ไข้หวัดหมู หรือ ไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก โรคระบาด วิกฤตคนกับเชื้อโรค
การแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู (Swine influenza) เป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของสงครามระหว่างมนุษย์กับเชื้อโรค และเป็นการยืนยันความจริงที่ว่าโรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำที่สำคัญและมีโอกาสคร่าชีวิตมนุษย์ ติดต่อได้กว้างขวาง เป็นโรคที่มาจากสัตว์สู่คนเกือบทั้งสิ้น แม้จะผ่านตัวกลาง เช่น ยุง ริ้น เห็บ หรือไม่ก็ตาม
พัฒนาการของเชื้อโรคที่จะเข้าสู่คน แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ 1.เชื้อโรคอยู่ในสัตว์และไม่เคยติดต่อมายังคน เช่น เชื้อมาลาเรียในลิง (Relchenowl malaria) 2.มีการติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่หยุดเพียงคนคนนั้น โดยไม่มีการแพร่จากคนสู่คน เช่น โรคพิษสุนัขบ้าจากสุนัข 3.เริ่มมีการข้ามสายพันธุ์ โดยไวรัสจากสัตว์ชนิดหนึ่งถ่ายทอดไปยังสัตว์อีกชนิดและแพร่ไปยังคน เช่น โรคอีโบล่า (Ebola) ที่มีแหล่งรังโรคในค้างคาวแพร่ไปยังลิง และส่งต่อถึงคน โดยมีการติดต่อจากคนสู่คน แต่อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากโรคมีความรุนแรงมากในคนและผู้ติดเชื้อเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วจนไม่สามารถส่งต่อไปคนอื่นๆ อีก 4.เชื้ออยู่ในสัตว์ได้หลายชนิด ขึ้นกับสภาวะภูมิอากาศ ความแห้งแล้ง หรืออุดมสมบูรณ์ เช่น ไวรัสในตระกูลไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบ โดยอาจแฝงในลิงหรือสัตว์ขุดรูต่างๆ และมียุงเป็นพาหะกัดคน และเมื่อคนมีจำนวนไวรัสหรือเชื้อโรคมากขึ้น ก็จะถูกยุงกัด และนำเชื้อไปให้คนอื่นอีก ซึ่งเห็นได้ชัดในโรคไข้เลือดออก และเป็นสาเหตุให้ต้องพยามกำจัดยุงในบริเวณบ้านคนที่เป็นไข้เลือดออก 5.มีวิวัฒนาการในสัตว์จนสุกงอม และติดต่อไปยังคน และติดเชื้อในคนได้อย่างสมบูรณ์กระทั่งมีการติดต่อระหว่างคนสู่คนได้สำเร็จ ไม่ต้องอาศัยสัตว์อีกต่อไป เช่น โรคเอดส์จากเชื้อ HIV ที่มีต้นกำเนิดมาจากลิง สำหรับไข้หวัดหมู พัฒนาการอาจอยู่ในระดับที่ 5 ซึ่งต่อจากนี้จะมีการแพร่ระหว่างคนสู่คน แต่จะมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นกับการปรับตัวของไข้หวัดหมูในมนุษย์ โดยโรคนี้พบตั้งแต่ ค.ศ.1918-1919 ในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish Flu) มีการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลก แต่ผู้เสียชีวิตส่วนมากจะอายุ 20-40 ปี และตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งต่างจากไข้หวัดใหญ่ทั่วไป (Seasonal Flu) ที่เล่นงานเด็กเล็กและคนแก่เป็นส่วนมาก แต่คล้ายคลึงกับไข้หวัดหมูที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้ ในช่วงนั้นมีการพบไข้หวัดในหมูเช่นกัน (J.S. Koen) และจวบจน ค.ศ.1930 จึงได้มีการแยกเชื้อได้ (Shope และ Davis) ไข้หวัดหมูยังเป็นหมูแท้ๆ อยู่อีก 80 ปี โดยไม่มีลูกผสมเป็น 3 เกลอ (พันธุกรรมหมู นก คน) ดังเช่นปัจจุบัน แต่ถึงกระนั้นก็ก่อให้เกิดโรคในคนอยู่เนืองๆ มากกว่า 50 ราย เช่น ในสหรัฐ 19 ราย เชโกสโลวะเกีย 6 ราย เนเธอร์แลนด์ 4 ราย รัสเซีย 3 ราย แคนาดาและฮ่องกงอีกแห่งละ 1 ราย โดยผู้ป่วย 61% มีประวัติสัมผัสหมูและมีอายุเฉลี่ย 24 ปี หลังจากนั้นใน ค.ศ.1974 ไข้หวัดหมู (ล้วน) มีการพัฒนาโดยเกิดโรคในค่ายทหาร (Fort Dix) ที่รัฐนิวเจอร์ซี่ (New Jersy) มีผู้ป่วย 13 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยที่อีก 230 ราย ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการแต่น้อยมาก ทั้งหมดนี้ไม่มีประวัติสัมผัสหมู ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีการพัฒนาจนมีการติดต่อจากคนสู่คน การติดต่อในค่ายทหาร ทำให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดหมูให้ประชาชนทั่วไป แต่พบว่าช่วงที่มีการฉีดวัคซีนมีผู้ป่วยเส้นประสาทอักเสบแขน ขาอัมพาต ทำให้ต้องล้มเลิกการใช้วัคซีน และข้อมูลสรุปของการเกิดอัมพาตอาจยังคลุมเคลือจนปัจจุบัน ใน ค.ศ.1988 มีผู้หญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต โดยมีประวัติสัมผัสหมูในรัฐวิสคอนซิน (Wisconsin) และเริ่มสงสัยว่าไข้หวัดหมูอาจไม่ใช่พันธุ์หมูล้วน (classic H1N1) จวบจน ค.ศ.1998 จึงได้มีการพิสูจน์พบว่า หมูเลี้ยงในสหรัฐ มีไวรัสไข้หวัดหมูกลายพันธุ์ โดยมีพันธุกรรมผสมระหว่างหมู คน และนก เกิดสายพันธุ์ผสม (Triple assortant virus) H3N2, H1N2, และ H1N1 (วารสารโรคติดเชื้อ JID 2008) และสายพันธุ์ผสมนี้ยังพบได้ในเอเชีย และแคนาดา ไข้หวัดหมูผสมสายพันธุ์ใหม่ พบได้ในประเทศสเปน (H1N1) เดือนพฤศจิกายน 2008 เป็นหญิงอายุ 50 ปี มีการไข้ ไอ เหนื่อย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คันคอ และคันตา และหนาวสั่น ผู้ป่วยหายเองโดยไม่ต้องการการรักษาใดๆ โดยที่ผู้ป่วยทำงานในฟาร์มหมูและสัมผัสใกล้ชิดหมู ไม่มีคนใกล้ชิดในละแวกมีการติดเชื้อ ข้อสรุป ณ ขณะนั้น ยังไม่คิดว่าไข้หวัดหมูแม้เป็นสายพันธุ์ผสมแล้วจะมีอันตรายมากนัก (Eurosurveillance ฉบับ 19 กุมภาพันธ์ 2009) อย่างไรก็ดี เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดมาก่อนในรัฐวิสคอนซิน วันที่ 7 ธันวาคม 2005 ชายอายุ 17 ปี มีอาการไข้หวัดใหญ่ แต่หายเองใน 3-4 วัน มีการติดเชื้อไข้หวัดหมูลูกผสม H1N1 โดยผู้ป่วยไม่ได้มีการสัมผัสกับหมูหรือไก่ที่บริเวณบ้าน และในระหว่างช่วงเดียวกันมีรายงานการติดเชื้อลูกผสมในแคนาดาใน ค.ศ.2005 และ 2007 เห็นได้ว่าไวรัสไข้หวัดหมูมีการพัฒนาตัวเองมาตลอด แต่สิ่งที่ยากคือ หมูที่ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องแสดงอาการเจ็บป่วยก็ถ่ายทอดเชื้อได้ สำหรับหมูในประเทศไทย ขณะนี้แม้จะมีเชื้อลูกผสมวนเวียนและไม่เป็นอันตรายอยู่ก็ตาม แต่ยังคงต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง คอลัมน์ ส่องโรค ไขสุขภาพ โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกไวรัสสัตว์สู่คน ตัวอย่างชื่อไข้หวัดใหญ่ที่เคยระบาดทั่วโลก -พ.ศ.2461-2462 (ค.ศ.1918-1919) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H1 N1 (ยุคนั้นยังไม่สามารถตรวจแยกเชื้อได้ แต่มีการตรวจชนิดของเชื้อไวรัสในภายหลัง) ชื่อว่าไข้หวัดใหญ่สเปน (Spain Flu) เป็นการระบาดทั่วโลกครั้งร้ายแรงที่สุด มีผู้ป่วยเสียชีวิตประมาณ 50 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในสหรัฐกว่า 500,000 คน -พ.ศ.2500-2501 (ค.ศ.1957-1958) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H2 N2 มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu) ระบาดครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนระบาดไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต 70,000 คน ในสหรัฐ การระบาดในครั้งนี้สามารถตรวจพบและจำแนกเชื้อได้รวดเร็ว และผลิตวัคซีนออกมาฉีดป้องกันได้ทัน จึงมีผู้เสียชีวิตไม่มาก -พ.ศ.2511-2512 (ค.ศ.1968-1969) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H3 N2 มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu) รายงานผู้ป่วยรายแรกเป็นชาวฮ่องกง มีผู้เสียชีวิตประมาณ 34,000 คน ในสหรัฐ เป็นชนิดย่อยที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายไข้หวัดใหญ่เอเชีย (H2 N2) จึงมีผู้ป่วยจำนวนไม่มาก เพราะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว -พ.ศ.2520-2521 (ค.ศ.1977-1978) ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A ชนิด H1 N1 กลับมาระบาดใหม่ มีชื่อว่าไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian Flu) เริ่มระบาดที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตอนเหนือ แล้วกระจายไปทั่วโลก ทราบภายหลังว่าเป็นไวรัสชนิดเดียวกับ ไข้หวัดใหญ่สเปน (H1 N1)
