โรคระบบทางเดินอาหาร ผู้ร้ายในฤดูร้อน
อาเจียน ท้องร่วง บิด ไข้ไทฟอยด์ เป็นโรคระบบทางเดินอาหารที่ต้องระวังในเรื่องความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่ม หรือไข้หวัดก็เป็นกันได้ในฤดูร้อน
ดาราสาว แองเจลิน่า โจลี่ เป็นทูตยูนิเซฟซึ่งต้องเดินทางไปต่างประเทศต่างๆ ที่มีอากาศร้อน เธอจึงต้องระวังเรื่องความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่มเป็นพิเศษเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียเป็นตัวก่อโรคและแพร่ได้เร็วในอากาศร้อน ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญจึงได้ตอบข้อข้องใจเกี่ยวกับโรคในหน้าร้อนเพื่อให้เราเตรียมรับมือกันค่ะ
Q : ในฤดูร้อน เราต้องระมัดระวังโรคอะไรบ้าง A : ในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิจะสูงกว่าปกติ โรคที่เกิดขึ้นก็มีทั้งโรคที่เกิดจากความร้อนโดยตรง โรคติดเชื้อโดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้เร็ว และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร โดยมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มซึ่งเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วในหน้าร้อน บางชนิดก็ปล่อยสารพิษออกมาปนเปื้อนในอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว และที่ยังไม่ได้ผ่านการปรุง ก็ก่อให้เกิดโรคได้ เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ แต่ในปัจจุบันเรามีระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้นและมีวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์ จึงทำให้พบโรคนี้ในเมืองน้อยลง Q : อยากทราบสาเหตุของโรคระบบทางเดินอาหาร A : โรคระบบทางเดินอาหารเกิดจากการกินเชื้อที่ปนเปื้อเข้าไป โดยเริ่มจากวัตถุดิบที่มีเชื้อปนเปื้อนและบางสายพันธุ์ของเชื้อโรคก็ปล่อยสารพิษปนเปื้อนออกมาในอาหาร หรือเชื้อแบคทีเรียก็อาจปล่อยสารพิษออกมาในระบบทางเดินอาหารเมื่อคนกินเข้าไปแล้ว หรืออาจเกิดจากตัวเชื้อโดยตรงซึ่งไม่ได้ปล่อยสารพิษ แต่มันส่งผลเสียต่อร่างกายโดยการก่อให้เกิดโรค เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคบิด Q : อาการของโรคอาหารเป็นพิษเกิดขึ้นได้อย่างไร A : อาหารเป็นพิษก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นพิษประเภทใด ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการจะเกิดเร็วขึ้นประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังกินอาหารประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรืออาจเป็นวันถ้าไม่มีสารพิษเป็นตัวเชื้อ อาการก็คืออาเจียน ถ้าเพิ่งกินเข้าไปแล้วอาเจียนออกมาหมดก็จะหาย แต่ถ้าพิษออกไม่หมด แล้วตกลงไปในลำไส้ ก็จะก่อให้เกิดอาการปวดท้องแล้วก็ท้องเสีย อุจจาระร่วง ถ้าเกิดจากเชื้อธรรมดาก็ไม่ต้องใช้ยารักษาเฉพาะ Q : มีวิธีป้องกันโรคอาหารเป็นพิษมั้ย A : โรคที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับโรคระบบทางเดินอาหารก็คือ อาหารเป็นพิษ บิด และอุจจาระร่วง วิธีป้องกันก็คือ การเลือกซื้อวัตถุดิบที่สดใหม่ สะอาด ซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ รู้วิธีการเก็บรักษาอย่างดีก่อนนำไปปรุงอาหาร คนปรุงอาหารเองก็ต้องล้างมือให้สะอาดก่อนปรุง เมื่อทำอาหารเสร็จแล้วก็ควรรีบกิน หรือถ้ายังไม่กินก้องเก็บรักษาให้เหมาะสม เช่น เก็บให้มิดชิดแล้วใส่ตู้เย็น ที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้เขียงร่วมกันระหว่างอาหารดิบและอาหารสุก Q : ทำไมกินอาหารร้านเดียวกัน บางคนท้องเสียแต่บางคนกลับไม่เป็นอะไรเลย A : ถ้าเราไปกินอาหารร้านนั้นเป็นประจำ เชื้อโรคที่ปนเปื้อนมาไม่มาก ร่างกายเราจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่ถ้าเป็นคนต่างถิ่นที่ไม่ได้กินเหมือนเราเป็นประจำ ก็อาจมีอาการได้เพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน ดังนั้น เมื่อต้องเดินทางไปต่างถิ่นก็ต้องระมัดระวังเรื่องอาหารเป็นพิเศษ Q : หากมีอาการอุจจาระร่วงไม่มากอันเนื่องมาจากอาหารเป็นพิษ ควรทำอย่างไร A : อุจจาระร่วงหรืออาหารเป็นพิษที่ไม่รุนแรงจนต้องใช้ยาปฏิชีวนะแบบรักษาเฉพาะ ก็จะรักษาแบบประคับประคอง เช่น หากอาเจียนก็ให้งดอาหาร ให้ยาบรรเทาการอาเจียน กินน้ำเกลือ หรือให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด เพื่อชดเชยของเหลวที่ร่างกายสูญเสียไปหรือที่จะสูญเสียต่อไปอีก ถ้าชดเชยได้สมดุลก็ไม่มีปัญหาอะไร Q : มีข้อควรระวังเรื่องน้ำเกลือไหม A : แต่ละยี่ห้อของน้ำเกลือมีการผสมที่แตกต่างกัน เช่น บางยี่ห้อให้ผสมกับน้ำหนึ่งแก้ว บางยี่ห้อให้ผสมกับน้ำ 250 ซี.ซี. หรือบางยี่ห้อให้ผสมกับน้ำหนึ่งขวดแม่โขง ทีนี้ถ้าคนไม่อ่านฉลากยาให้รอบคอบชัดเจน ผสมตามใจตัวเองก็อาจก่อปัญหาได้ คือถ้าผสมจางว่าที่กำหนดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าผสมเข้มข้นก็จะมีปัญหาที่ว่ามีเกลือแร่เข้าไปอยู่ในกระแสเลือดมากเกิน ทำให้เกิดอาการปวมได้ ทีนี้ภาวะที่มีเกลืออิเล็กโทรไลต์ในเลือดสูงจะมีอันตรายรุนแรง และรักษายาก บางครั้งอาจต้องมีการฟอกเลือดด้วยเพื่อขับเกลือออกเพราะอาจเสียชีวิตได้เนื่องจากหัวใจทำงานหนักจนอาจทำให้หัวใจวายได้ นอกจากนี้ก็ต้องค่อยๆ ดื่มเกลือแร่ โดยจิบทีละน้อยและจิบบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกลือแร่เข้าไปในร่างกายคราวเดียวมากๆ ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งกรณีนี้ต่างจาก Sport Fluid สำหรับนักกีฬา Q : ทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าดื่มเกลือแร่เข้มข้นเข้าไปจนเกิดอาการ A : ส่วนมากจะมีอาการผิดปกติ เช่น ผิวร้อนแดง ซึม แต่พบไม่บ่อย มักพบในเด็กมากกว่า เพราะไตของเด็กยังทำงานไม่ปกติ Q : แล้วโรคบิดมีอาการอย่างไร A : โรคบิดเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คนที่ติดเชื้อบิดส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีไข้ ในเด็กเล็กอาจมีไข้สูงและชัก แต่พบไม่บ่อย อาการเด่นของโรคบิดก็คือ ถ่ายอุจจาระบ่อยมาก ถ่ายเป็นมูก หรืออาจเป็นมูกปนเลือด มีอาการเหมือนกับถ่ายอุจจาระไม่สุด Q : ต่างจากอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษอย่างไร A : พยาธิสภาพของบิดอยู่ส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ จึงไม่ค่อยมีอาเจียน โรคบิดมีสองกลุ่ม กลุ่มที่พบบ่อยคือ กลุ่มอาการข้างต้น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะมีอุจจาระร่วงมาก่อนเป็นวันสองวัน แล้วตามมาด้วยอาการของบิดอย่างชัดเจนคือ ถ่ายบ่อย ถ่ายเป็นมูกเป็นเลือด กลุ่มนี้ต้องใช้ยารักษาเฉพาะ การรักษาไม่ยุ่งยาก ถ้าให้ยาเฉพาะภายใน 48 ชม. ก็จะมีอาการดีขึ้น ที่ดีที่สุดคือการไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง เพราะอาการท้องเสียหรืออุจจาระร่วงแล้วกินยาให้หยุดถ่าย ซึ่งยาที่กินก็คือยาที่ทำให้ลำไส้หยุดเคลื่อนไหว ทำให้พิษค้างอยู่ในลำไส้ได้ ถ้าอาหารเป็นพิษก็ควรปล่อยให้ถ่ายออกมา มันก็จะหายเองได้ การใช้ยาก็มีข้อจำกัด ควรใช้ในปริมาณที่กำหนด เมื่อดีขึ้นแล้วก็ต้องหยุดกินยา ไม่ใช่กินเรื่อยไป Q : แล้วยาแก้อาเจียนล่ะ A : ยาแก้อาเจียนก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะบางชนิดมีผลข้างเคียงสูง เช่น ก่อให้เกิดอาการกรุตุกของใบหน้า ลำตัว แขนขา จึงไม่ควรซื้อยาแก้อาเจียนกินเอง Q : กรณีที่กิยอาหารเมื่อวาน แล้วอาเจียนในวันรุ่งขึ้นเกิดจากอะไร A : อาจเกิดจากการกินอาหารมากเกินไป ไม่ใช่อาหารเป็นพิษ การมีอาหารเต็มแน่นกระเพาะก็อาจทำให้มำทำงานไม่ปกติ มีแรงบีบน้อย เมื่อมีอาหารเต็มล้น กระเพาะก็บีบไม่ได้ จึงทำให้อาหารค้างอยู่ในด้านใน มันก็จะพยายามบีบออกจากร่างกาย เพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่ดีออกไปเสีย อาการนี้หายเร็วกว่าอาหารเป็นพิษ หรือถ้าจะให้หายเร็วขึ้นก็ต้องกินยาเพื่อช่วยให้กระเพาะทำงาน การป้องกันก็คือ ไม่ควรกินอาหารมากเกินไป Q : นอกจากโรคระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังมีโรคอะไรที่พบได้บ่อยในฤดูร้อน A : โรคระบบทางเดินหายใจก็พบได้บ่อยในฤดูร้อน ทั้งนี้ จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า หน้าร้อนก็มีเชื้อไวรัสบางชนิดสามารถอยู่ได้ดีและก่อโรคได้ เช่น ไข้หวัดซึ้งเกิดจากไวรัสคนละตระกูลกับไวรัสในหน้าหนาว และไวรัสที่ติดต่อกันได้จากการกินอาหารร่วมกัน ก็อย่างเช่น โปลิโอ โรคมือเท้าปาก โรคตับอักเสบเอ เชื้อพวกนี้ออกมาทางอุจจาระ ดังนั้น จึงควรใช้ช้อนกลาง ไม่กินน้ำแก้วเดียวกัน และเก็บอาหารให้ปลอดภัย