Home Rejuvenation คืนชีวิตให้บ้านมีชีวา
“ชีวิตชีวา” ฟังดูเป็นคำง่าย ๆ แต่การจะทำให้เกิดขึ้นได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บ่อยครั้งที่เราปล่อยปละละเลยบ้านปล่อยให้ความรก ความเคยชิน และความทรุดโทรมค่อย ๆ บั่นทอนความสดใสของบ้านแสนรักของเราให้หายไปอย่างน่าเสียดาย “สถาปัตยกรรม” ฉบับนี้จึงอยากนำเสนอแนวคิดของการชุบชีวิตบ้านใหม่ เพื่อให้มีบรรยากาศน่าอยู่และอบอุ่นกันครับ
Home Rejuvenation คือ การดูแลและทำให้บ้านน่าอยู่ ไม่ใช่เพียงสิ่งที่จับต้องได้ เช่น ส่วนต่างๆ ของบ้าน แต่รวมไปถึงบรรยากาศและชีวิตชีวาของบ้านด้วย บางครั้งก็อาจเป็นการดูแลขนานใหญ่ เช่น การซ่อมแซมต่างๆ ซ่อมระบบท่อน้ำประปา เดินสายไฟ ซ่อมหลังคา แต่บ่อยครั้งที่เป็นการดูแลง่ายๆเช่น การจัดสวน จัดบ้าน เปลี่ยนสีผนัง หรือเปลี่ยนวอลล์เปเปอร์ ที่ต่างไปจากการปรับปรุงบ้าน (Renovation) ก็คือ การคืนชีวิตให้บ้าน (Rejuvenation) นั้นจำเป็นจะต้องเข้าใจทั้งการดูแลบ้านและการสร้างบรรยากาศที่ดีให้บ้านและผู้อยู่อาศัยไปพร้อมกันหากกล่าวโดยสรุปง่ายๆ การคืนชีวิตให้บ้าน (Rejuvenation) จึงเป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงบ้าน (Renovation) กับการคงสภาพบ้าน (Restoration)นั่นเอง
7 ปฏิบัติการคืนชีพให้บ้านน่าอยู่
1 จัดระเบียบสิ่งต่าง ๆ ให้เข้าที่ ในบ้านทุกหลังมีบรรยากาศไหลเวียนอยู่ แต่บ้านที่มีข้าวของรกรุงรัง ขาดความเป็นระเบียบ จะทำให้บรรยากาศและพลังงานในบ้านอัดอั้น อับทึบและอึดอัด ขาดบรรยากาศที่ดีไปเสีย มีแม่บ้านท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “หากคิดอะไรไม่ออกให้จัดบ้าน”เชื่อเถอะครับ แล้วเดี๋ยวไอเดียต่างๆ ก็จะออกมาเองเพราะนอกจากจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่ทำให้บ้านกลับมาสดใสได้แล้ว การได้มองเห็นห้องต่างๆ เรียบร้อยสะอาดตายังทำให้เกิดไอเดียดีๆ ในการแต่งบ้านได้ง่ายขึ้นอีกด้วย อีกทั้งเมื่อเราจัดการเก็บข้าวของและสร้างระเบียบให้สิ่งต่างๆ ในบ้านเสร็จแล้วข้อควรปฏิบัติอื่นๆ ที่กำลังตามมาก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นอีกเยอะ
2 เปิดรับธรรมชาติ สายลม และแสงแดด อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบ้านในเมืองที่จะได้รับอากาศบริสุทธิ์ และเจ้าของบ้านมักปิดตัวเองอยู่ในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ แต่ในยามเช้าหรือยามเย็นที่การจราจรของเมืองไม่วุ่นวายจนเกินไป การเปิดประตูระเบียงออกไปสู่สวนเพื่อรับลมเย็นๆ ให้พัดผ่านเข้ามาในบ้านบ้างก็คงดี