Pana Objects "งานไม้อารมณ์ดี"

Pana Objects "งานไม้อารมณ์ดี"

Pana Objects "งานไม้อารมณ์ดี"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดีไซเนอร์กลุ่มนี้ได้ชื่อว่าเป็นนักออกแบบที่หลงเสน่ห์งานไม้เข้าอย่างจัง ชนิดที่เรียกว่ารักวัสดุไม้แบบเข้าเส้น ด้วยระยะเวลาเพียง 3 ปี พวกเขาก็สามารถสร้างแบรนด์ Pana Objects ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อย่างโดดเด่น จากสไตล์ที่ชัดเจนนี่เองผู้คนจึงจดจำลักษณะและรูปแบบของชิ้นงานได้ ส่วนเหตุผลอื่นๆ นอกเหนือจากนี้เราคงต้องยกเครดิตความเก่งกาจให้กับนักออกแบบที่มีไอเดียเจ๋งๆ พร้อมกับแฝงลูกเล่นสนุกๆ ลงไปในชิ้นงาน

งานหลายๆ ชิ้นของ Pana Objects ถูกออกแบบขึ้นจากดีไซเนอร์ทั้ง 7 คน ประกอบด้วย คุณภัทรพงศ์ พรพนาพงศ์ คุณฐิติรัตน์ แซ่ลิ้ม คุณแววยศ สนธิไชย คุณศักระ อมรโสภิต คุณรัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ คุณณัฏฐ์ ถุงทรัพย์ และคุณภัทรวงศ์ วงศ์เมฆ พวกเขาเป็นเพื่อนที่ร่ำเรียนจากคณะสถาปัตยกรรม สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์มาด้วยกัน แต่หลังจากเรียนจบต่างคนต่างหาประสบการณ์การทำงานจากที่อื่น จนสุดท้ายก็กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง คุณภัทรพงศ์เล่าให้ฟังว่า “แบรนด์นี้เริ่มต้นจากตัวผมเอง คิดอยากจะชวนเพื่อนๆ มาทำโปรดักต์ด้วยกัน นอกจากเรียนจบโดยตรงแล้ว ยังเป็นงานที่พวกเราถนัดด้วย ส่วนคอนเซ็ปต์หลักๆ ที่วางกันไว้ก็คือ อยากให้เป็นไลฟ์สไตล์โปรดักต์ มีความเป็นเฟรนด์ลี่ ที่สำคัญต้องใช้งานง่าย”

เมื่อตัดสินใจสร้างงานร่วมกันพวกเขาจึงระดมสมอง แนวคิด ความรู้ และประสบการณ์มาแบ่งปันกันเพื่อหาจุดร่วมที่ลงตัว “เราแบ่งงานทั้งหมดออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ Living Item เป็นของที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น นาฬิกา โคมไฟ Stationary เป็นอุปกรณ์เครื่องเขียน และประเภทสุดท้ายก็คือ Gadget อุปกรณ์สำหรับใช้กับโทรศัพท์มือถือ ส่วนวัสดุที่นำมาประกอบในชิ้นงานเลือกเป็นไม้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ไม้เมเปิล ไม้บีช ไม้วอลนัต และไม้แอช”

การทำโปรดักต์ดีไซน์ของ Pana Objects ที่นับเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขามองเห็นความน่าสนใจของวัสดุในแต่ละประเภท เนื่องจากไม้มีโทนสี รวมถึงลวดลายที่แตกต่างกัน ดังนั้นการออกแบบงานในแต่ละชิ้น นอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามแล้ว ยังลงลึกในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อีกด้วย อย่างเช่น นาฬิกา “Wall Clock” เป็นนาฬิกาแขวนผนังที่ต้องการใช้เหลี่ยมมุมและแสงเงาเข้ามาเป็นตัวบอกเวลา ดังนั้นจะมีพื้นผิว 3 มิติเกิดขึ้นตรงหน้าปัดนาฬิกา เลือกใช้ไม้เมเปิลและไม้วอลนัต เนื่องจากมีลวดลายที่สวยงาม มีความแข็งแรง และให้สีที่แตกต่างกัน

“Frank Lamp” คืออีกหนึ่งงานดีไซน์ที่มีแนวคิดน่าสนใจ ได้แรงบันดาลใจมาจากลูกสุนัขที่วิ่งเล่นอยู่ในออฟฟิศ พวกเขารู้สึกว่าบรรยากาศมันดูสนุกมากขึ้น ลดความตึงเครียดภายในออฟฟิศลงได้ จึงออกแบบโคมไฟรูปสุนัขแบบถอดขา นอกจากจะปรับเปลี่ยนอารมณ์ของสุนัขได้หลายท่าทางทั้งก้ม นั่ง ยืนแล้ว ยังเปลี่ยนทิศทางของแสงได้ในตัว เลือกใช้ไม้บีช เนื่องจากลวดลายของไม้ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับขนสัตว์นั่นเอง

จากไม้บีชที่ใช้ทำโคมไฟ นักออกแบบยังใช้ไม้ชนิดนี้ดีไซน์เป็น  “MT Tape Holder” อีกด้วย เพราะสีสันของ MT Tape มีหลากหลายเหมือนรสชาติของขนม เมื่อนำมายัดไส้ก็จะกลายเป็นแครกเกอร์สอดไส้ดังนั้นงานชิ้นนี้จึงต้องการออกแบบให้เหมือนกับแครกเกอร์ของจริงมากที่สุด มีความโค้งและเว้าตรงกลางคล้ายๆ ขนมที่ผ่านการอบจนฟู ซึ่งไม้บีชก็สามารถตอบโจทย์เรื่องดีไซน์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากลวดลายของไม้ที่น้อยจึงดูเหมาะสมและให้ความรู้สึกเข้ากับตัวขนมเป็นอย่างมาก

ดังนั้นจะเห็นว่าไม้ในแต่ละชนิดนั้นถูกปรับใช้ไปตามชิ้นงาน รูปฟอร์ม พื้นผิว รวมถึงความรู้สึก ความน่าสนใจของผลงานยังอยู่ที่แนวความคิดบนพื้นฐานของดีไซน์และฟังก์ชันที่พวกเขาต้องนำมาใช้เป็นตัวแปรสำคัญเพื่อพัฒนาชิ้นงานอื่นๆ ต่อไป เรียกว่าจับเสน่ห์ของงานไม้ได้ถูกจังหวะและเข้าถึงอารมณ์ได้อย่างแยบยลทีเดียว

www.pana-objects.com
โทร. 08 8499 8090


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook