ประสบการณ์ "หาบ้าน" และย้ายบ้านในญี่ปุ่น
"หาบ้าน" เรื่องปวดหัวที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับคนที่อยากอยู่ญี่ปุ่นยาวๆ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และความยุ่งยากต่างๆกับระบบที่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก หากใครกำลังวางแผนหาบ้านและย้ายบ้านที่ญี่ปุ่นละก็ไปดูกันเลยว่าต้องเตรียมรับมือกับอะไรบ้าง
ประสบการณ์หาบ้านสุดขยาด
เชื่อว่าเมื่อเกริ่นคำว่า ”หาบ้าน” กับคนไทยในญี่ปุ่นที่เคยผ่านประสบการณ์หาบ้านด้วยตัวเองมาแล้ว แทบทุกคนต้องถอนหายใจหนึ่งเฮือกก่อนตอบแน่นอน ทั้งยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายมาก ช่างต่างกับที่ไทยเสียเหลือเกิน (ใครที่ติดว่ามีเงินเยอะจะจัดการอะไรได้สะดวกนั้น คงใช้ที่ญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่มาช่วยสร้างความวุ่นวายมากมาย) มาดูกันดีกว่าว่าหาบ้านที่ญี่ปุ่นต้องเตรียมตัว (เตรียมใจและเตรียมเงิน) อย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย
ขั้นตอนการหาบ้าน
วิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุดคือไปหานายหน้าขายบ้าน หรือที่เรียกว่า ฟุโดซัง (不動産) แนะนำให้ไปสาขาใกล้ๆบริเวณที่เราอยากจะย้ายไปอยู่ เพราะนายหน้าจะได้พาเราไปดูได้สะดวก เราเองก็ตัดสินใจได้เร็ว
1. เมื่อเข้ามาในร้าน นายหน้าก็จะให้เรากรอกรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับตัวเรา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร (จะได้เอาไว้ตามได้55) และเงื่อนไขแบบบ้านที่เราอยากได้ เช่น ต่อเดือนมีงบค่าเช่าเท่าไร ต้องเป็นห้องชั้น 2 ขึ้นไป หรือต้องมีระเบียง และต้องการห้องส้วมแยกกับห้องอาบน้ำหรือไม่ (ญี่ปุ่นนั้นมีแบบห้องส้วมกับห้องอาบน้ำรวมกันซะเยอะจนเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่อยากได้ก็ต้องระวังตอนหาด้วย) และหากมีสเปคอื่นๆที่ต้องการ เช่นอยากได้ตึกที่มีลิฟท์ หรือประตูออโต้ล็อก เตาแก๊ส อะไรก็ว่าไป แนะนำว่าให้กรอกตรงกับที่เราอยากได้มากที่สุด เพราะจะประหยัดเวลาในการหาได้เยอะมาก
2. หลังจากกรอกรายละเอียดแล้ว นายหน้าก็จะเลือกห้องหลายๆห้องมาให้เราเลือกดู สำหรับใครที่อยู่โตเกียวหรือตามเมืองใหญ่ๆ ทำใจเอาไว้เลยว่าค่าเช่านั้นโหดแสนโหด แบ่งระดับ (ความโหด) ของราคาและแบบห้องไว้ได้ดังนี้
**ราคาประมาณนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวจากการหาห้องเช่าใจกลางเมืองโตเกียว นะคะ อย่างเช่น 23 เขตปกครองพิเศษของโตเกียว หากไกลออกไปจะมีห้องถูกกว่านี้อีกมากมายค่ะ แต่ก็ต้องนั่งรถไฟนานหน่อย
ราคาต่ำกว่า 50,000 เยน ---ทำใจไว้เลยว่าห้องน่าจะประมาณ 1R (1R = ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว อยู่ในห้องเดียวกันไม่ได้แยกสัดส่วน คนไทยเรียกว่าสตูดิโอ) ห้องส้วมมักจะรวมกับห้องอาบน้ำ หรือ ถ้าโชคดีได้ห้องแบบ 1K (1K = ห้องนอน กับห้องครัวแยกสัดส่วนกัน) ส่วนมากจะอายุเก่าประมาณ 30 ปีขึ้นไป หรือภายในห้องเป็นเสื่อญี่ปุ่นทาทามิหรือไม่ก็อยู่ชั้น 1 ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัย (ประตู Auto-Lock) แต่ส่วนมากราคาน้อยกว่า 50,000 เยน ห้องกว้างขนาด 1 K นั้นน้อยมาก นอกเสียว่าจะยอมอยู่ไกลจากตัวเมืองเล็กน้อย อยู่สายรถไฟที่ไกลออกไป เป็นต้น
50,000-60,000 เยน--- ในเรทนี้ส่วนมากก็ยังอยู่ในระดับห้องแบบ 1R แต่ห้องใหม่ขึ้นมาเล็กน้อย ก่อนที่ดิฉันจะย้ายห้องใหม่เคยอยู่ห้องเดือนละ 56,000 เยน (ยังไม่รวมค่าส่วนกลาง) ได้ห้อง 16 ตร.ม. เท่านั้น (น้ำตาจะไหล) เข้าไปเดินสามสี่ก้าวก็สุดปลายทาง เพราะดิฉันอยู่ในเขตชินจูกุ (ย่านสุดแพงประมาณสีลมของเรา) เลือกที่ใกล้มหาลัยเลยได้ห้องเพียงเท่านี้ และโดยทั่วไปแล้วห้องในตัวเมือง ราคาในช่วงนี้จะไม่มีออฟชั่นมาก เช่น ห้องที่ดิฉันเคยเช่าไม่มีที่วางเครื่องซักผ้า เวลาจะซักต้องทนหนาวแบกเสื้อผ้าไปร้านเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญเอา ไม่มีตู้เสื้อผ้า ไม่มีที่จอดจักรยาน ไม่มีประตูล็อคอัตโนมัติ (ว่าง่ายๆว่าห้องเปล่าจริงๆ) เป็นต้น
60,000-75,000 เยน ---ห้องหายใจหายคอมาได้บ้าง โดยเฉพาะผู้ที่มีสัมภารกเยอะอย่างดิฉัน ราคาช่วงนี้จะได้ห้องใหญ่ขึ้นมาหน่อย เช่นประมาณ 20 ตร.ม. ขึ้นไป หรือเป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น เช่น มีที่วางเครื่องซักผ้าภายในห้อง ห้องแดดส่องทั่วถึงไม่อับ หรือเดินถึงสถานีภายใน 10 นาที คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามระดับราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นเอง
75,000 เยนขึ้นไป ---สำหรับใครที่งบเริ่มหนักขึ้น ชีวิตในห้องก็จะสุขสบายยิ่งขึ้น นายหน้าเคยพาดิฉันไปดูห้องราคา 80,000 กว่าเยน คุณพระไม่อยากจะกลับห้องตัวเองเลยตั้งแต่นั้นและก็เคลิบเคลิ้มไปกับนายหน้าว่าห้องนี้ดีอย่างนู้นอย่างนี้จริงๆ เพราะในห้องมีคุณสมบัติทุกอย่างที่ชีวิตคนเราจะสบายขึ้น เช่น หน้าหนาวหรือเวลาฝนตกสามารถตากผ้าในห้องน้ำได้ เพราะเขาจะมีที่ดูดความชื้นให้ หรือห้องครัวจะมีเตาแก๊ส 2 หัว สามารถทำกับข้าวได้สมใจคนรักการทำอาหารเป็นต้น แต่ที่สำคัญ คือจะได้ห้องใหม่ขึ้น กว้างขึ้นและไม่ใช่พื้นเสื่อญี่ปุ่น(ทาทามิ)เก่าๆแน่นอน
เห็นระดับราคาคร่าวๆข้างต้นแล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ ตีเป็นเงินไทยเราก็เฉลี่ยก็ตกเดือนละ 20,000บาทเลยทีเดียว (ที่ไทยนี่ได้ทั้งฟิตเนส 24 ชั่วโมง พร้อมยามคอยดูแลให้อีก ดีไปอีก) T_T อย่าเพิ่งเป็นลมกันนะคะ
**อย่างไรซะข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลคร่าวๆจากประสบการณ์ตัวเองที่หาบ้าน(แบบในตัวเมือง เอาเป็นว่าอย่าเพิ่งท้อแท้เผื่อเพื่อนๆโชคดี จังหวะดีอาจได้บ้านถูกและคุณภาพดีกว่าข้อมูลข้างต้นก็ได้นะคะ
ข้อควรรู้เมื่อไปหานายหน้า
ก่อนไปหานายหน้า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “ทำใจ” เลยค่ะ ว่าค่าใช้จ่ายในการหาบ้านนั้นช่างเยอะเหลือเกิน ทั้งเสียเงินและเสียเวลาในการหากว่าจะได้ห้องที่ถูกใจนานนัก นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์เฉพาะที่เพื่อนๆควรรู้และเข้าใจดังต่อไปนี้
1. ค่าขอบคุณเจ้าของบ้าน (礼金 Reikin หรือ ภาษาอังกฤษว่า Gratuity Fee)
ดิฉันตกใจไม่น้อยกับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ว่ากันง่ายๆก็คือเงินกินเปล่าของเจ้าของบ้าน คำว่า礼เรย์ นั้นแปลตรงๆว่าขอบคุณ เป็นการขอบคุณที่อุตส่าห์ให้เราได้เช่า (ในใจได้แต่คิด ใช่หรอ?? ฉันเป็นคนจ่ายเงินนะยะ) จำนวนเงินแล้วแต่ความใจดีของเจ้าของบ้าน อาจจะ ประมาณ1-2เดือนของค่าเช่า หรือบางที่ๆไม่เก็บก็มี อาจเพราะเป็นมาร์เก็ตติ้งส่งเสริมการขายก็ว่ากันไป เป็นอะไรที่แตกต่างกันไปมากแล้วแต่เจ้าขอองบ้านจริงๆ
2. ค่ามัดจำ (敷金 Shikikin หรือ Deposit money)
เงินมัดจำส่วนนี้เราจะได้คืนตอนย้ายออก (แต่จะโดนหักค่าทำความสะอาดไป) ในกรณีไม่ได้เก็บค่ามัดจำในตอนแรกนี้ ตอนเราย้ายออกเราก็ต้องจ่ายค่าทำความสะอาดเพิ่มไปอยู่ดี เพราะงั้นส่วนใหญ่แต่ละที่จะเก็บไว้เลยประมาณ 1 เดือน ไม่ต้องกังวลไป เพราะยังด฿มีเหตุผลกว่าเงินให้เปล่าในข้อหนึ่ง และจะได้คืนหากค่าทำความสะอาดไม่แพงเกินที่เราจ่ายไป
3. ค่านายหน้า
ค่านายหน้าส่วนใหญ่มีตั้งแต่ 30-100%ของค่าเช่า 1 เดือน แล้วแต่บริษัทจัดหาบ้านที่เราใช้
4. ค่าประกัน
เจ้าของบ้านบางราย ระบุไว้ชัดเจนว่าคนค้ำประกันต้องเป็นคนญี่ปุ่นเท่านั้น ดิฉันมีคนรู้จักแต่งงานกับคนญี่ปุ่นเปลี่ยนนามสกุลเรียบร้อย แต่เขาก็ไม่ให้ ต้องเป็นสายเลือดญี่ปุ่นเท่านั้น! (เข้มข้นจริงๆประเทศนี้) คนต่างชาติอย่างเรา มองไปไม่เห็นผู้ใด ก็ต้องจำใจพึ่งบริษัทประกัน จ้างบริษัทประกันให้ค้ำประกันให้ (ใครอยากวัดใจ ลองแกล้งๆถามคนญี่ปุ่นดูสิ เชื่อว่าหลายคนเริ่มเปลี่ยนสีหน้า ทำหน้าแห้งๆ เพราะเงินส่วนนี้ถ้าเกิดเราเบี้ยวค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายขึ้นมา เขาจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด) ดังนั้นเพื่อความสบายใจ เราเลยต้องเสียค่าประกันให้บริษัท ตกประมาณตั้งแต่หมื่นเยนนิดๆจนถึงค่าเช่า 1 เดือนเต็ม
5. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
เช่น ค่าเปลี่ยนกุญแจ ค่าต่อสัญญา ค่าประกันไฟไหม้ เป็นต้น
โดยคร่าวๆมีเท่านี้ อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างตามความ(เรื่องเยอะ)ของเจ้าของบ้าน อิอิ ดังนั้นสูตรง่ายๆที่นายหน้ามักจะบอกเราให้เตรียมเงินคือประมาณ 5-6 เท่าของค่าเช่า 1 เดือนนั้นเอง (ควรเป็นเงินเย็นที่พร้อมจ่ายทันทีเมื่อเราเซ็นสัญญาเช่าบ้าน หมุนเงินกันให้ดีๆนะ )
เคล็ดลับ
แนะนำว่าหากใครเวลากระชั้นชิดมากๆ แนะนำให้หาข้อมูลในเว็บไซต์นายหน้ากันก่อน (แต่ต้องใช้สกิลภาษาญี่ปุ่นกันหน่อย) เช่นในเว็บของบริษัทต่างๆ
Minimini
Suumo
Homes
เป็นต้น เว็บพวกนี้สามารถรู้ข้อมูลและดูภาพถ่ายภายในห้องได้ระดับนึง โดยยังไม่ต้องไปเยือนของจริง ทำให้เราประหยัดเวลาได้เยอะค่ะ
โดยเวลาค้นหา ส่วนใหญ่จะเริ่มจากเลือกเมือง เขต หรือสถานีรถไฟที่เราอยากจะย้ายไปอยู่ แล้วค่อยๆติ๊กเลือกเงื่อนไขต่างๆ เช่น ราคาแพงมากแพงน้อย หรือเลือกจากแปลนห้องเช่น 1R 1K 2DK ก็ได้ แล้วเว็บส่วนใหญ่ก็จะมีออพชั่นเล็กๆ ให้เลือกเพื่อประหยัดเวลาในการค้นหา เช่นจะเอาเตาแก๊สมั้ย อยากได้ที่วางเครื่องซักผ้าหรือเปล่า พอติ๊กเลือกแล้วก็จะสามารถค้นหาบ้านที่ถูกใจได้ง่ายขึ้นอีกค่ะ พอได้บ้านที่ถูกใจแล้วก็ค่อยเอาไปยื่นให้นายหน้าที่ร้านก็จะได้ประหยัดเวลาในการหาไปเยอะ
แอบกระซิบดิฉันก็ใช้วิธีนี้หลังจากตามหาบ้านที่ถูกใจนานเกือบเดือน แต่ก็ไม่ถูกใจซะที เลยนั่งหน้าคอมหาเองเลย อันไหนเข้าท่าก็เมล์ไปหานายหน้า พร้อมระบุวันที่อยากเข้าไปดูบ้าน จะช่วยประหยัดเวลาได้เยอะมากค่ะ
เรื่องอื่นๆ (ที่ยังต้องเตรียมใจ)
ฉันเชื่อว่าใครหลายคน ทุ่มเทกับการหาบ้าน เหมือนกับการหาแฟนเลยทีเดียว เทียวไปเทียวมาหลายรอบ จนนายหน้าจำหน้าได้เป็นอย่างดี หลายคนดีใจน้ำตาจะไหลเพราะในที่สุดก็หาบ้านที่ถูกใจได้ วาดฝันว่าจะวางเฟอร์นิเจอร์น่ารักๆตรงนู้นตรงนี้ไว้มากมาย แต่ก็ต้องฝันสลายเมื่อนายหน้าโทรไปถามเจ้าของบ้าน และได้คำตอบว่าไม่รับคนต่างชาติ ดิฉันก็ได้แต่ทำปากสระอิ พับโครงการบ้านในฝันและกลับไปตั้งหลักใหม่หลายครั้ง ไม่ใช่แค่มีเงินแล้วจะเช่าได้นะ ต้องผ่านการคัดเลือกหลายรอบไม่ต่างกับมารีญาประกวดนางงามจักรวาลเลยทีเดียว
ตอนที่ดิฉันติดต่อนายหน้าจะเช่าห้องที่ถูกใจนี้ นายหน้าแอบเสิร์ชชื่อดิฉันในกูเกิ้ล (แต่เห็นนะจ๊ะ อิอิ) แล้วมันเด้งประวัติดิฉันมา นายหน้าก็ปริ้นประวัติพร้อมรูปถ่ายแนบไปพร้อมกับเอกสารอื่นๆให้เจ้าของบ้านพิจารณา (เหมือนสมัครงานเลยทีเดียว)
สรุป
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เห็นวิธีการย้ายบ้านที่ญี่ปุ่นแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีค่าเลยใช่ไหมคะ...ไม่ว่าจะค่าขอบคุณเจ้าของบ้าน ค่าเช่า ค่าประกัน ค่าแรกเข้าต่างๆนานา :P แต่ระบบที่นี่เขาก็เป็นแบบนี้กันมาเราไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้มาก อย่างไรเพื่อนๆก็ลองศึกษาและใจร่มๆค่อยๆหากันนะคะ เป็นกำลังใจให้ค่ะ