บันได 7 ขั้นในวันที่อยากต่อเติมบ้าน
ข้อควรรู้เป็นอันดับต้นๆ ก่อนคิดจะต่อเติมบ้าน
1.ความต้องการของตัวเอง
ขั้นตอนแรกสำหรับผู้ที่ต้องการขยับขยายพื้นที่ภายในบ้านคือต้องรู้ให้แน่ชัดว่าต้องการต่อเติมส่วนใด แต่ละครอบครัวก็จะมีความต้องการที่ต่างกันไป ส่วนใหญ่จะมีประเด็นหลักๆ ด้วยกันคือ เมื่อย้ายเข้าอยู่จะมีการทุบเพื่อสร้างพื้นที่จอดรถ ขยายหลังคาเทพื้นใหม่ ครั้งที่ 2 ที่จะต่อเติมคือเมื่ออยู่ไปสักระยะจะมีการต่อเติมพื้นที่ครัวออกไปด้านหลังหรือด้านข้างอาคาร และครั้งที่ 3 ที่จะมีการต่อเติมคือการขยับขยายครอบครัว อาทิบุตรหลานแต่งงาน หรืออายุเพิ่มขึ้นก็ย่อมที่จะสร้างห้องนอนที่ชั้นล่างเพื่อลดปัญหาการขึ้นลงบันได
2. งบประมาณ
เป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับงบประมาณในการต่อเติม บางท่านหากมีเงินสดอยู่ติดตัวอยู่แล้วก็ไม่ต้องขบคิดให้กลัดกลุ้ม แต่สำหรับบางท่านที่จำเป็นจะต้องเร่งรีบต่อเติมอย่างต้องเร่งขยับขยายเรือนหอให้กับบุตรหลาน การเลือกปรึกษาหาแหล่งเงินกู้ก็เป็นจำเป็นมาก ในปัจจุบันธนาคารเกือบทุกแห่งมีบริการสินเชื่อสำหรับซ่อมต่อเติมบ้าน แต่บ้านจะต้องไม่ติดจำนองกับธนาคาร การยื่นเรื่องขอสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมหรือต่อเติมบ้าน โดยใช้โฉนดที่ดินของบ้านเป็นหลักประกันได้ทันที โดยธนาคารจะพิจารณาวงเงินกู้ให้ตามงบประมาณที่จะใช้ต่อเติม ควบคู่ไปกับความสามารถในการผ่อนชำระ
ส่วนกรณีที่บ้านยังผ่อนอยู่กับธนาคาร สามารถติดต่อกับธนาคารเพื่อขอเงินกู้สำหรับซ่อมแซมต่อเติมบ้านได้ โดยที่ธนาคารจะพิจารณาวงเงินเพิ่มเติมให้จากวงเงินกู้เดิมที่ผ่อนชำระอยู่แล้ว หรือเป็นการให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล หรือบริการสินเชื่อเบิกเกินบัญชี แล้วแต่บริการที่ธนาคารนั้นๆ จะมีให้ การขอสินเชื่อสำหรับซ่อมแซมต่อเติมบ้านทั้ง 2 กรณีจะต้องมีแบบบ้านและงบประมาณที่จะใช้ในการต่อเติมมายื่นให้ธนาคารพิจารณาด้วย งบประมาณต่างๆ ที่จะต้องคำนึงถึงในการต่อเติมบ้านหลักๆ ได้แก่ ค่าวัสดุ ค่าสถาปนิกออกแบบ(ในกรณีจ้างสถาปนิก) ค่าแรงจ้างคนงานก่อสร้าง ค่าทำเนียมการขออนุญาตต่อเติม เป็นต้น
3. อย่าลืมกระซิบบอกเพื่อนบ้าน
เพราะคำว่าเพื่อนนั่นสำคัญเสมอ ต่อให้เป็นแค่เพื่อนบ้านที่เห็นหน้าค่าตาแต่ไม่รู้จักชื่อ ก็ยังสำคัญ เพราะหากมีโจรขโมยย่องเบาเข้าบ้านในวันที่เราไม่อยู่ เพื่อนบ้านนี่แหละค่ะจะเป็นหูเป็นตาแทนเราได้ ฉะนั้น การผูกสัมพันธ์กับบ้านซ้ายขวา หน้าหลัง จึงเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งแม้ว่าบางครั้งเราจะรู้สึกว่าเพื่อนบ้านแบบนี้ไม่น่าคบเลยก็ตาม และเมื่อคิดจะต่อเติมบ้าน การเจรจาบอกกล่าวเพื่อนบ้านให้รู้ถึงขอบเขตของการต่อเติม บอกให้ถึงการรบกวนที่จะเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง และอย่าลืมสร้างขอบเขตบริเวณบ้านไม่ให้เกิดการรบกวนจนเกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งจนเป็นเหตุให้หมางเมินต่อกัน
4. รับมือกับปัญหา
แน่นอนที่สุดว่าปัญหาพร้อมจะเกิดขึ้นทุกเมื่อ ปัญหาจากการต่อเติมบ้านที่จะก่อตัวขึ้นจนเป็นแรงกวนใจเพื่อนบ้าน รวมทั้งสมาชิกภายในบ้านเองก็มีมาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงดังรบกวนซึ่งเกิดจากการทุบ การเจาะ เรื่องของฝุ่นละอองและเศษขยะที่เกิดจากการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นอิฐ หิน ปูน ซึ่งบางท่านอาจจะเกิดอาการแพ้ฝุ่นปูนซีเมนต์ได้ อีกเรื่องสำคัญคือกำหนดของเขตในการวางอุปกรณ์ก่อสร้าง ซึ่งไม่ควรวางบนทางเท้าหน้าบ้านควรจัดพื้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่งในรั้วบ้าน ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกของเพื่อนบ้านลดปัญหาขุ่นข้องหมองใจ
5. เรื่องกฎหมาย
การพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อเติมอาคาร ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีข้อบังคับที่แตกต่างกันออกไปบ้าง ในเขตกรุงเทพฯ ท่านสามารถติดต่อสอบถามหรือขอคำปรึกษาได้ที่สำนักงานเขตที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดสามารถสอบถามได้ที่เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล แต่ต้องมั่นใจแล้วว่าแบบบ้านที่จะต่อเติมใหม่ไม่ติดขัดในข้อกฎหมายใดๆ และมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอ ซึ่งจะต้องทำการขออนุญาตก่อสร้างจากสำนักงานเขต หรือสำนักงานท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบที่บ้านตั้งอยู่ เมื่อได้รับอนุญาตก่อสร้างแล้วจึงจะสามารถลงมือแก้ไขต่อเติมบ้านได้
หากว่ากันไปตามกฎหมายที่เราควรรู้ในการขออนุญาตก่อสร้าง สรุปได้อย่างง่ายๆ ว่า การปลูกสร้างบ้านจะต้องมีพื้นที่ว่างที่ไม่มีหลังคาปลกคุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ที่ดิน ผนังบ้านจะต้องห่างจากรั้วโดยที่ผนังด้านที่มีช่องเปิดช่องแสง หน้าต่าง ประตู สำหรับบ้านสองชั้นจะต้องเว้นระยะห่างจากรั้วไม่น้อยกว่า 2 เมตร ถ้าเป็นผนังทึบและข้างบ้านไม่ยินยอมจะต้องเว้นห่างอย่างน้อย 0.50 เมตร หากจะขยายต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารอย่างส่วนของหลังคา ขยายพื้นที่ตั้งแต่ 5 ตารางเมตร หรือลดเพิ่มจำนวนเสาคาน บันได และผนัง จะต้องขอใบอนุญาตให้เรียบร้อย
