สารพัดเรื่องกวนใจ ควรเลี่ยงไว้ถ้าไม่อยากมีปัญหากับ "เพื่อนบ้าน"

สารพัดเรื่องกวนใจ ควรเลี่ยงไว้ถ้าไม่อยากมีปัญหากับ "เพื่อนบ้าน"

สารพัดเรื่องกวนใจ ควรเลี่ยงไว้ถ้าไม่อยากมีปัญหากับ "เพื่อนบ้าน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากข่าวคุณป้าทุบรถเพราะมีคนมาจอดรถขวางประตูเข้า-ออกบริเวณหน้าบ้านตนเอง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่านอกจากปัญหาเรื่องการจอดรถบริเวณหน้าบ้านผู้อื่นแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกันในหมู่บ้าน หรือระแวกเดียวกัน มักจะเจอปัญหาระหว่างเพื่อนบ้านหลายเรื่อง บางเรื่องเป็นเรื่องเล็ก บางเรื่องจากเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ บางครั้งในฐานะบ้านใกล้เรือนเคียงครั้งแรกๆ อาจไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งจากเพื่อนบ้านอาจกลายเป็นศัตรูที่อยู่รั้วติดกัน Sanook! Home จึงรวบรวมปัญหากวนใจที่อาจทำให้เกิดผลกระทบกับมิตรภาพระหว่างเพื่อนบ้าน

1.ใครคือผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง

หลายครั้งที่เราได้ทราบว่ามีปัญหาการลุกล้ำที่ดินของคนอื่นนั้นเป็นเพราะคนๆ นั้นอาจขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องขอบเขตและกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างเข้าไปในที่ดินของคนอื่น โดยคิดว่าตัวเองสามารถทำได้เพราะไม่ได้ละเมิดผิวดิน แต่ในทางกฎหมายแล้วกรรมสิทธิ์ของที่ดินนั้นครอบคลุมทั้งเหนือพื้นดินและใต้พื้นดิน การจะต่อเติมหรือปลูกสร้างใดๆ เข้าไปยังที่ดินของเพื่อนบ้านถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นทางกฎหมาย เจ้าของที่ดินสามารถฟ้องร้องและเรียกค่าเสียหายได้ ดังนั้นหากคิดจะต่อเติมบ้านควรศึกษาเรื่องกฎหมายให้ชัดเจนก่อนว่าควรเว้นระยะถอยร่นจากแดนกรรมสิทธิ์เท่าไร หรือควรมีการพูดคุยกับบ้านข้างเคียงก่อนในกรณีที่เราต้องการต่อเติมเพื่อชิดเขตแดนกรรมสิทธิ์ เพราะหากบ้านใกล้เคียงไม่ยินยอมขึ้นมาอาจเกิดการฟ้องร้องขึ้นในภายหลัง

2.เรื่องรั้วไม่ใช่เรื่องเล็ก

ไม่ว่าจะเป็นรั้วประเภทใดถือเป็นเขตแดนที่ทั้งสองบ้านต้องรับผิดชอบร่วมกัน เมื่อต้องมีการซ่อมแซมจะต้องออกค่าใช้จ่ายร่วมกัน และตามหลักกฎหมายในแต่ละพื้นที่มักจะระบุความสูงของรั้วบ้านที่ต่างกันออกไป บางแห่งเข้มงวดเรื่องแบบและวัสดุที่ใช้ แต่ส่วนใหญ่จะระบุความสูงรั้วหลังบ้านไว้ไม่เกิน 1.8 เมตร รั้วหน้าบ้านสูงไม่เกิน 1.2 เมตรส่วนรั้วต้นไม้สามารถสูงได้ถึง 2.4 เมตร กรณีต้องการต่อเติมรั้วฝั่งของเราให้สูงขึ้นด้วยเหตุผลใดก็ตาม เรามีสิทธิทำได้โดยไม่จำเป็นต้องให้เพื่อนบ้านอีกด้านยินยอมเพราะเป็นการสร้างรั้วในแนวเขตที่ดินของเราเอง และไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของที่ดินข้างเคียง แต่ห้ามสูงเกิน 3 เมตร

3.ฝนจากหลังคาสร้างปัญหาใหญ่

แม้เราจะไม่ได้สร้างหลังคาล้ำเข้าไปในเขตแดนกรรมสิทธิ์เพื่อนบ้าน แต่ในกรณีถ้าฝนตกแล้วน้ำฝนจากหลังคาบ้านเราไหลข้ามเขตแดนไปยังบ้านข้างเคียงจนอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเพื่อนบ้านเช่น เกิดน้ำท่วมขัง ดินถูกกัดเซาะ หรือถ้าบริเวณนั้นในพื้นที่ข้างเคียงมีสิ่งของวางอยู่และเกิดความเสียหายจากน้ำฝนจากหลังคาเรา จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ง่าย โดยเพื่อนบ้านสามารถฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน หรือสั่งให้มีการรื้อถอนได้ ดังนั้นวิธีที่แนะนำคือการสร้างรางรองรับการระบายน้ำฝนที่ตกจากหลังคา

4.แสงแดด อากาศ วิว ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

แม้สิ่งเหล่านี้จะไม่มีใครสามารถถือกรรมสิทธิ์ครอบครองได้ แต่ถ้าเราคิดสร้างสิ่งปลูกสร้าง ต่อเติมบ้าน หรือปลูกต้นไม้จนอาจทำให้บดบังวิวผู้อื่นนั้นควรมีการพูดคุย หรือเจรจากับเพื่อนบ้านก่อน และควรศึกษากฎระเบียบของพื้นที่นั้นๆ ให้ดีก่อน เพราะบางพื้นที่ทางกฎหมายระบุว่าห้ามปลูกต้นไม้สูงหรือสร้างสิ่งก่อสร้างที่จะทำให้บดบังวิวของเพื่อนบ้านและคนส่วนใหญ่ มิเช่นนั้นเจ้าของบ้านที่ถูกบังวิวสามารถยื่นฟ้องร้องเพื่อรักษาสิทธิ์ชมวิวของตนเองได้

5.บ่อ สระ หลุมต้องทำตามกฎหมาย

ใช่ว่าคิดจะปรับปรุงพื้นที่ต่างๆ ก็สามารถทำได้ตามอำเภอใจ เพราะการขุดบ่อ ขุดสระ หรือหลุมต่างๆ นั้นควรคำนึงถึงกฎระเบียบก่อนลงมือทำ เพราะการขุดดิน บ่อน้ำหรือสระน้ำกฎหมายระบุไว้ว่าต้องขุดห่างจากเขตแบ่งแดนของอีกฝ่ายหนึ่งไม่น้อยกว่า 2 เมตร และเมื่อขุดแล้วต้องระมัดระวังไม่ให้ดินพังอีกด้วย นอกจากนี้ถ้าขุดหลุมส้วมหรือบ่อทิ้งน้ำเสียต้องทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะน้ำชำระส้วมและน้ำในหลุ่มทิ้งน้ำเสียอาจซึมลงใต้ดินไม่หมด และซึมเข้าไปในที่ดินของเพื่อนบ้านได้ ถ้าเกิดน้ำขังอาจส่งกลิ่นเหม็นรบกวนจนทำให้เกิดปัญหาตามมา หากเป็นเช่นนี้เพื่อนบ้านสามารถเอาผิดได้

6.ต้นไม้อาจกลายเป็นปัญหา

ต้นไม้ที่ปลูกไว้สวยงาม หวังกินดอกผลในฝั่งบ้านเราอาจก่อให้เกิดปัญหากับบ้านใกล้เรือนเคียง ไหนจะกิ่งที่รุกล้ำเข้าไป หรือต้นไม้โอนเอนจนรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยแม้ตามหลักแล้วเราจะสามารถตัดกิ่งไม้ที่ยื่นเข้ามาในฝั่งบ้านเราได้ แต่เราไม่มีสิทธิตัดต้นไม้ของเพื่อนบ้านทั้งต้นทิ้งไป นอกจากเรื่องกิ่งก้านรุกล้ำเขตแดนกรรมสิทธิ์แล้ว ยังมีข้อสงสัยเรื่องดอกผลของต้นไม้จากเพื่อนบ้านว่าเราสามารถเก็บรับประทานได้ไหม ในความเป็นจริงทางกฎหมายแม้ดอกผลเหล่านั้นจะยื่นเข้ามาในเขตแดนบ้านของเรา แต่เราไม่สามารถเด็ดไปกินได้ทันที เพราะเราควรขออนุญาตจากเจ้าของบ้านก่อน ถ้าเจ้าของต้นไม้ไม่ยินยอมเขามีสิทธิ์ทวงคืนจากเราได้ เว้นแต่ว่าดอกผลเหล่านั้นจะหล่นลงมาบนที่ดินของเราเองตามธรรมชาติ รวมทั้งยังห้ามแอบอ้างไปเด็ดมาแล้วบอกว่าเป็นการร่วงตามธรรมชาติ เพราะอาจมีความผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์หรือลักทรัพย์ ติดคุกได้เลย

