DIY รีโมทประตูรั้ว เมดอินไชน่า ติดตั้งเองกะมือ

DIY รีโมทประตูรั้ว เมดอินไชน่า ติดตั้งเองกะมือ

DIY รีโมทประตูรั้ว เมดอินไชน่า ติดตั้งเองกะมือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครั้งนี้แม่บ้านสนุกโฮมนำวิธีทำการ DIY ติดตั้งรีโมทประตูรั้ว อาจจะไม่เหมาะกับคุณแม่บ้านสักเท่าไร เพราะดูเป็นงานแมนแมน แต่ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งคุณแม่บ้านอาจจะมีเวลาฉุกเฉินได้ซ่อมหรือทำอะไรต่างๆ ในบ้าน ดังนั้นเราจึงเอาวิธีการ DIY ประตูรั้วเหล็กของคุณโซว จากเว็บไซต์พันทิป ที่อธิบายเรื่องการติดตั้งประตูรั้วอย่างละเอียดมาฝากทุกคนเพื่อเป็นคู่มือที่ดีสำหรับใครที่อยากทำตาม

เมื่อประมาณสองเดือนที่แล้ว ได้มาถามเพื่อนๆ เรื่องจะติดมอเตอร์กับประตูรั้วเอง มียี่ห้อไหนน่าสนใจราคาถูกๆ บ้าง ก็มีสมาชิกคุณ naytee กรุณาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจหลายอย่าง จนกระทั่งได้ไปสอยมาจากแถวเจริญนคร

โหงวเฮ้งพอใช้ได้ ขนาดกะทัดรัดและพละกำลังเหลือเฟือ

แผงวงจรภายในดูมีชิ้นส่วนน้อยกว่าหลายๆ รุ่นที่เคยเห็นในเน็ต ขอแค่ทำงานตามที่ต้องการได้ก็พอแล้ว ในชุดจะมีตัวเครื่อง รางเฟือง 4 เมตร (เส้นละเมตร) รีโมท 4 ตัว (ให้มากที่สุดเท่าที่เคยเห็นในเน็ต)
ทีแรกอยากได้รุ่นที่ใช้แผงวงจรมาตรฐานพวก G10 เวลาเจ๊งจะได้หาเปลี่ยนง่าย แต่คนขายเชียร์รุ่นนี้จัง เลยเอามา เพราะคนขายบอกว่าแผงวงจรของเขาแผงละ 2,500 บาท ฟังดูถูกกว่าแผง G10 ที่ใช้กันทั่วไปเสียอีก

หลังจากได้ของมาแล้วก็รีบกลับบ้านต่างจังหวัดทันที แต่กว่าจะได้ลงมือทำก็ผ่านไปเป็นเดือน เพราะเครื่องเชื่อมที่เคยซื้อไว้ พาหนีน้ำเมื่อปี 54 แล้วยังหาไม่เจอ

เมื่อของครบแล้วก็มาสำรวจสถานที่ติดตั้งกัน ประตูเลื่อนที่จะติดมอเตอร์ได้ดีควรจะต้องมีหางยื่นยาวออกไปซัก 50 เซ็นต์เพื่อจะได้วางมอเตอร์หลบหลังกำแพงได้ แต่ถ้าไม่มีหาง (แบบของผมและของคนส่วนใหญ่) ก็จะต้องติดมอเตอร์ไว้ตรงส่วนปลายสุดของประตูแทนแบบนี้

จะเห็นว่าตัวมอเตอร์โผล่มาบนพื้นที่สัญจรด้วย ถ้าประตูรั้วใครแคบทำแบบนี้อาจโดนรถเบียดได้ แต่รั้วของผม 6 เมตรครับ เลยไม่ต้องเปิดสุดก็ได้

จัดการวัดระยะต่างๆ ที่จำเป็น เช่นความสูงของขอบล่างรั้วกับพื้น พื้นที่ที่จะติดตั้ง ถ้าเป็นดินนิ่มต้องบดอัดให้ดีแล้วเทปูนให้แข็งแรงเพราะแรงที่กระทำกับพื้นเยอะพอดู

เอาแผ่นฐานที่แถมมาให้ มาวางทาบพื้น แล้วผสมปูนหล่อทำฐานให้ได้ความสูงตามต้องการและได้ระดับ ซึ่งจะต้องพอดีกับตำแหน่งที่รางเฟืองวางบนเฟืองขับของมอเตอร์ เมื่อปูนแห้งได้ที่แล้วเจาะรูเพื่อยึดพุกเหล็กกับพื้นตามตำแหน่ง

เมื่อยึดแผ่นฐานเรียบร้อยแน่นหนาดีแล้วให้เทปูนอีกชั้นให้มิดฐานเหล็ก ปาดปูนให้พอดีกับหน้าแปลนของด้านล่างมอเตอร์ ที่ต้องเทปุนให้เต้มเพื่อไม่ให้มีช่องว่างสำหรับหนู แมลงและสิ่งไม่พึงประสงค์เข้าไปใต้เครื่องทำความเสียหาย

ที่ตัวเครื่องรุ่นนี้ ตรงฐานมีรูเยอะเหมือนกัน ต้องอุดทุกรูยกเว้นรูที่จะเอาสายไฟลอดเข้าในเครื่อง ผมอุดด้วยกาวร้อนแบบใช้ปืนยิง สะดวกดี

รูลอดสายไฟที่ผู้ผลิตเจาะมาให้มีขนาดพอดีกับข้องอ 90 องศาขนาด 3/8 นิ้ว ช่วยได้มากเลย

จัดการเดินสายไฟร้อยท่อ อ้อ..ผมติดอินฟราเรดกันประตูหนีบไว้ด้วย เลยต้องเดินท่อฝังขนานกับแนวรั้วเพิ่มอีกเส้น อันนี้ถือว่าจำเป็นนะเพราะมอเตอร์มีพลังมาก แต่มันไม่รู้หรอกว่ามีอะไรขวางอยู่หรือเปล่า มันก็ผลักประตูไปตามแรงที่มี เคยได้ยินข่าวประตูหนีบซาเล้งตายไปเมื่อหลายปีก่อน เลยยอมจ่ายเพิ่มอีกพันนึง

เนื่องจากพื้นที่ติดตั้งค่อนข้างลอยๆ ต้องยึดอินฟราเรดกับท่อค้ำยันของรั้วซึ่งเป็นแป๊ปกลม เลยออกมาหน้าตาน่าเกลียดไปหน่อย 

ต่อกล่องกันน้ำสำหรับใส่เบรคเกอร์ด้วย

เนื่องจากประตูรั้วไกลจากบ้านเป็นร้อยเมตร แต่อยูใกล้กับมิเตอร์ไฟ จึงเลือกที่จะจั๊มพ์ไฟจากจุดหลังมิเตอร์

เมื่อยึดมอเตอร์กับฐานแน่นหนาในความสูงที่ถูกต้องแล้ว ต่อไปเป็นการเชื่อมรางเฟืองเข้ากับรั้ว 

 

แนะนำว่าควรมี c clamp ขนาดประมาณสี่นิ้ว หรือขนาดที่พอจะยึดรางกับประตูไว้ด้วยกันขณะเชื่อม

ฝีมือเชื่อมน่าจะสอบตก แต่แข็งแรงนะ การเชื่อมรางก็เอารางวางบนเฟืองของมอเตอร์ ให้ฟันขบกันพอดีแล้วก็เชื่อม พอจะขึ้นรางใหม่ เอารางอีกอันวางเฟืองหงายขึ้นให้ขบพอดีกับราง 1 และราง 2 เพื่อให้รอยต่อมีระยะห่างพอดี อย่าเชื่อมติดๆ กันไปโดยไม่จัดระยะให้ดี เพราะเฟืองมอเตอร์อาจต้องทำงานหนัก และมีอาการสะดุดเมื่อถึงรอยต่อนั้น

ในขั้นทดสอบให้ยึดก้อนแม่เหล็กไว้ใกล้ๆ มอเตอร์ และเลื่อนประตูมาตรงกลางๆ เผื่อผิดพลาดประตูจะได้ไม่กระแทก จำไว้ว่าเมื่อก้อนแม่เหล็กเคลื่อนเข้าหาตัวมอเตอร์ สวิตช์ในมอเตอร์ทำงาน มอเตอร์จะถุกตัดไฟ แต่ยังหมุนต่อตามแรงเฉื่ออีกนิดนึง

สรุปค่าใช้จ่ายมอเตอร์ 8,500 บาท เพิ่มราง 2 เส้นๆ ละ 350 อินฟราเรดกันหนีบ 1,000 บาท อุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ประมาณไม่เกิน 1,000 บาท ค่าจ้างมาติด บางที่คิด 5,000 บาท ดูๆ แล้วไม่ได้ประหยัดเท่าไหร่ แต่ทำเองกำหนดได้ครับ และได้อย่างใจ ถ้าเสียก็ซ่อมแซมเองได้
เครื่องมือที่ใช้ค่อนข้างเยอะนะครับ
1.เครื่องเชื่อมไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์
2.เกรียง
3.ซีแคลมป์
4.ระดับน้ำ
5.มิเตอร์วัดไฟ
6.ประแจเบอร์ต่างๆ
7.ตลับเมตร
8.อุปกรณ์ขุดถนน เมื่อต้องการลอดสายใต้ถนน

บางอย่างหยิบยืมเอาจะดีกว่านะครับ ไม่ต้องซื้อทั้งหมดหรอก

ยังมีเรื่องสภาพของรั้วด้วยนะ ถ้าลูกล้อฝืดมอเตอร์ก็จะทำงานหนักกินไฟมากขึ้น และสึกหรอมากขึ้นด้วยครับ

จากการทดสอบ มอเตอร์กินไฟขณะสแตนด์บายค่อนข้างต่ำประมาณ 5 วัตต์ และกินไฟขณะทำงาน 550 วัตต์

จากการทดสอบวิ่งตัวเปล่า และวิ่งโดยมีโหลดเป็นประตู มอเตอร์กินไฟเท่ากัน แปลว่าน้ำหนักของประตูต่ำกว่ากำลังของมอเตอร์มาก เหมือนเรายกแขนเปล่าๆ กับยกและถือไม้จิ้มฟันไว้ด้วย ออกแรงเท่ากัน

ตัวฝาครอบของรุ่นนี้เป็นพลาสติก และยังมีช่องใสๆ สำหรับเปล่งแสงไฟกระพริบขณะมอเตอร์ทำงานด้วย ไม่แน่ใจว่าจะทนแดดเมืองไทยได้กี่น้ำ ขั้นต่อไปคงเป็นการทำหลังคากันแดดฝน

แต่ก่อนถึงตรงนั้น คงต้องเจาะช่องรั้วตรงใกล้เครื่อง ให้ยื่นมือมาเอากุญแจไขปลดล็อกเครื่องเวลาที่ไฟดับซะก่อน ไม่งั้นกลับมาจากข้างนอกตอนไฟดับจะเข้าบ้านไม่ได้

  

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ ของ DIY รีโมทประตูรั้ว เมดอินไชน่า ติดตั้งเองกะมือ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook