นั่งเล่นในบ้านเรือนไทย

นั่งเล่นในบ้านเรือนไทย

นั่งเล่นในบ้านเรือนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าแต่ละคนย่อมมีมุมโปรดในบ้านที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เมื่อกล่าวถึงการนั่งหรือนอนเอกเขนกสบาย ๆ ตามมุมต่าง ๆ ในบ้าน ผมมักคิดถึงการนั่งพักผ่อนในบ้านเรือนไทยที่แฝงภูมิปัญญา ของคนสมัยก่อน ซึ่งนิยมจัดมุมนั่งเล่นไว้ในแต่ละส่วนของเรือน “รู้ทีละนิด” ฉบับนี้ขอพาไปรู้จักการนั่งเล่นในพื้นที่ต่างๆ ของบ้านเรือนไทย เพื่อเป็นไอเดียให้คุณนำไปปรับใช้กับการออกแบบมุมพักผ่อนในบ้านของตัวเองกันครับ

นั่งใต้ถุนบ้าน

ที่มา : ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น ช่วงบ่ายจะมีแสงแดดจัด จึงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันความร้อนและการทำให้บ้านเย็น ภูมิปัญญาหนึ่งในบ้านเรือนไทยคือการยกพื้นใต้ถุนสูงซึ่งจะทำให้ลมพัดผ่านใต้ถุนเรือนและยังได้ตัวเรือนช่วยบังแดดอีกด้วย ผู้อยู่อาศัยยังใช้พื้นที่นี้สำหรับนั่งพักผ่อน รับแขก ทำงานหัตถกรรม หรือเลี้ยงสัตว์ได้ โดยจัดวางแคร่หรือแขวนเปลไว้กับเสาเรือนในทิศทางที่หลบแสงแดด

การปรับใช้ : ลองเลือกปรับปรุงบ้านให้มีพื้นที่ใต้ถุน โดยการเอาผนังชั้นล่างของบ้านออกบางส่วน แล้วจัดชุดโซฟาดีๆ สักชุด เลือกตำแหน่งที่ไม่โดนแดดและอยู่ใกล้ กับสวนจัดเอง ก็จะช่วยให้คุณมีจุดนั่งพักผ่อนที่เย็นสบายและมีจุดพักสายตาที่ดี

นั่งที่บันได

ที่มา : ด้วยเหตุที่บ้านเรือนไทยยกพื้นใต้ถุนสูง จึงต้องมีบันไดไว้ขึ้นเรือน ซึ่งตามขั้นบันไดก็สามารถปรับเป็นมุมนั่งเล่นได้ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มักใช้พื้นที่นี้ ในการเล่น เนื่องจากมีระดับสูง - ต่ำดูน่าสนุก ทั้งยังไม่รบกวนพื้นที่ใต้ถุนที่ผู้ใหญ่ ใช้พักผ่อน บ้านเรือนไทยบางแห่งอาจทำที่นั่งบริเวณชานพักบันไดไว้ด้วย

การปรับใช้ : สำหรับบ้านที่มีบันไดอยู่ภายนอกอาจปรับมุมบันไดเป็นที่นั่ง พักผ่อนได้โดยเพิ่มขนาดแผ่นลูกนอนให้ใหญ่ขึ้น สามารถนั่งและใช้วางของตกแต่งได้ หรือนำลูกตั้งของขั้นบันไดออกเพื่อให้สามารถนั่งสอดขาเข้าไปได้ และยังช่วยให้บันไดดูโปร่งโล่ง ลมพัดผ่านได้ โดยส่วนของระเบียงอาจทำเป็นที่นั่ง ที่เป็นส่วนหนึ่งของราวระเบียงกันตกไปในตัว

นั่งชานบ้านและในบ้าน

ที่มา : บ้านเรือนไทยภาคเหนือจะมีส่วนที่เรียกว่า “เติ๋น” เป็นพื้นที่หน้าห้องนอน ที่ยกพื้นสูงจากระดับชานเรือนประมาณ 40 เซนติเมตร โดยเว้นช่องว่างที่ยกพื้นไว้ ไม่ตีไม้ปิด ช่องนี้เรียกว่า “ช่องแมวลอด”  สำหรับนั่งหย่อนขาและส่องดูใต้ถุนบ้าน ได้  พื้นที่ในส่วนนี้ยังคงได้ชายคาบังแดดอยู่ ถัดมาเป็นการนั่งภายในห้องที่มีผนังล้อมรอบ มีการเจาะช่องหน้าต่างให้ระดับอยู่ค่อนข้างต่ำ เพื่อให้พอดีกับระดับ สายตาในการนั่งพื้น ซึ่งจะมองเห็นทัศนียภาพภายนอกได้ และมักจัดวางโต๊ะเตี้ย กับหมอนขิดหรือหมอนสามเหลี่ยมในมุมนี้ด้วย  

การปรับใช้ : เลือกปรับพื้นที่บางส่วนในบ้านเป็นส่วนที่ยกพื้นสูงจากระดับพื้น ปกติเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นที่นั่งพักผ่อนแบบนั่งพื้น จัดวางเครื่องเรือนที่ให้ บรรยากาศแบบบ้านเรือนไทยหรือบ้านญี่ปุ่น ซึ่งจะได้พื้นที่อเนกประสงค์สำหรับ นั่งและนอน ในนบางโอกาสเมื่อย้ายเครื่องเรือนออกแล้ว ยังสามารถปรับเป็นพื้นที่โล่ง สำหรับกิจกรรมต่างๆ เช่นทำบุญบ้าน หรือรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ได้อีกด้วย

ขอบคุณ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook