จัดโต๊ะหมู่ถวายสักการะในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างไร ให้เหมาะสม
หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต หน่วยงาน บริษัท องค์กรต่างๆ ได้มีการจัดโต๊ะหมู่ถวายสักการะ ว่าแต่ต้องจัดอย่างไรถึงจะถูกหลัก Sanook! Home มีคำแนะนำจากสำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาฝาก
1.พระบรมฉายาลักษณ์ สามารถใช้ได้ทั้งภาพขาว ดำ และภาพสี แต่ต้องไม่มีตราสัญลักษณ์เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง
2.การจัดโต๊ะหมู่สามารถจัดกลางแจ้งได้ แต่ต้องดูความเหมาะสมและสมพระเกียรติ
3.เทียนที่ใช้ในเครื่อทองน้อย จะใช้เทียนสีเหลืองหรือสีขาวก็ได้
4.เครื่องทองน้อยไม่ต้องจุดในกรณีตั้งถวายราชสักการะที่อาคารสถานที่ แต่ละจุดในกรณีประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา
5.โต๊ะหมู่ไม่ต้องใช้พานพุ่มเงิน พานพุ่มทอง ให้ใช้เป็นพานพุ่มดอกไม้หรือแจกันดอกไม้แทน
6.การประกอบพิธีสงฆ์ใช้สวดมาติกา โดยใช้พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระอภิธรรมใช้พระสงฆ์ 4 รูป
7.การสดับปกรณ์คือการพิจารณาผ้าบังสุกุล กระทำในกรณีสวดมาติกา นิมนต์พระสวด 10 รูปและสดับปกรณ์ (บังสุกุล) 10 รูป
8.กรณีผูกผ้าขาว-ดำประกอบพิธีตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ใช้สีดำอยู่ด้านบนและสีขาวอยู่ด้านล่าง
9.การประดับธงชาติไทย ธงตราสัญลักษณ์ตามบ้านเรือนนั้น จะไม่มีการประดับธงในวาระเฉลิมฉลองใดๆ
10.ตัวอักษรย่อ ภปร. ในพระบรมฉายาลักษณ์ควรนำออกหรือไม่นั้น หากมีอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องนำออก แต่หากไม่มีไม่ต้องนำมาใส่
หมายเหตุ : เครื่องทองน้อยคือ เครื่องบูชาชนิดหนึ่งสําหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้บูชาเฉพาะวัตถุ เช่นพระบรมอัฐิ มีเชิงเทียน 1 เชิง เชิงธูป 1 เชิง กรวยปักดอกไม้ 3 กรวย ตั้งในพานทองลงยาราชาวดี เรียกเต็มว่า เครื่องนมัสการทองน้อย