7.สัตว์เลี้ยงที่ไม่น่ารักเสมอไป

ไม่ว่าสุนัข หรือแมวของเราอาจจะไม่ได้น่ารักสำหรับคนอื่น เพราะบางทีพวกมันอาจเข้าไปสร้างความเดือดร้อน รำคาญใจในเขตบ้านของผู้อื่น ซึ่งเพื่อนบ้านมีสิทธิ์เรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าของสัตว์ได้ ในขณะเดียวกันถ้าสัตว์ของเราไปสร้างความเดือดร้อนจนเพื่อนบ้านโกรธหรือไม่พอใจ เขาไม่สามารถทำร้ายสัตว์หรือฆ่าสัตว์เพื่อเป็นการเอาคืนได้ เพราะจะถือว่ามีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และอาจถูกฟ้องร้องฐานละเมิด นอกจากความเสียหายต่างๆ เหล่านั้นแล้ว ถ้าสัตว์เลี้ยงเราส่งเสียงรบกวนเพื่อนบ้านเขามีสิทธิ์แจ้งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ดูแลสัตว์ได้ หรืออาจขออำนาจศาลสั่งแก้ปัญหานี้ได้ทันที

8.กลิ่นที่เพื่อนบ้านไม่ประสงค์

แม้แต่เรื่องกลิ่นเองยังอาจเป็นปัญหาที่ทำให้เพื่อนบ้านขัดใจกันได้ เพราะบ้านเราเป็นแหล่งก่อสารพัดกลิ่นทั้งขยะ กลิ่นการประกอบอาหาร น้ำเน่า กลิ่นจากบ่อบำบัดน้ำเสียซึ่งนอกจากส่งผลกระทบกับคนในบ้านเราเองแล้ว ยังมีผลต่อบ้านใกล้เรือนเคียงด้วย หรือแม้บางคนบอกว่ากลิ่นอาหารหอมฟุ้งที่เราทำอาจไม่ได้รบกวนบ้านอื่น แต่ในทางกฎหมายแล้ว ถ้ากลิ่นประกอบอาหารของเราก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนอื่นก็ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย เพื่อนบ้านสามารถฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้

9.การจอดรถ

ปัญหาสำคัญที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้นั่นคือเรื่องการจอดรถ เพราะพื้นที่ของบ้านนั้นส่วนใหญ่มีจำกัด โดยเฉพาะถ้าเป็นทาวน์เฮาส์หรืออาคารพาณิชย์ต่างๆเราจึงเห็นคนส่วนใหญ่มาจอดรถไว้บริเวณหน้าบ้าน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกฎของแต่ละท้องถิ่นว่าห้ามไม่ให้นำรถมาจอดบริเวณสาธารณะเพื่อความเป็นระเบียบ แต่บางท้องถิ่นก็อนุญาตให้ทำได้ แต่สำหรับกรณีป้าทุบรถที่เป็นข่าวอยู่นั้นถือเป็นการจอดรถขวางทางเข้าออกของคนอื่น ทำให้ป้าเจ้าของบ้านไม่สามารถนำรถเข้าหรือออกจากบ้านตนเองได้ ทางกฎหมายถือว่ากระทำความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญใจ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 397  สำหรับในกรณีทั่วไปถ้าเรามีเหตุจำเป็นต้องจอดหรือมีเพื่อนมาเยี่ยมแล้วที่จอดรถไม่เพียงพอควรขออนุญาตเพื่อนบ้านก่อน

อ่านต่อ >> เจ้าของรถกระบะถูกทุบ รับผิดคิดว่าบ้านนี้ไม่มีคนอาศัย แต่ไม่น่ามาทุบรถ


10.เสียงรบกวน

คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับเรื่องเสียงที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเสียงนั้นสร้างปัญหาของการอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ตามกฎหมายแล้วถือว่าเป็นความผิดดังนั้นถ้าเราจำเป็นต้องใช้เสียงจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงาน การเปิดเพลง ฯลฯ ควรขออนุญาตเพื่อนบ้านก่อนเพื่อไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น โดยกฎหมายระบุไว้ว่าเวลาเงียบสงบคือระหว่างเวลา 22.00 น.-07.00 น. สำหรับวันธรรมดา และถ้าเป็นวันหยุดตั้งแต่เวลา 22.00 น.-09.00 น. ดังนั้นเราไม่ควรจะส่งเสียงในช่วงเวลานั้นเพื่อละเมิดสิทธิของคนอื่น


   
      

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook