ปลูกผักสายไหน สำหรับมือใหม่หัดปลูก
นอกเหนือจากการเลือกว่าเราจะปลูกผักชนิดไหนแล้ว มือใหม่หัดปลูกก็ควรจะเลือกให้ถูกว่าเราจะปลูกผักนั้นด้วยวิธีไหน ฟังดูอาจจะงงๆ เล็กน้อย ว่า อ้าว! ปลูกผักด้วยวิธีไหน ปลูกผักมันก็ต้องปลูกลงในดินไง จะให้ปลูกในน้ำปลูกในอากาศมันจะได้เหรอ!? วง การปลูกผักก็เหมือนเล่นเกมออนไลน์ เราต้องเลือกให้ถูกว่าจะเล่นเป็นสายอาชีพไหน นักดาบ นักเวทย์ มือสังหาร การปลูกผักก็เช่นกันไปดูกันว่าปลูกผักนั้นแบ่งเป็นสายไหนบ้าง
สายออร์แกนิก
การปลูกผักลงดินสายที่ปลอดภัยต่อคนกินที่สุดคือการปลูกด้วยวิธีนี้ ซึ่งดินจะต้องไม่เคยผ่านสารเคมีใดๆ มาก่อนไม่ต่ำกว่า 3 ปี น้ำที่รดก็ต้องไม่มีสารเคมี ต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับรองว่าแปลงปลูก น้ำที่ใช้ และดินปลอดสารเคมีจริงๆ อาจดูวุ่นวาย แต่ก็ได้ผักที่ปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่มือใหม่หัดปลูกจะไม่ค่อยชอบ เพราะงงในขั้นตอนและดูวุ่นวาย
สายอินทรีย์
เป็นการปลูกพืชลงในดิน แต่ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในระหว่างการปลูกเลย รวมถึงไม่ใช้ยาฆ่าแมลง (คนปลูกผักกินเองไม่ทำแบบนี้แน่ๆ) และต้องทำเองทุกอย่างตั้งแต่ปรุงดิน (ปรับสภาพดิน) ดูแล ผักด้วยฮอร์โมนที่ทำเอง ดูแลกำจัดศัตรูพืชด้วยตัวเองแบบไม่ใช้สารเคมี สำหรับมือใหม่ที่ไม่ค่อยรู้อะไรเลย เริ่มต้นสายนี้ง่ายสุด นักปลูกมือเก่าก็ชอบการปลูกสายนี้ด้วยทั้งนั้น ถ้าเป็นเกมออนไลน์ สายนี้ก็คืออาชีพ Swordsman ที่เล่นง่ายที่สุด เก่งที่สุดถ้ารู้วิธีการ
สายไฮโดรโพนิกส์
การปลูกผักที่ไม่ต้องใช้ดิน แต่ปลูกลงในน้ำ ข้อดีคือเราสามารถปลูกในพื้นที่จำกัดได้ และไม่เสี่ยงต่อโรคพืช หรือเจอศัตรูพืชเหมือนกับการปลูกลงดิน นักปลูกสายนี้ต้องมีบ่อปลูกที่ทำจากโฟมหรือกระบะที่เก็บน้ำได้ ส่วนเมล็ดผักก็ใส่ในฟองน้ำ และน้ำก็ใส่ปุ๋ยสูตรเฉพาะในการปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ ปิดท้ายด้วยการกางมุ้งให้น้องผัก แล้วก็เฝ้ารอวันผักโต โดยที่เราไม่ต้องรดน้ำ วิธีนี้โกงเหมือนใส่สูตร เพราะผักบางชนิดแค่ 35 วันก็เก็บกินได้แล้ว เช่น ผักบุ้งจีน
(ภาพจาก: hydronic.online)
สายแอโรโพนิกส์
สายการปลูกผักระดับแอดวานซ์อีกแขนงที่ไม่ง้อดิน เป็นการปลูกผักโดยที่รากลอยอยู่ในอากาศ ส่วนของลำต้นจะยึดติดกับโฟม (เหมือนสายไฮโดรโพนิกส์) ส่วนวิธีการให้อาหารคือพ่นน้ำและสารอาหารผ่านท่อที่ตั้งเวลาการพ่นไว้ ข้อดีของวิธีนี้คือประหยัดการใช้น้ำ ไม่มีสารเคมี ไม่มีแมลง (เพราะปลูกในมุ้ง) รากได้รับออกซิเจนเต็มที่เพราะไม่ได้ปลูกลงดิน ไม่เสี่ยงต่อโรค เก็บเกี่ยวได้ไวราวๆ 28 วัน กินได้ ข้อเสียที่น่าจะหนักหน่วงที่สุดคือ อุปกรณ์การปลูกมีราคาแพงตั้งแต่แปลงปลูกไปจนถึงอุปกรณ์พ่นสารอาหาร ไม่แนะนำสำหรับคนที่อยากจะปลูกเล่นเป็นงานอดิเรก วิธีนี้มันระดับอุตสาหกรรมแล้วละ แต่ถ้าอยากจะลองก็ไม่ว่ากัน
(ภาพจาก: fibredust.com)