Paperspace คอมมูนิตี้มิติใหม่ฝีมือสถาปนิกไทย

Paperspace คอมมูนิตี้มิติใหม่ฝีมือสถาปนิกไทย

Paperspace คอมมูนิตี้มิติใหม่ฝีมือสถาปนิกไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เราภูมิใจที่จะบอกว่าเราเป็นคนไทย วันหนึ่งที่เราได้ไปอยู่ตรงจุดนั้นแล้วเราบอกว่าเรามาจากกรุงเทพฯ ประเทศไทยนะ มันอาจจะต้องใช้เวลาจากนี้ไปอีก 10 - 20 ปี แต่เราก็อยากไปอยู่ตรงจุดนั้นให้ได้" จากคำพูดที่สะท้อนผ่านมุมมองของผู้ก่อตั้ง ทำให้นี่กลายเป็นหนึ่งในความตั้งใจอันแรงกล้าซึ่งเป็นแรงผลักดันคอมมูนิตี้แห่งนี้ให้ถือกำเนิดขึ้น...

Paperspace เกิดจากการรวมตัวกันของ 4 สถาปนิกฝีมือดีอย่างคุณสมบัติ งามเฉลิมศักดิ์, คุณชนิดาภา มาประณีต, คุณดิศพงษ์ ดิศกุล ณ อยุธยา และคุณทรงกิต ขอถาวรวงศ์ ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการสร้างเครือข่ายของสถาปนิกไทยให้มีความแข็งแกร่งและโดดเด่นในเส้นทางแห่งงานดีไซน์ ด้วยการมองว่าคอมมูนิตี้แห่งนี้จะเป็นสถานที่ซึ่งรวบรวมเอานักออกแบบฝีมือดีที่อยู่คนละทิศทางเข้ามาไว้ด้วยกัน เปรียบเสมือนหน้ากระดาษในโปรแกรมทางสถาปัตยกรรมที่รวบรวมผลงานออกแบบแต่ละส่วนซึ่งกระจัดกระจายอยู่นำมาประกอบกันขึ้นจนกลายเป็นผลงานที่สมบูรณ์...

หากเราลองจินตนาการถึงการปลูกต้นไม้สักต้น เมื่อเราเริ่มลงมือเตรียมดินและคัดสรรเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดแล้ว Paperspace คงเปรียบเสมือนผืนดินที่พร้อมรับเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว รวมถึงต้นกล้าและต้นไม้อื่นๆ จากทั่วทุกทิศมาปลูกรวมไว้ในที่เดียวกัน หากแต่ต้องอาศัยการรดน้ำที่ถูกวิธีและเลือกปุ๋ยที่ถูกกับชนิดของต้นไม้นั้นๆ ด้วย เพื่อวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะเจริญเติบโตขึ้นและกลายเป็นผืนป่าอันสวยงาม ด้วยความคิดนี้จึงเป็นที่มาของการเนรมิตคอมมูนิตี้มิติใหม่ขึ้นในย่านสามเสน เพื่อใช้เป็นที่พบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ของเหล่าฟรีแลนซ์ฝีมือดีทั้งหลาย ที่มีความสนใจในการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน "เรามองว่าการได้พูดคุยกัน มันอธิบายความตั้งใจของเราได้ดีกว่า เมื่อเราเจอคนที่น่าสนใจ เราก็จะนัดเจอและคุยกันไปเรื่อยๆ เพราะเราอยากรู้จักเขา ถ้าหากวันหนึ่งมีงานที่เหมาะกับเขาเราก็จะส่งต่อให้ทันที" 

นอกเหนือจากอาคารสีดำทรงเสน่ห์ที่กำลังจะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่บริเวณสามเสน ที่แห่งนี้ยังมีทั้งร้านกาแฟและร้านอาหารตั้งรออยู่เป็นทุนเดิม คอยช่วยเสริมทัพให้คอมมูนิตี้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เพื่อให้บริเวณโดยรอบสามารถเติบโตและตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง...แบบแปลนภายในส่วนของสำนักงานนี้ถูกดีไซน์ขึ้นมาโดยมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโซน Co-Creative Space สำหรับรวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงาน , Livable Showroom สำหรับจัดแสดงเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถทดลองใช้งานได้จริง, Meeting room สำหรับงานประชุม , Project room สำหรับงานโปรเจคโดยเฉพาะ และ Material library สำหรับเลือกวัสดุให้เหมาะกับงานที่ออกแบบ นอกจากสถาปนิกและดีไซเนอร์จะสามารถใช้พื้นที่ในการทำงานได้อย่างเต็มที่แล้วยังสามารถเสาะหาเฟอร์นิเจอร์และวัสดุต่างๆ ให้เข้ากับงานออกแบบของตนเองได้ไม่ยาก

ส่วนบรรยากาศและการตกแต่งภายในมีการเลือกใช้โทนสีที่ดูอบอุ่นสบายตาและเป็นมิตร เพื่อให้การนั่งทำงานเป็นไปอย่างมีความสุข โดยการเลือกใช้ความเป็นอินดัสเตรียลลอฟท์ผสมผสานกับรูปแบบของความเป็นโมเดิร์นได้อย่างลงตัว แต่ให้ความรู้สึกที่เรียบง่ายและดูไม่สมบูรณ์แบบจนเกินไป "เราสร้างที่แห่งนี้ให้เปรียบเสมือนโกดังที่เพิ่งเริ่มต้นก่อสร้าง ดูไม่เป็นทางการ เพราะเราชอบคำนิยามหนึ่งที่ว่า ทั้งหมดที่เรามีนั้นมันเป็นเพียงแค่ 1% ยังเหลืออีก 99% ที่ทำให้เราต้องก้าวเดินไปข้างหน้าและทำให้มันเติบโตขึ้นอีกเรื่อยๆ" นอกเหนือจากการสร้างคอมมูนิตี้เพื่อเป็นศูนย์รวมของสถาปนิกและดีไซน์เนอร์ชาวไทย หนึ่งในผู้ก่อตั้งยังเล่าถึงความตั้งใจให้เราฟังอีกหนึ่งอย่างว่า หากเราได้นำความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่บวกกับการจัดโปรแกรม Training ให้กับเหล่าดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่นี้ทั้งในเรื่องของการทำงานและเทคนิคต่างๆ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพื้นที่แห่งนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับเค้าได้ไม่มากก็น้อย "ผมเชื่อว่าถ้าเรารวมตัวกัน การสร้างคุณภาพและอัพสกิลของทุกคนขึ้นมาได้ จะทำให้เขาเป็นเครือข่ายที่ดีและทำผลงานดีๆให้กับเรามากขึ้น เราจะยิ่งแข็งแกร่งมันเหมือนเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมากกว่า"ถ้าหากพื้นที่แห่งนี้เป็นผืนดินที่เตรียมไว้สำหรับเพาะปลูกต้นไม้ Paperspace ก็คงเป็นต้นกำเนิดของป่าผืนใหม่ที่กำลังเพาะเมล็ดพันธุ์และบ่มต้นกล้าให้เติบโต แม้ไม่รู้ว่าต้นไม้จะสูงใหญ่ได้สักแค่ไหน ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ป่าผืนนี้จะสมบูรณ์ได้หรือไม่ แต่จากความตั้งใจของทั้งสี่คนนี้ก็ทำให้คอมมูนิตี้แห่งนี้กำลังจะถือกำเนิดขึ้นในไม่ช้าและรอเวลาที่จะประกาศความมุ่งมั่นของพวกเขาให้ทุกคนได้รับรู้อีกครั้งว่า "เราภูมิใจที่จะบอกว่าเราเป็นคนไทย วันหนึ่งที่เราได้ไปอยู่ตรงจุดนั้นแล้วเราบอกว่าเรามาจากกรุงเทพฯ ประเทศไทยนะ มันอาจจะต้องใช้เวลาจากนี้ไปอีก 10 - 20 ปี แต่เราก็อยากไปอยู่ตรงจุดนั้นให้ได้" 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook