ตามรอยประวัติศาสตร์ 5 วัง 5 แผ่นดิน

ตามรอยประวัติศาสตร์ 5 วัง 5 แผ่นดิน

ตามรอยประวัติศาสตร์ 5 วัง 5 แผ่นดิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชวนไปชม 5 วังกลางกรุง ที่งดงามข้ามกาลเวลามาถึง 5 แผ่นดิน อนาคตอันรุ่งโรจน์ของเรานั้นย่อมมาจากความเข้าใจอดีตอย่างถ่องแท้ ทริปนี้จึงอาจสร้างแรงบันดาลใจชั้นดีชนิดที่คุณคาดไม่ถึง และก่อนออกเดินทางอย่าลืมเช็กการแต่งกายให้เรียบร้อย สำรวม ไม่อย่างนั้นหากไม่เหมาะสมจะเข้าวังไม่ได้นะ

พระราชวังพญาไท  | สถาปัตยกรรมยุคเรอเนซองซ์
ออกแบบโดย นายมาริโอ ตามาโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี ผู้ออกแบบพระที่นั่งเทวราชสภารมย์

คอกาแฟทั้งหลายคงเคยได้ไปลิ้มรสกาแฟหอมกรุ่นจากร้านกาแฟนรสิงห์ ณ พระราชวังพญาไทกันมาแล้วแน่นอน ใช้โอกาสนี้เยี่ยมชมพระตําหนักต่างๆที่งดงามน่าทึ่ง แรกเริ่มนั้น “พระตําหนักพญาไท” สร้างเมื่อพ.ศ.2452 ในรัชกาลที่ 5 เพื่อใช้เป็นที่ประทับขณะแปรพระราชฐานและทดลองทํานาปลูกพืชไร่ เลี้ยงไก่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในปี 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดําริให้สร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ประทับในวังพญาไท และโปรดเกล้าฯให้สถาปนาขึ้นเป็นพระราชวังพญาไท นอกจากนี้ ด้านหลังของหมู่พระที่นั่งยังเคยเป็นที่ตั้งของดุสิตธานี หรือเมืองประชาธิปไตยย่อส่วน จําลองขึ้นเพื่อทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว

จากวันนั้นถึงวันนี้พระราชวังพญาไทได้แปรเปลี่ยนไปหลายสถานะ จากโฮเต็ลพญาไทในสมัยรัชกาลที่ 7 ไปจนถึงโรงพยาบาลทหารเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนกระทั่งปัจจุบันชมรมคนรักวังและมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไทได้เข้ามาดูแลให้พระราชวังพญาไทกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรสําหรับประชาชนทั่วไปได้เข้าชมกัน

(ซ้าย) พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์ มีโดมตรงกลางรับด้วย หลังคาประทุนโค้งสี่ด้าน พระที่นั่งนี้ใช้สําหรับประกอบพระราชพิธีทางศาสนา และรับรองแขกส่วนพระองค์
(ขวา) พระตําหนักเมขลารูจี พระตําหนักองค์น้อยริมคลองพญาไท เป็นเรือนไม้สักสองชั้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นองค์แรก

ที่อยู่ : ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ พระราชวังพญาไทอยู่ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS ลงที่สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แล้วเดินต่ออีกนิดไปตามถนนราชวิถี
เวลาทำการ : วันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00น.-16.00น. มีวิทยากรนําชมวันละ 2 รอบ คือ เวลา 9.30 น.และ 13.00 น.
บัตรผ่านประตู : ไม่เสียค่าใช้จ่าย
การถ่ายภาพ : ถ่ายภาพได้เฉพาะภายนอก
ติดต่อ : โทร.0-2354-7987, 0-2354-7732 www.phyathaipalace.org

พระที่นั่งวิมานเมฆ  |  อิทธิพลการก่อสร้างสไตล์วิกตอเรีย
ออกแบบโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

หลายคนอาจได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนพระที่นั่งวิมานเมฆมาแล้วเมื่อครั้งยังเยาว์ แต่เรายังอยากชวนไปทบทวนกันอีกคร้ังว่า คุณยังจําความงดงามของพระที่นั่งไม้สักทองที่ใหญ่ท่ีสุดในโลกองค์นี้ ได้แค่ไหน

พระที่นั่งวิมานเมฆเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกภายในพระราชวังดุสิต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์จากพระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะสีชัง มาปลูกสร้างข้ึนใหม่บนพื้นท่ีบริเวณคลองผดุงกรุงเกษมจรดคลองสามเสนในปี พ.ศ. 2444 พระที่นั่งนี้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ จวบจนสิ้นรัชกาลที่ 6 พระที่นั่งก็ถูกปิดร้างและทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ.2525 ซึ่งเป็นปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงขอพระบรมราชานุญาตซ่อมแซมพระท่ีนั่งวิมานเมฆเพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปิดให้คนรุ่นหลังได้เข้าชมเพื่อเรียนรู้มรดกของชาติสืบไป

(ซ้าย) บานหน้าต่างไม้สักลายลูกฟักทั้งแบบบานทึบและกรุกระจกจํานวนมากรอบองค์พระที่นั่งช่วยเปิดรับลมและแสงได้ดี เชิงชายและช่องลมฉลุลวดลาย “ขนมปังขิง” อย่างประณีตงดงามตามแบบบ้านสไตล์วิกตอเรีย
(ขวา) บรรยากาศร่มรื่นภายในโรงเรือนต้นไม้ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งวิมานเมฆ


ที่อยู่ : ถนนราชวิถี เขตดุสิต กรุงเทพฯ
เวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 9.30 น.-15.30 น.
บัตรผ่านประตู : คนไทย 75 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท เด็ก นักเรียน นักศึกษา 20 บาท
การถ่ายภาพ : ห้ามถ่ายภาพภายในพระที่นั่ง ส่วนภายนอกห้ามใช้ขาตั้งกล้อง
ติดต่อ : ฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ โทร.0-2281-5454

 
วังสวนผักกาด | เรือนไทยโบราณ



เยี่ยมชมวังแบบฝรั่งมาหลายแห่ง ลองมาดื่มด่ำกับความงามของเรือนไทยโบราณกลางกรุงบนถนนศรีอยุธยากันบ้าง ผืนดินแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเคยเป็นสวนผักกาดของคนจีน จวบจน พ.ศ.2495 ช่วง ปลายสงครามมหาเอเชียบูรพา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต (พระโอรสในทูลกระหม่อมบริพัตรฯ เจ้าของวังบางขุนพรหม) โปรดให้รื้อเรือนไทยอายุเก่าแก่กว่าร้อยปีของบิดาท่านย่าทวดจากอัมพวามาปลูกเป็นที่ประทับ พระองค์ทรงเริ่มสะสมและตกแต่งเรือนไทยด้วยวัตถุโบราณ บางชิ้นเป็นมรดกตกทอดจากพระบิดา บางชิ้นก็ซื้อหามาเพิ่มเติมจากต่างประเทศ หลังจากสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2502 พระชายา หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ได้มอบวังสวนผักกาด ให้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ส่งเสริมด้านการศึกษาและการอนุรักษ์ด้านศิลปวัฒนธรรม และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาดต้ังแต่นั้นมา

ผนังภายในหอเขียนมีภาพลงรักปิดทอง เรื่องราวพุทธประวัติ รามเกียรติ์ และเหตุการณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มหาราช ส่วนช่องหน้าต่างมีลักษณะเป็นศิลปะแบบ Saracenic ของชนชาติอาหรับ

ที่อยู่ : ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าBTS ลงที่สถานีพญาไท ทางออก4 แล้วเดินต่ออีกนิดไปตามถนนศรีอยุธยา
เวลาทำการ : ทุกวัน 9.00 น.- 16.00 น.
บัตรผ่านประตู : นักเรียน นักศึกษา 20 บาท คนไทย 50 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท
การถ่ายภาพ : ถ่ายภาพได้เฉพาะภายนอก
ติดต่อ : โทร.0-2245-4934 www.suanpakkad.com

วังวรดิศ  | สถาปัตยกรรมตะวันตกผสมผสานกลิ่นอายเยอรมัน
ออกแบบโดย คาร์ล ซีกฟรีด เดอริง (Karl Siegfried Döhring) สถาปนิกชาวเยอรมัน ผู้ออกแบบวังบางขุนพรหมและพระรามราชนิเวศน์ (พระราชวังบ้านปืน) จังหวัดเพชรบุรี

ท่ามกลางความจอแจคับคั่งของการจราจรบนถนนหลานหลวง วังวรดิศตั้งตระหง่านอย่างสง่างามท่ามกลางความร่มรื่นของพรรณไม้มากว่าหนึ่งศตวรรษ วังนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ และโบราณคดี” ต้นราชสกุล “ดิศกุล” สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2454 บนที่ดินของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระมารดาของพระองค์ เพื่อทดแทนวังเก่าบนถนนเจริญกรุงที่คับแคบ วังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพประทับที่วังนี้จวบจนสิ้นพระชนม์เมื่อ วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2486 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ต่อมา วังวรดิศได้รับการอนุรักษ์โดยพลตรี หม่อมราชวงศ์ สังขดิศ ดิศกุล พระนัดดา เพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคลที่จัดแสดงให้เห็นการดําเนินชีวิตของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เมื่อสมัยที่พระองค์ยังมีพระชนมชีพอยู่ โดยได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นจากสสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อ พ.ศ. 2527

(ซ้าย) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ มักโปรดการประทับกับพื้นแบบไทยที่ชานเรือนด้านหลังเพื่อเสวยกระยาหารกับพระโอรสและพระธิดา ของตกแต่งสไตล์จีนรอบ ๆ สื่อให้เราเห็นถึงสายสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนที่แน่นแฟ้น
(ขวา) “ห้องทรงพระอักษร” สว่างด้วยแสงธรรมชาติ พื้นไม้สีเข้มและเฟอร์นิเจอร์ สไตล์คลาสสิก ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านโบราณในยุโรป

ที่อยู่ : ถนนหลานหลวง แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ
เวลาทำการ : วันและเวลาราชการ ส่วนหอสมุดฯ วันจันทร์-ศุกร์ 8.30 น.- 16.30 น.
บัตรผ่านประตู : ไม่คิดค่าเข้าชม แต่เนื่องจากเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล จึงต้องเข้าชมเป็นหมู่คณะ พร้อมทําหนังสือแจ้งล่วงหน้า
การถ่ายภาพ : ถ่ายภาพได้เฉพาะภายนอก
ติดต่อ : โทร. 08-1689-3994

วังบางขุนพรหม  | อิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบบาโรกและโรโกโก
ตําหนักใหญ่ ออกแบบโดยนายมาริโอ ตามาโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี
ตําหนักสมเด็จซึ่งสร้างขึ้นภายหลัง ออกแบบโดยคาร์ล ซีกฟรีด เดอริง (Karl Siegfried Döhring) สถาปนิกชาวเยอรมัน

จากสะพานพระรามแปด หากมองมายังฝั่งพระนคร เราจะพบกับ “วังบางขุนพรหม” โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ริมแม่น้ําเจ้าพระยา เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน วังแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุล “บริพัตร”  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี

นับตั้งแต่สร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2449 ความโอ่โถงสง่างามของวังบางขุนพรหมทําให้สถานที่แห่งนี้ถูกใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และเป็นสถานที่จัดงานสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์อยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ให้ครูชาวต่างประเทศใช้จัดสอนวิชาต่างๆ ให้พระธิดาและเจ้านายฝ่ายในของวังอื่นๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 จนมีชื่อเรียกกันในสมัยนั้นว่า “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทูลกระหม่อมบริพัตรได้ย้ายออกจากวังบางขุนพรหม เสด็จไปประทับอยู่ที่ตําหนักประเสบัน เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย อย่างกะทันหัน และประทับอยู่ที่นั่นจนสิ้นพระชนม์ ปัจจุบันจาก “บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้” ได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่อยู่ : ถนนสามเสน แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เวลาทำการ : เปิดให้เข้าชมสําหรับบุคคลท่ัวไปเฉพาะวันจันทร์-อังคาร 9.00 น.-16.00 น.
บัตรผ่านประตู : ไม่คิดค่าเข้าชม หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะต้องทําหนังสือแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนเข้าชม
การถ่ายภาพ : ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ ท้ังภายนอกและภายในวัง
ติดต่อ : โทร.0-2283-5286, 0-2283-6723

ข้อมูลจาก http://www.baanlaesuan.com
 

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ตามรอยประวัติศาสตร์ 5 วัง 5 แผ่นดิน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook