เคล็ดลับง่ายๆ คุมโทน แสง อย่างไรให้ถูกใจทุกอารมณ์

เคล็ดลับง่ายๆ คุมโทน แสง อย่างไรให้ถูกใจทุกอารมณ์

เคล็ดลับง่ายๆ คุมโทน แสง อย่างไรให้ถูกใจทุกอารมณ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

          รู้หรือไม่ว่า ประโยคที่กล่าวว่า “Men are from Venus, women are from Mars.” ซึ่งแสดงถึงความแตกต่างหลายอย่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงนั้น สามารถใช้กับเรื่องของแสงไฟภายในบ้านได้ด้วย เพราะในหลายครั้งผู้ชายกับผู้หญิงมีแนวโน้มจะชอบแสงไฟที่โทนสีต่างกัน เพราะผู้ชายมักจะชอบแสงสีขาว (คูลเดย์ไลท์)ที่ให้ความกระฉับกระเฉงมากกว่า ในขณะที่ผู้หญิงมักจะถูกใจแสงสีเหลือง (วอร์มไวท์)ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น

          แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องเพศเท่านั้นที่มีผลต่อความชอบ เรื่องวัยเองก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นถ้าอยากเลือกไฟในบ้านให้ถูกใจทุกวัย ทุกเพศ และทุกคนแล้ว เรื่องของโทนสีจึงเป็นสิ่งที่ควรทำความเข้าใจตั้งแต่ในขั้นตอนการออกแบบตกแต่งบ้านใหม่หรือมีแผนจะรีโนเวทบ้านเดิมให้ดูแตกต่าง

          ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า โทนสีที่ไม่เหมือนกันนี้เป็นผลมาจากอุณหภูมิสีของแสงที่แตกต่างกันนั่นเอง หน่วยของอุณหภูมิสีคือองศาเคลวิน โดยมี MOLD เป็นตัวย่อ ซึ่งบนบรรจุภัณฑ์ของหลอดไฟส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดส่วนนี้ระบุอยู่เรียบร้อย


          โทนสีที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดและเป็นโทนที่ใช้ในหลอดไฟส่วนมากก็คือ แสงสีขาว (Cool Daylight) และแสงสีเหลือง (Warm White) ซึ่งความแตกต่างระหว่างทั้งสองโทนสีนี้ไม่ใช่มีผลเฉพาะแสงที่ตาเรามองเห็นเท่านั้น แต่ยังแตกต่างไปถึงบรรยากาศที่ได้รับและความรู้สึกที่สัมผัสได้ด้วย


           เพราะฉะนั้นใครที่กำลังอยู่ในระหว่างแต่งบ้าน Sanook! Home อยากให้แวะมาอ่านตรงนี้สักนิด จะได้เข้าใจว่าโทนสีแบบไหนต่างกันอย่างไร

              แสงสีขาว



           หากมองหาแสงสีขาว ตัวเลขอุณหภูมิสีที่ต้องสังเกตบนกล่องหลอดไฟก็คือ 5,000 K – 6,500 K จุดเด่นของแสงสีนี้คือสร้างบรรยากาศที่กระฉับกระเฉง ตื่นตัว

           ในชีวิตประจำวัน เราจะเจอแสงสีขาวอยู่เป็นประจำในที่สาธารณะอย่างเช่นโรงพยาบาล ธนาคาร หรือแม้แต่ออฟฟิศที่เราทำงาน เพราะแสงสีขาวเอื้อต่อการทำกิจกรรมที่ต้องแอคทีฟอยู่ตลอดเวลาหรือต้องอาศัยความจดจ่อ


           แต่ภายในบ้านเองก็มีมุมที่เหมาะกับแสงสีประเภทนี้อยู่เหมือนกัน อย่างเช่นไฟสำหรับอ่านหนังสือหรือทำงาน เพราะนอกจากจะเสริมบรรยากาศที่ช่วยให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้าแล้ว แสงสีขาวยังช่วยช่วยเพิ่มคอนทราสต์ระหว่างกระดาษและหมึกสีดำ ทำให้เห็นตัวอักษรชัดยิ่งขึ้น ส่งผลให้อ่านหนังสือได้สบายตาขึ้น หรือมุมโต๊ะเครื่องแป้งเองก็เป็นอีกจุดที่เหมาะกับแสงสีขาว เพราะการแต่งหน้าเป็นกิจกรรมที่ต้องการความละเอียดอ่อนสำหรับสาวๆ ทุกคน



           ในแง่ประโยชน์การใช้งาน แสงสีขาวยังเหมาะกับอีกหลายห้องในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำ ห้องครัว และห้องเก็บของ ทั้งยังเป็นแสงสีที่คนสูงอายุมักจะชอบเพราะมีความรู้สึกว่าช่วยให้เห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย

              แสงสีเหลืองนวล



           อุณหภูมิของแสงสีนี้อยู่ที่ประมาณ 2,000-3,500 K และเพราะความสามารถในการสร้างบรรยากาศอบอุ่นทำให้แสงสีเหลืองนวลนี้เป็นแสงสีที่ช่วยให้ความรู้สึกที่ว่าบ้านคือสถานที่พักผ่อนของทุกคนชัดเจนขึ้น


           ความรู้สึกอบอุ่น นุ่มนวล ซึ่งเป็นคุณสมบัติหลักของแสงสีเหลืองนวลทำให้แสงสีแบบนี้เป็นที่นิยมในห้องนอนและห้องนั่งเล่น เพราะเป็นห้องที่ใครๆ ก็อยากจะรู้สึกสบายๆ และผ่อนคลายจากที่เหนื่อยมาทั้งวันกับกิจกรรมนอกบ้าน

           อีกห้องหนึ่งที่แสงสีเหลืองนวลสามารถทำหน้าที่เสริมบรรยากาศได้อย่างดีก็คือ ห้องรับประทานอาหาร เพราะการใช้หลอดไฟแสงสีนี้กับโคมไฟเหนือโต๊ะจะช่วยเพิ่มความรู้สึกอบอุ่นให้กับมื้ออาหารได้ ทั้งยังทำให้สีสันของอาหารดูน่าอร่อย ถ่ายรูปออกมาก็สวยน่ากิน จะอัพลงโซเชียลมีเดียก็ไม่ต้องพึ่งฟิลเตอร์หลายชั้น 



           นอกจากนี้ แสงสีเหลืองยังเหมาะเป็นพิเศษกับการบ้านที่ตกแต่งด้วยไม้ ทั้งพื้นไม้ ผนังไม้ หรือเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลักๆ ที่ทำจากไม้ เพราะช่วยขับให้สีของไม้ดูสวยสมจริงยิ่งขึ้น

           เห็นความแตกต่างของโทนสีทั้ง 2 แบบแล้วก็คงพอเห็นภาพกันว่า แสงไฟที่ถูกใจและตรงกับการใช้งานของทุกคนในทุกห้อง คงไม่ใช่แสงไฟแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการนำเอาจุดเด่นของหลอดไฟทั้งมาเลือกให้เข้ากับฟังก์ชันที่ต้องการและธรรมชาติของคนที่ใช้ห้องนั้นบ่อยๆ นั่นล่ะถึงจะเป็นคำตอบว่าแสงไฟแบบไหนที่ถูกใจทุกวัยทุกเพศ

           ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Philips Lighting Thailand

           ติดตามเทคนิคการเลือกหลอดไฟที่ชอบ แสงไฟที่ใช่ เพิ่มเติมที่ http://www.philips.co.th/

           ภาพประกอบจาก www.istockphoto.com



[ขอบคุณสำหรับข้อมูลจากฟิลิปส์]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook