองทุกอย่าง ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนจบขั้นตอนการซื้อขาย
ข้อควรพิจารณา-การซื้อขายบ้านผ่านนายหน้า ต้องมีค่านายหน้า ดังนั้นก่อนทำสัญญาซื้อขายต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าบุคคลผู้นั้นเป็น "นายหน้า" ตัวจริงหรือไม่
3.สินทรัพย์รอการขายจากธนาคาร
ข้อเด่น-มีบ้านให้เลือกเป็นจำนวนมาก และราคายังต่ำกว่าราคาตลาด
-เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่รอการขายจากธนาคาร ทำให้การขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านนั้นทำให้ง่าย สะดวก และอาจได้ดอกเบี้ยต่ำกว่า
ข้อควรพิจารณา-บ้านมือสองบางหลังที่อยู่ในอำนาจการถือครองของสถาบันการเงินอาจจะทรุดโทรมกว่าบ้านจากแหล่งอื่น
- ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าบ้านหลังนั้นไม่มีใครอยู่จริงๆ ถ้าจะให้มั่นใจแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ควรตรวจสอบและเลือกดูบ้านที่ธนาคารมีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดเสียก่อน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาฟ้องร้องกัน
4.ประมูลจากกรมบังคับคดี
ข้อเด่น-บ้านจากแหล่งนี้มักมีราคาเป็นตัวจูงใจ เนื่องจากราคาเริ่มต้นประมูลอาจต่ำกว่าราคาตลาดถึงประมาณครึ่งหนึ่ง
ข้อควรพิจารณา-ก่อนจะร่วมประมูลบ้านควรเดินทางไปดูบ้านจริง และกำหนดราคาที่ผู้ซื้อพร้อมจะสู้ไว้ล่วงหน้าก่อน
-ระมัดระวังเรื่องการฟ้องขับไล่ผู้ที่อาศัยอยู่เดิม เพราะแม้จะใช้อำนาจศาลได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการในขั้นตอนเหล่านี้นานแค่ไหน
-อย่ามองข้ามเรื่องการฟ้องร้องคัดค้านราคา เพราะตามกฎหมายจะให้สิทธิลูกหนี้คัดค้านราคาได้ครึ่งหนึ่ง
-และหากเป็นการประมูลของเอกชน ก่อนเข้าร่วมประมูลต้องตรวจสอบก่อนว่า ผู้ประมูลเป็นเจ้าของทรัพย์ หรือมีสิทธิ์ขายทรัพย์นั้นหรือไม่
ภาพจาก:http://www.istockphoto.com/