อากาศที่ไหลผ่านภายในบ้านจะช่วยสร้างความรู้สึกปลอดโปร่งได้อย่างดีทีเดียวทุกครั้งที่เปิดรับอากาศสดชื่นก็อย่าลืมหายใจลึกๆด้วยนะครับ ไหนๆ ก็เปิดรับสายลมแล้ว การเปิดรับแสงแดดไปพร้อมกันด้วยเลยจะดีมาก จัดมุมดีๆสำหรับรับประทานอาหารยามเช้าก่อนเริ่มวันใหม่และมุมนั่งเล่นสำหรับยามเย็น การที่ภายในบ้านสามารถรับรู้ได้ถึงธรรมชาติภายนอกก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างชีวิตชีวาให้ผู้คนในบ้านได้เป็นอย่างดีปล่อยให้แสงธรรมชาติเข้าสู่บ้านในปริมาณที่พอดีมุมสวยๆ ที่จัดไว้จะยิ่งสร้างพลังและแรงบันดาลใจให้คุณได้มากกว่าเดิมอย่างเหลือเฟือ
3.หมั่นตรวจตรา…อย่ารอจนกระทั่งสายเกินไป
ทุกสัญญาณเตือนของบ้านนั้น ไม่ว่าจะเป็นรอยร้าวหรือการผุพังใดๆ หากจัดการเสียแต่เนิ่นๆก็จะเป็นเรื่องง่าย อีกทั้งบ้านที่ได้รับการดูแลอยู่เสมอจะมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อบอุ่น และผ่อนคลายไม่สร้างความระแวงให้ผู้อยู่อาศัย
4.กล้าที่จะทิ้ง รู้ที่จะลงทุน
อย่าเสียดายจนต้องเก็บของทุกอย่างไว้แม้ว่าจะเก่าจนไม่สามารถใช้งานได้ดีแล้ว หลายบ้านเป็นเช่นนี้ อะไรที่เกินเยียวยาก็เรียกคนรับซื้อของเก่ามารับไปก็ได้ แล้วเรียนรู้ที่จะกล้าลงทุนกับเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกใจ เฟอร์นิเจอร์สวยๆ บางครั้งก็คล้ายรักแรกพบ ถ้าคุณไม่กล้าจีบ...ก็อาจไม่ได้พบกันอีกเลยนะถึงเวลานั้นแล้วจะเสียดาย
5.ใช้พลังสีเขียวสร้างสุขจากภายใน
ต้นไม้ต้นเล็กสามารถสร้างความสุขสงบแผ่กระจายออกมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นสวนเล็ก สวนใหญ่ ไม้กระถาง หรือแจกันบนโต๊ะกินข้าว ล้วนเป็นสิ่งมหัศจรรย์สีเขียวที่ราคาไม่แพงแต่ให้ผลที่ดีเกินคาดเสมอ จะไปเลือกซื้อหรือปลูกเองแล้วตัดมาตกแต่งก็ได้ตามอัธยาศัย
6.ทำเถอะ…อย่ารอเลย
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายท่านน่าจะมีไอเดียจัดการกับบ้านกันบ้างแล้วละ อย่างนั้นก็ทำเถอะ...แต่วางแผนให้ดีก่อน แล้วก็อย่าเลื่อน เกินครึ่งของบ้านที่รกจนเกินจะเยียวยาเกิดจากการผัดวันประกันพรุ่ง แต่หากได้เริ่มลงมือทำแล้วก็จะเริ่มติดลมรู้ตัวอีกทีก็จัดการเสร็จไปหลายเรื่องแล้ว
7.ให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่ในบ้านอย่างเท่าเทียม
บ้านจะเป็นบ้านทั้งหลังได้ก็ด้วยองค์ประกอบที่สอดคล้องกันของทุกพื้นที่ เราจึงควรคำนึงถึงทุกห้องไปพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าดูแลเอาใจใส่อยู่แค่ไม่กี่พื้นที่ ไม่เช่นนั้นคุณจะมีมุมโปรดและมุมรกๆที่คุณไม่แยแสแยกกันชัดเจนอยู่ในบ้านเลยเชียวละ
เรื่องง่าย ๆ ที่ทำให้บ้านน่าอยู่ขึ้น
บางอย่างคุณอาจทำเองได้ บางอย่างเรียกช่างมาจัดการให้ก็ดี บางอย่างดูเป็นเรื่องเล็กๆ บางเรื่องก็เป็นเรื่องใหญ่ที่มองข้ามไม่ได้เลย แต่ทุกสิ่งล้วนส่งผลต่อการอยู่อาศัยในบ้าน และที่สำคัญ ทุกอย่างต่างส่งผลต่อบรรยากาศและความรู้สึกของคนในบ้านทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราลองไปดูพร้อมกันว่ามีอะไรบ้างที่เราพอจะทำได้ผมขอแบ่งเป็น 4 หมวดดังนี้
Refresh สร้างความสดชื่น
a. จัดบ้านทำความสะอาด ขยับมุมใหม่ๆ จัดสิ่งต่างๆให้เข้าที่ ทำความสะอาด นอกจากจะทำให้บ้านสดชื่นขึ้นง่ายต่อการคิดไอเดียใหม่ๆ แล้ว การไล่จัดระเบียบให้บ้านทั้งหลังยังเป็นการเช็กสิ่งผิดปกติและสัญญาณอันตราย
ต่างๆ ในบ้านไปพร้อมกันอีกด้วย
b. ปลูกต้นไม้ย้ายกระถาง หากใครเครียดๆ การได้ลงมือลงแรงไปกับเรื่องสวนนั้นได้ผลชะงัดนักแล ต้นไม้ดึงเอาพลังของธรรมชาติเข้ามาช่วยเยียวยาเราได้เป็นอย่างดี และเติมความสดชื่นให้บ้านด้วยเช่นกัน แต่สวนรกๆ คงเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ไม่พึงประสงค์เป็นแน่ เพราะฉะนั้นการหมั่นดูแลต้นไม้น้อยใหญ่ในบ้านนอกจากจะเป็นการพักผ่อนที่ดีแล้ว ยังเป็นการดูแลพื้นที่สีเขียวไม่ให้รกเกินไปอีกด้วย
c. ประดับดอกไม้ ดอกไม้สักช่อในแจกันบนโต๊ะอาหารสามารถเติมเต็มวันดีๆ ให้คนในบ้านได้อย่างไม่น่าเชื่อหรือจะเป็นไม้ดอกที่เด็ดมาง่ายๆ จากในสวน นำมาใส่ในแก้วทรงสูงวางไว้บนโต๊ะกลางของห้องนั่งเล่น สิ่งเหล่านี้
เติมเต็มความสุนทรีย์ให้บ้านได้อย่างดี
d. นำภาพไปใส่กรอบ ภาพถ่ายจากทริปล่าสุด ภาพถ่ายเมื่อตอนงานรวมญาติ ภาพวาดกับหลานเมื่อวันก่อนลองรวบรวมแล้วนำไปเข้ากรอบสำหรับแขวนตกแต่งผนังไม่ใช่แค่ดูสวยงาม แต่เรื่องราวและความทรงจำจะทำให้
บ้านมีความอบอุ่นของคำว่า “ครอบครัว”
e. เพ้นต์ผนัง ไม่จำเป็นต้องมีฝีมือทางศิลปะก็ได้ลองชวนเพื่อนฝูงหรือญาติตัวน้อยแล้วหาผนังเหมาะๆ เพ้นต์ลายดูสักที คุณอาจได้อมยิ้มทุกครั้งที่เห็นผนังนี้ก็ได้นะ สวยไหมไม่รู้ แต่ความทรงจำในความสนุกนั้นก็คงยากที่จะลืมเลือน
f. เปลี่ยนปลอกหมอนและผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนลายสวยหรือจะเป็นผ้าปูที่นอนสีสด นำไปซักแล้วเก็บไว้วันหลัง แล้วลองเปลี่ยนชุดเครื่องนอนใหม่ๆ บ้าง อาจเพื่อให้เข้ากับฤดู เทศกาล หรือแค่เพียงลองเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ๆ ก็ดูไม่เลวเลยทีเดียว
g. เปลี่ยนผ้าม่าน นอกจากการทาสีห้องแล้ว การเปลี่ยนผ้าม่านก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้บ้านหลังเดิมของคุณเปลี่ยนไปได้อย่างหมดจด จะเป็นผ้าโปร่งลายลูกไม้หรือผ้าม่านลายเก๋เข้าชุดกับโซฟาก็ลองเลือกดูแล้วกัน
Maintenance ดูแลรักษา
a. ลงน้ำมันให้งานไม้ภายในบ้าน งานไม้ก็เหมือนกับผิวของคนเรา ซึ่งต้องการความชุ่มชื้นและการดูแลที่เหมาะสม การลงน้ำมันให้งานไม้ทำได้ง่ายกว่าการทาแล็กเกอร์หรือวานิช ทั้งยังให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติมากกว่าด้วย ที่สำคัญ ยังสามารถเลือกใช้ชนิดที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ขี้ผึ้ง หรือน้ำมันมะพร้าวได้ด้วย
b. ทาสีห้อง ใช้งบประมาณไม่มาก แต่ให้ผลลัพธ์ที่ทรงพลังเหลือเชื่อ การเปลี่ยนสีให้ห้องนั้นส่งอิทธิพลให้อารมณ์และความรู้สึกของห้องเปลี่ยนไปได้โดยสิ้นเชิงอีกทั้งยังเป็นกิจกรรมสนุกๆ ที่ใครๆ ก็มาช่วยกันทำได้ตั้งแต่เด็กๆ ไปจนถึงผู้สูงอายุ เพียงแค่หาวันหยุดยาวสักสองสามวัน คุณก็สามารถเปลี่ยนห้องเดิมๆ ให้กลายเป็นห้องใหม่ได้แล้ว
c. เปลี่ยนวอลล์เปเปอร์ อีกหนึ่งวิธีเปลี่ยนอารมณ์ห้องที่ได้ผลดีก็คือการเลือกวอลล์เปเปอร์ เพราะไม่ใช่แค่เพียงสีสัน แต่พื้นผิวที่ต่างออกไปก็สร้างบรรยากาศใหม่ๆให้การจัดสรรพื้นที่ของคุณได้แล้ว
d. เช็ดกระจก อาจดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่หลายคนก็มักละเลยไป กระจกที่สะอาดใสเป็นกรอบบานเชื่อมภายในและภายนอกเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นทำความสะอาดเสียอย่าให้ความขมุกขมัวมาทำให้ชีวิตคุณต้องหมองโดยไม่รู้ตัว
Repair บำรุงซ่อมแซม
a. ขัดหน้าไม้ปาร์เกต์ พื้นไม้ปาร์เกต์เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดการขยายตัวและกระเดิดขึ้น พาให้เดินสะดุด บ้างก็อาจหลุดล่อน การขัดไสหน้าไม้ให้เรียบแล้วเคลือบใหม่บ้าง รับรองว่าบ้านจะดูเหมือนใหม่เลยทีเดียว
b. ดูแลรางน้ำ หลังจากฤดูหนาว รางน้ำอาจมีใบไม้แห้งเข้าไปติดอยู่เยอะ จัดการทำความสะอาดบ้าง เพราะเมื่อผ่านฤดูร้อนมาจนถึงฤดูฝนอีกครั้งจะได้ไม่ประสบปัญหาน้ำฝนระบายไม่ทัน แล้วจะรั่วซึมเข้าสู่หลังคาและฝ้าได้ จากปัญหาเล็กๆ จะกลายเป็นบานปลายไปเสีย
Improvement ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
a. ซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ อีกหนึ่งวิธีเติมความสุขให้บ้านที่ได้ผลชะงัดก็คือการหาเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าจะหยิบฉวยเอาอะไรก็ได้หรอกนะครับ ถ้าเลือกไม่ดีนี่จะดูแปลก ขัดกันไปหมด วิธีการเลือกก็เริ่มจากจัดสไตล์ให้ของในบ้านเสียก่อน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่จะได้เข้ามาเป็นพระเอกของกลุ่ม ลองเดินเล่นตลาดของมือสองหรือจะเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์เก่าก็เข้าที บางครั้งคุณอาจพบเฟอร์นิเจอร์เด็ดๆ ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วก็เป็นได้
b. เดินระบบสายไฟใหม่ สายไฟก็เหมือนเส้นเลือดใหญ่ในบ้าน ยิ่งในวันที่เราใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และแล็บท็อป ปลั๊กไฟห้องละสองสามจุดเช่นเดิมจึงไม่พอเสียแล้ว ควรจัดการใหม่บ้านเก่าในไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปมักใช้วิธีเดินสายไฟแบบตีกิ๊บ ซึ่งมีความสะดวก เดินเสร็จก็ทาสีทับได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ตอนสายไฟเสื่อมสภาพแล้วต้องเลาะสายไฟออกมา ทำให้ต้องทาสีใหม่อีก เพราะฉะนั้นหากจะเดินระบบใหม่ก็ควรจะใช้แบบท่อร้อยสายไฟไปเลย ดูแลรักษาได้ง่ายกว่า แถมยังเป็นลูกเล่นเท่ๆ ให้บ้านได้อีกด้วย
เหล่านี้คือส่วนหนึ่งในหลายๆ สิ่งที่เราสามารถทำให้บ้านของเราน่าอยู่ขึ้นได้และก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เหมือนการต้องปรับปรุงบ้านสักหลัง สิ่งเหล่านี้แทรกตัวอยู่ในการดูแลบ้านขั้นพื้นฐานและงานบ้านที่เราได้ทำกันมาโดยตลอด เพียงใส่ใจขึ้นอีกนิดและเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไปอีกหน่อยเท่านั้นเอง
หลากวิธีคืนชีวิตชีวาให้บ้าน
มีหลายวิธีการสร้างความน่าอยู่ให้บ้านที่คุณอาจคาดไม่ถึง ลองมาดูตัวอย่างกันดีกว่าว่าการดูแลบ้านดีๆ นั้นสามารถสร้างชีวิตชีวาให้บ้านได้อย่างไรบ้าง
บ้านคุณอลิศา ตั้ง และคุณลองดรีย์ ดูนองด์
บ้านคุณอารีย์ - คุณรุ่งคนานต์ สัมฤทธิ์จินตนา
สูดหายใจให้เต็มปอด
จะเป็นบ้านที่อยู่ในเรือกสวนไร่นาก็ดี หรือบ้านในเมืองที่มีพื้นที่สวนก็ดีการเปิดห้องรับแขกรับอากาศดีๆ จากบริเวณสวนก็เป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างความสดชื่นให้บ้าน ติดตั้งพัดลมเพดานสวยๆ สักตัวเพื่อสร้างการไหลเวียนของอากาศจากห้องสู่ห้อง พัดลมสวยๆ จะเป็นจุดดึงดูดความสนใจให้ห้องเก๋ๆ ได้เป็นอย่างดี
บ้านคุณนิรันดร์ เมืองใจ
มีดีต้องโชว์ ตกแต่งบ้านด้วยการจัดวางของสะสมจากการเดินทาง เรียกว่าเป็นStorage Display นอกจากจะทำให้มีพื้นที่เก็บของเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสร้างเรื่องราวให้บ้านได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย การเดินทางหรืองานสะสมต่างๆ ยิ่งนานวัน
ยิ่งน่าสนใจ จะมองมุมไหนก็มีเรื่องให้เล่าไม่รู้จบ ดีกว่านำไปแอบเก็บไว้พอเวลาผ่านไปอาจลืมไปเลยก็ได้ว่ามีของชิ้นนั้นชิ้นนี้อยู่
บ้านคุณธีรพงศ์ - คุณสิริพันธ์ พฤฒิพิบูลธรรม
พื้นที่แห่งความทรงจำในการตีความใหม่
การตีความใหม่ให้พื้นที่แห่งความทรงจำ โดยผสมเฟอร์นิเจอร์เก่ากับวัสดุใหม่ๆให้คนต่างวัยได้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน จะวินเทจก็ไม่ใช่ จะโมเดิร์นก็ไม่เชิงดูร่วมสมัยและลุ่มลึกด้วยความอบอุ่นของกาลเวลา ชานเรือนซึ่งมักเป็นที่รวมตัวของสมาชิกในบ้านแบบไทยๆ สมัยก่อนก็นำมาตีความให้ร่วมสมัยได้อย่างลงตัว
บ้านคุณนิรันดร์ เมืองใจ
พื้นที่ห้องทำงานและระเบียงเต็มไปด้วยของสะสม เครื่องดนตรีอุปกรณ์จักรยาน และอุปกรณ์ทำสวน ใช้พื้นที่แนวตั้งอย่างชาญฉลาด ห้องเล็ก ๆ ก็ดูกว้างได้ แถมยังใช้งานได้อย่างครบครัน ทั้งระเบียงเล็ก ๆ ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจและร่มรื่นกว่าที่เคย
บ้านเล็ก ของเยอะ จัดสรรให้ลงตัว
แค่จัดก็สวยแล้ว...เป็นคำพูดที่ไม่ได้เกินจริงแต่อย่างใด ศิลปะแห่งการจัดสรรพื้นที่มักนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดูดีเสมอ ของมากมายในพื้นที่จำกัดอาจเป็นความท้าทายที่จะจัดกลุ่ม เรียบเรียง และร้อยเรื่องราวให้ลงตัว แต่เมื่อทำสำเร็จ นอกจากบรรยากาศที่ดีแล้ว ความละเอียดลออของบริบทแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งละอันพันละน้อยมักกระตุ้นต่อมความคิดสร้างสรรค์และสร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบได้เป็นอย่างดี
“สมัยก่อนหน้าบ้านจะมีระเบียงที่สมาชิกในบ้านหลายคนมักมานั่งดูรถในตอนเย็น เราก็จะมานั่งนับรถนับดวงไฟบนโรงแรม ดูว่ามีเครื่องบินบินผ่านหรือยัง เป็นความสนุกเล็ก ๆ ในวัยเด็กซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความทรงจำดี ๆ”
บ้านคุณอรรถสิทธิ์ กองมงคล และคุณวิไลลักษณ์ กุลศักดิ์นันท์
ระเบียงสวนในบ้าน พื้นที่ระเบียงหน้าบ้านไม่ค่อยได้ใช้เพราะรู้สึกไม่เป็นส่วนตัว คุณอรรถ-สิทธิ์จึงปรับพื้นที่โดยการก่ออิฐกึ่งโปร่งให้ข้างในยังมองเห็นด้านนอกได้ แต่ภายนอกไม่สามารถมองเห็นภายในได้และจัดเป็นมุมส่วนหน้าห้องรับแขกจึงเกิดมุมใหม่คล้ายห้องนั่งเล่นกึ่งเอ๊าต์ดอร์ไปในที่สุด
มาสร้างชีวิตชีวาให้บ้านกันเถอะ จากแนวคิด ข้อปฏิบัติ และตัวอย่างดีๆ ของการคืนชีวิตชีวาให้บ้าน ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงจะเริ่มคันไม้คันมือกันแล้วว่าเมื่ออ่าน “บ้านและสวน” ฉบับนี้จบจะเริ่มจากจัดการอะไรก่อนดี บ้านดีต้องอย่าหยุดสวย หวังว่าแนวคิดการชุบชีวิตให้บ้านในฉบับนี้จะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ชื่นชอบการแต่งบ้าน ผู้มีปัญหากับบ้านเก่าแสนรก และผู้ที่ไม่รู้จะเริ่มดูแลบ้านจากจุดไหนดี ให้ลุกขึ้นมาจัดการกับบ้านของเรากันดีกว่า บ้านดีชีวีมีสุข ค่อยๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย เดี๋ยวทุกอย่างก็จะสวยงามเอง เชื่อผมเถอะครับ...อย่าลืมก็พอว่าบ้าน...ก็มีชีวิต
ข้อมูลและภาพจาก