ถอดรหัสไข้หวัดหมู ไหงชื่อไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก สงสัยกันหรือไม่ว่า เหตุใดที่ประชุมร่วมผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคทั้งในและต่างประเทศ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา จึงมีมติเปลี่ยนชื่อโรค ไข้หวัดใหญ่หมู (Swine Flu) หรือไข้หวัดหมู ที่กำลังระบาดอย่างหนักในประเทศเม็กซิโก และอีกหลายประเทศในซีกโลกตะวันตก เป็น ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก จากการสืบค้นข้อมูลวิชาการ พบว่าโรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ประกอบด้วย 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C แต่สายพันธุ์ที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือ สายพันธุ์ A เพราะพบเชื้อทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ ส่วนสายพันธุ์ B เป็นชนิดที่พบได้ตามฤดูกาล ไม่มีความรุนแรงมาก สำหรับสายพันธุ์ C จะพบได้น้อย นอกจากนี้ แต่ละสายพันธุ์ยังแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อย (subtype) อีกหลายชนิด โดยใช้สัญลักษณ์แทนว่า H และ N เฉพาะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แยกได้ H 16 ชนิด และ N 9 ชนิด ซึ่งเชื้อไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์อาจผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระบาดใหญ่ สำหรับไข้หวัดใหญ่เม็กซิโก นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้จากเชื้อที่เก็บได้จากผู้ป่วยชาวอเมริกัน ที่เดินทางกลับจากประเทศเม็กซิโก พบว่า เป็นไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ชนิด H1 N1 ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมบางส่วนคล้ายคลึงกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหมูที่เคยพบในอดีต จึงเป็นที่มาของการเรียกชื่อไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่นี้ว่า ไข้หวัดหมู และเพื่อความกระจ่างยิ่งขึ้น นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค สธ.ชี้แจงว่า การตั้งชื่อโรคระบาดชนิดใหม่ๆ ตามหลักวิชาการมีข้อกำหนดชัดเจน โดยมีองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เรียกชนิดสายพันธุ์ที่ตรวจพบ, ชื่อเมืองหรือประเทศที่มีการแพร่ระบาด และปีที่มีการแพร่ระบาด ดังนั้น ในที่ประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรค จึงมีมติให้เรียกชื่อโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่พบในประเทศเม็กซิโกว่า ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในเม็กซิโก โดยเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ แคลิฟอร์เนีย 04 2009 (A/California/04/2009) คือมาจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A ตรวจแยกเชื้อได้ครั้งแรกที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เดือนเมษายน ค.ศ.2009 ขณะนี้ WHO ยังไม่มีการประกาศชื่อโรคอย่างเป็นทางการ แต่จะมีการประชุมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อวางมาตรการป้องกันการระบาดของโรค รวมทั้งสืบหาสาเหตุที่เป็นต้นตอการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งที่ผ่านมา กว่าจะสืบหาต้นตอการระบาดของโรคต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังพบว่ามีการระบาดของโรคไปแล้ว เช่นเดียวกับโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) ที่กว่าจะสืบพบว่า ชะมด เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อ +คำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อเบื้องต้น คลิก! +