สำหรับทาวน์โฮม กฎระเบียบเทศบัญญัติของรัฐ ได้กำหนดเรื่องการก่อสร้างจะต้องมีพื้นที่ว่างด้านหลังอาคาร 2 เมตร ด้านหน้า 3 เมตร ส่วนใหญ่มักจะต่อเติมด้านหน้าให้เป็นที่จอดรถ ส่วนด้านหลังแน่นอนว่าเป็นพื้นที่ครัว และส่วนใหญ่พื้นที่ครัวนี้แหละที่เป็นปัญหาทะเลาะกับเพื่อนบ้าน หากจะต่อเติมควรทิ้งระยะห่างจากรั้วบ้านด้วย ในส่วนหน้าบ้านก็เช่นเดียวกันหากต่อเติมหลังคาเป็นที่จอดรถก็ควรเว้นระยะห่างชายคาจากรั้วเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนไหลลงสู่บ้านข้างเคียง
หากเป็นหมู่บ้านจัดสรร ธรรมนูญข้อบังคับของหมู่บ้านและคอนโดมิเนียม กำหนดข้อบังคับต่างๆ คราวๆ ไว้ว่า ห้ามต่อเติมก่อสร้างในวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดของหลายๆ บ้านหากทำการก่อสร้างจะนำมาซึ่งการรบกวน กำหนดเวลาทำงานไว้ตั้งแต่ 8.00-17.00 น.เท่านั้นงด OT นอกเวลางาน พวกวัสดุก่อสร้างก็ห้ามทิ้งเกลื่อนบนทางเท้า โดยทั่วไปแต่ละโครงการก็จะบัญญัติไว้ใกล้เคียงกันมีต่างกันบ้างก็เล็กน้อย ก่อนจะต่อเติมจึงควรอ่านศึกษาและปฏิบัติตามนะคะ
6. ช่างรับเหมาที่น่าเชื่อถือ
การเลือกช่างก็สำคัญยิ่ง เพราะหากเราไม่ได้คุมงานก่อสร้างเองแล้ว การได้ช่างที่ดี ฝีมือดี และไว้ใจได้มาช่วยดูแล ก็จะทำให้บ้านส่วนที่ต่อเติมเสร็จทันไม่ติดค้างหรือแม้แต่งบประมาณที่จะไม่บานปลาย แต่หากเราไม่มีเวลามากที่เข้ามาดูแลเอง การจ้างสถาปนิกหรือผู้รับเขาเข้ามาดูแลการก่อสร้างก็เป็นทางเลือกที่ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ แต่งบประมาณของเราก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย หรือจะให้ผู้รับเหมาเข้ามาดูแลตั้งแต่ขั้นตอนแรกเลยก็เป็นการดี ที่สำคัญคือคนเหล่านี้จะรู้หลักรู้วิธีในการต่อเติมได้ดีกว่า ปัญหาบ้านทรุด บ้านร้าวจะไม่ตามมาอย่างแน่นอน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การสร้างความเข้าใจระหว่างสถาปนิก ผู้รับเหมา ช่าง เป็นเรื่องที่ไม่ควรบอกข้าม เราควรบอกความต้องการที่ชัดเจนให้ผู้ร่วมงานอื่นๆ เข้าใจและหมั่นตรวจงานอยู่เสมอเพราะหากมีการแก้ไขปรับปรุงเพราะเข้าใจไม่ตรงกันจะได้ปรับเปลี่ยนได้ทัน
7. น่าอยู่ด้วยการตกแต่ง
ว่าด้วยเรื่องของการตกแต่ง อันนี้ขึ้นอยู่กับรสนิยมความชอบของเจ้าของบ้านล้วนๆ ค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจ้างมัณฑนากรเข้ามาช่วยออกแบบตกแต่งพื้นที่ภายในตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นการดีมาก ทั้งสถาปนิกและมัณฑนากรทำงานร่วมกันตั้งแต่ขั้นแรก ปัญหาในเรื่องของความไม่ตัวของพื้นที่ การออกแบบฟังก์ชั่นภายในห้อง หรือแม้แต่การบิลต์อินเฟอร์นิเจอร์ก็จะไม่เกิดขึ้น หากมีปัญหาในเรื่องดังกล่าวจนต้องทุบรื้อแล้วงบประมาณในการต่อเติมบ้านครั้งนี้ก็จะเพิ่มพูนขึ้นด้วย
Written by Jomm Yupawadee
ข้อมูลและภาพจาก www.homedeedeeforyou.com