8 ขั้นตอนเช็คลิสต์น่ารู้ก่อนสร้างบ้าน
เรื่องสร้างบ้านไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่คุณนึกอยากจะทำก็ทำ เพราะมันคือเรื่องสำคัญที่ต้องมีการวางแผน เตรียมความพร้อมล่วงหน้าว่าแต่ก่อนสร้างบ้านเราควรเตรียมความพร้อมหรือเช็ครายละเอียดในเรื่องอะไรบ้าง มาดูกัน
1.ที่ดิน สำหรับคนที่มีที่ดินอยู่แล้วถือว่าโชคดี แต่ถ้าไม่มีต้องเลือกทำเลที่สะดวกสบาย ควรเลี่ยงทำเลที่อยู่ในแหล่งมลพิษ เช่นโรงงาน โรงเลี้ยงสัตว์ หรือบ่อขยะ จากนั้นควรตรวจสอบขอบเขตที่ดินและสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเพื่อความถูกต้อง ซึ่งขอบเขตที่ดินนี้เองจะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรในการออกแบบบ้าน
2.รูปแบบและสไตล์ หลังจากมีที่ดินแล้ว สภาพแวดล้อมเช่นเพื่อนบ้าน ทางเข้า ถนน ฯลฯ รวมถึงความต้องการใช้งานจะส่งผลต่อการกำหนดรูปแบบของบ้านว่าจะเป็นชั้นเดียว สองชั้นหรือสามชั้น แสงแดดและทิศทางลมประจำฤดู ลมประจำถิ่น ฯลฯ จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบของบ้าน เช่นการวางพื้นที่ต่างๆ ช่องเปิดประตูหน้าต่าง นอกจากนั้นจะเป็นเรื่องของความชอบส่วนบุคคล คือสไตล์บ้านที่ชื่นชอบ
3.พื้นที่ใช้งานและงบประมาณเบื้องต้น เมื่อกำหนดรูปแบบและสไตล์ได้แล้ว ต่อไปก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในบ้านต้องพูดคุยกันซึ่งแต่ละคนในบ้านย่อมมีความต้องการพื้นที่ใช้สอยแตกต่างกัน แต่เพื่อให้ทุกคนมีทั้งพื้นที่ส่วนตัวและส่วนรวม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน นอกจากนั้นยังเป็นตัวกำหนดงบประมาณในขั้นต้นได้อีกด้วย
หมายเหตุ : ค่าก่อสร้างโดยประมาณ = พื้นที่ใช้งาน X ราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตร ค่าก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม 10,000 - 18,000 บาท/ตร.ม. และงานตกแต่งภายใน 4,000-8,000 บาท/ตร.ม.
4.วางแผนการใช้จ่าย เมื่อทราบค่าก่อสร้างแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ อีก เราอาจวางแผนการใช้จ่ายเบื้องต้นได้จากข้อมูลสถิติอัตราส่วนงบประมาณที่ใช้ในการปลูกบ้านดังนี้
-งานสถาปัตยกรรม 60 % + ค่าออกแบบ 7.5 %
-งานตกแต่งภายใน 20 % + ค่าออกแบบ 2.5 %
-งานสวน 4 % + ค่าออกแบบ 1%
-ค่าดำเนินการ 3 % + ค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 2 %
5.การเลือกผู้ออกแบบและการออกแบบ เราควรเลือกนักออกแบบที่มีประสบการณ์และผลงานออกแบบในสไตล์เดียวกับสไตล์บ้านที่เราชอบ และหากต้องการจ้างนักออกแบบตกแต่งภายในหรือนักออกแบบสวนควรแจ้งให้นักออกแบบในทุกส่วนงานทราบ เพื่อให้นักออกแบบทุกคนเตรียมตัวประสานงานเพื่อทำงานให้สอดคล้องกัน ในขั้นตอนของการออกแบบ เจ้าของบ้านควรแจ้งให้ผู้ออกแบบทราบถึงจำนวนและลักษณะของสมาชิกในครอบครัว พื้นที่ใช้งาน และสไตล์หรือรูปแบบของบ้านเพื่อเป็นข้อมูลให้นักออกแบบนำไปทำงานต่อ
6. การขออนุญาตก่อสร้าง ทั่วไปก่อนเริ่มก่อสร้างต้องเขียนใบคำร้องขออนุญาตปลูกสร้างที่สำนักงานเขต และต้องเตรียมเอกสารต่างๆ เช่นแบบก่อสร้างที่มีลายเซ็นต์ของวิศวกรและผู้ออกแบบกำกับ รายการคำนวณโครงสร้างของวิศวกร หลักฐานใบประกอบวิชาชีพของวิศวกรและผู้ออกแบบสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดิน หนังสือเซ็นอนุญาตการใช้ที่ดินจากเจ้าของที่ดินพร้อมสำเนาโฉนดที่ดิน ซึ่งระยะเวลาในการขออนุญาตจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 45 วัน
7.การคัดเลือกและการจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง นิยมใช้วิธีประกวดราคา เบื้องต้นอาจคัดเลือกผู้รับเหมาโดยขอดูผลงานการก่อสร้างที่ผ่านมาให้ได้ผู้รับเหมาประมาณ 3 รายหลังจากนั้นจึงส่งแบบก่อสร้างให้ผู้รับเหมาไปจัดทำเอกสารเสนอราคาค่าก่อสร้าง และนำมาขอความคิดเห็นและเปรียบเทียบกับราคากลางจากผู้ออกแบบ เพื่อช่วยตัดสินใจ
8.วางแผนการควบคุมงานก่อสร้างและการส่งมอบงาน หากเราไม่มีประสบการณ์มาก่อนควรหาผู้ควบคุมงานที่มีความรู้มาเป็นผู้ดูแลแทน แต่เจ้าของบ้านก็ควรหมั่นตรวจสอบความเรียบร้อยของสถานที่ก่อสร้างอยู่เสมอ ในระหว่างก่อสร้างอาจมีการส่งมอบงานเป็นงวดเพื่อให้ผู้รับเหมาเบิกค่าใช้จ่าย ตามแต่จะตกลงกัน ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไว้ให้พร้อมตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ เช่นเมื่อเสร็จสิ้นงานโครงสร้าง เสา คาน พื้น 30 % เมื่อเสร็จสิ้นงานหลังคา ก่ออิฐฉาบปูน 30 % เมื่องานเสร็จทั้งหมด 40 % เป็นต้น และโดยทั่วไปผู้รับเหมาต้องรับประกันการก่อสร้างเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี การสร้างเงื่อนไขการรับประกันทำได้โดย เมื่อเจ้าของบ้านจ่ายเงินงวดสุดท้าย ควรให้ผู้รับเหมาออกเช็คส่วนตัวค้ำประกันประมาณ 5 % ไว้ให้ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องระบุไว้ในสัญญาว่าจ้างตั้งแต่ต้นด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจาก หนังสือ My Home My Style ของ SCG