อ่าน และ เขียนแบบทมยันตี

อ่าน และ เขียนแบบทมยันตี

อ่าน และ เขียนแบบทมยันตี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตัวหนังสือเล็ก ๆ ตวัดหางยาวเขียนด้วยปากกาสีม่วง คือต้นฉบับลายมืออันเป็นเอกลักษณ์ของคุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ นักเขียนเจ้าของนามปากกา ทมยันตี โรสลาเรน ลักษณวดี กนกเรขา รวมไปถึง มายาวดี เจ้าของคอลัมน์สนธยากาล ซึ่งพวกเราชาวขวัญเรือนคุ้นเคยดีกับต้นฉบับที่ต้องไปรับทุก 15 วัน

ตู้หนังสือ ส่วนหนึ่งคือนวนิยายของทมยันตีสังเกตว่าจัดวางเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก

บ้านของทมยันตีตั้งอยู่ในซอยที่มีรถสัญจรเกือบตลอดเวลาแต่พอก้าวเข้าไปยังบริเวณบ้านกลับรู้สึกถึงความเงียบสงบ ตามด้วยความร่มเย็นจากสวนเล็ก ๆ ที่อยู่หน้าบ้าน ห้องรับแขกของบ้านนี้คือห้องพระ เป็นห้องแรกที่อยู่ด้านหน้าสุดของบ้าน ใครไปใครมาก็ต้องไหว้พระ ก่อนไหว้ทักทายเจ้าของบ้าน ถัดจากห้องพระเป็นห้องโถง ที่มองไปทางไหนก็เจอแต่ตู้หนังสือและกองหนังสือ

“หนังสือที่อยู่ในบ้านดิฉันอ่านหมดทุกเล่ม บางเล่มอ่าน 3 รอบ ส่วนใหญ่คนมักนึกว่าเป็นนักเขียนนวนิยาย หนังสือในบ้านต้องมีแต่นวนิยาย ไม่ใช่เลยมีหนังสือที่เป็นข้อมูลในการเขียนทั้งนั้น”

หนังสือในบ้านทมยันตีมีหลากหลายประเภท ที่เห็นวางกองสูงกับพื้น เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนา มีทั้งเรื่องราวของนครวัด ทัชมาฮาล ตุตันคาเมน ซามูไร ศิลปะของชนเผ่ามายา ฯลฯ พวกที่อยู่ในตู้ก็มีทั้งหนังสือเก่า หนังสือศิลปะ ประวัติศาสตร์ หนังสือศาสนา และยังมีหนังสือแนววิทยาศาสตร์อีกจํานวนหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวโปรดของทมยันตี เพราะนอกจากพ็อกเกตบุ๊คแล้ว ทมยันตียังติดตามอ่านนิตยสารวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Scfience Illustrated, Update และชอบดูรายการสารคดีอย่าง เนชั่นแนลจีโอกราฟิก ดิสคัฟเวอรี่

“ดิฉันเป็นคนที่ตื่นนอนเช้า วันไหนตื่นสายทุกคนใจไม่ดี ลูกสั่งแม่อย่าล็อกห้อง เขาจะเปิดแง้มดูนิดหนึ่งว่ายังหายใจอยู่หรือเปล่า บางทีตื่นสายเพราะสวดมนต์ดึก หรืออ่านหนังสือดึก ดิฉันเป็นคนที่ถ้าไม่เขียนหนังสือก็อ่านหนังสือ ไปไหนก็คีบหนังสือ เอานิ้วสอดไว้หน้าหนึ่งที่ชอบ นั่งรถก็อ่านหนังสือได้ ถ้าไม่อ่านหนังสือก็มีลูกประคําสวดมนต์ มีความสามารถคือดีดประคําไปคุยไป ถ้าเราคุยแล้วลืมมนต์ ต้องตั้งต้นดีดเม็ดนั้นใหม่ เป็นการหัดการแยกจิต-การทําสมาธิ แต่ต้องเป็นบทสั้น เช่น อิติปิโส”

นอกจากสามารถคุยไปด้วยสวดมนต์ดีดลูกประคําไปด้วย เวลาลงมือเขียนหนังสือหากมีใครมาถามอะไร ทมยันตีก็สามารถตอบไปด้วยเขียนไปด้วย เธอบอกว่าที่ทําเช่นนี้ได้เพราะฝึกสมาธิมาตั้งแต่เด็กซึ่งคนแรกที่สอนเด็กหญิงวิมลทําสมาธิ…

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่นิตยสาร ขวัญเรือน no.1053 vol.45 October 2015



 

 

 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ อ่าน และ เขียนแบบทมยันตี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook