ส้วมนั่งยอง กับ ส้วมนั่งราบ ดี-เสียต่างกันอย่างไร
จากพระราชกฤษฎีกายกเลิกส้วมซึม หรือส้วมนั่งยอง โดยให้ครัวเรือนและสถานที่สาธารณะใช้ชักโครกหรือส้วมนั่งราบแทนนั้น ทำให้หลายคนสงสัยว่าต้องเปลี่ยนเป็นชักโครกทั้งหมดเลยไหม แล้วชักโครกหรือส้วมนั่งราบมันดีกว่าส้วมนั่งยองอย่างไร
Sanook! Home เลยหาคำตอบแบบให้เข้าใจง่ายๆ เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียระหว่างส้วมทั้ง 2 แบบ
ส้วมนั่งยอง หรือส้วมซึม ส้วมซึมเป็นส้วมที่มีระบบเป็นบ่อเกรอะ บ่อซึมโดยมีการฝังบ่อเหล่านี้ไว้ใต้ดินซึ่งมักทำมาจากคอนกรีต โดยแบ่งออกเป็น 2 ห้องหรือมากกว่า ให้รองรับอุจจาระจากโถส้วม และให้น้ำหรือแบคทีเรียเป็นตัวย่อยสลาย มีบ่อกรองเป็นบ่อเกรอะแล้วระบายน้ำสู่บ่อซึม ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการใช้งานส้วมในลักษณะนี้อยู่
ภาพจาก sanook
ข้อดีส้วมนั่งยอง หรือส้วมซึม
-สามารถทำให้คุณขับถ่ายได้สะดวกเนื่องจากเวลานั่งลำตัวของเรามักจะโน้มไปข้างหน้าทำให้ลำไส้ตั้งอยู่ในแนวตรงเลยขับถ่ายออกมาได้มากขึ้น
-ราคาย่อมเยา
ข้อเสียส้วมนั่งยอง หรือส้วมซึม
-โถส้วมแบบนั่งยองมักมีปัญหาเรื่อกลิ่นเป็นอย่างมาก
-ใช้น้ำปริมาณมากในการชำระล้าง
-เป็นส้วมที่ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ
-หากเป็นคนที่มีปัญหาด้านข้อเสื่อม หรือมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อขา จะยิ่งทำให้นั่งทำธุระลำบากเป็นอย่างมาก
-เวลาทำความสะอาดเราต้องตัดน้ำราดเอง
ภาพจาก www.istockphoto.com
ส้วมนั่งราบ หรือชักโครก เป็นส้วมที่ใช้ระบบการทำงานจากถังพักน้ำที่ในอดีตอาจจะมีการติดตั้งถังพักน้ำไว้อยู่เหนือโถ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นการใช้ถังพักน้ำอยู่ด้านหลัง หรือมีการออกแบบที่ทันสมัยรวมทั้งยังช่วยให้ระบบชำระล้างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปพร้อมๆ กับการออกแบบที่สวยงามและระบบอัตโนมัติต่างๆ มากมาย
ข้อดีส้วมนั่งราบ หรือชักโครก
-หมดห่วงเรื่องกลิ่น
-ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาด้านข้อและกล้ามเนื้อสามารถใช้งานได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
-ใช้ระบบการชำระล้างจากน้ำที่อยู่ในถังด้านหลัง ทำให้เราไม่ต้องเปลืองแรงตักน้ำราด
ข้อเสียส้วมนั่งราบ หรือชักโครก
-เวลานั่งขับถ่ายลำตัวจะไม่โน้มเอียงไปข้างหน้า ทำให้เวลาขับถ่ายทำได้ลำบาก
-ราคาแพงกว่าส้วมนั่งยองหรือส้วมซึม
อย่างไรก็ตามเป้าหมายความสำคัญคือต้องการให้ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบส้วมนั่งราบ หรือ ชักโครก ร้อยละ 90 ภายในปี พ.ศ. 2559 สถานบริการสาธารณะ และ สถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2559 คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2559 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2559
โดยกลุ่มเป้าหมายส้วมครัวเรือน และ ส้วมสาธารณะ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะ ริมทาง และ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/ดิสเคานต์สโตร์