“กุ้ง-เกล้า” คู่รักสร้างบ้านดินเป็น “MaChill Home” ฟาร์มสเตย์งดการสร้างขยะ
บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ในตำบลบ้านยาง จังหวัดนครปฐม หลายปีก่อนเป็นไร่อ้อยรกร้าง แต่ปัจจุบันถูกแปลงโฉมเป็นฟาร์มสเตย์ ที่มองอย่างไรกลับให้ความรู้สึกเหมือนเดินเล่นอยู่นอกเมืองในประเทศญี่ปุ่น กุ้ง-ทศพร ชิวปรีชา และเกล้า-กิรณา มาลีเลิศ คือคู่ชีวิตวัย 33 ปี ที่ร่วมกันลงทุน ลงแรง มอบใจให้ MaChill Home (บ้านมาชิว) ฟาร์มสเตย์คอนเซ็ปต์ Zero Waste ที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวงดการสร้างขยะ
เดิมทีทั้งสองทำงานในโรงงานประกอบรถยนต์ที่จังหวัดชลบุรี ใช้ชีวิตแบบมนุษย์เงินเดือนทั่วไป เช้าเร่งรีบไปทำงาน กลับมาถึงบ้านมืดค่ำ ชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี และหลายปี กระทั่งต่อมากุ้งพบจุดเปลี่ยนในหน้าที่การงานของตนเอง ทำให้ทั้งสองเริ่มคิดว่าความมั่นคงในงานประจำนั้นไม่มีอยู่จริง
เมื่อกุ้งออกจากงานก็เริ่มหาลู่ทางลองทำธุรกิจหลายประเภท แต่ยังไม่เจอสิ่งที่ตอบโจทย์ในชีวิตเกล้าแฟนสาวที่ยังทำงานประจำอยู่จึงแนะนำคอร์สเอาจริงของคุณโจน จันไดผู้เชี่ยวชาญการใช้ชีวิตแบบพึ่งตัวเองให้กับกุ้ง ตอนนั้นกุ้งตัดสินใจไปใช้ชีวิตอยู่กับคุณโจน จันไดเป็นเวลา 20 วัน จนได้แนวคิดการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง ก่อนจะมาแชร์ความคิดกับคู่ชีวิต
แม้ตอนแรกเกล้าจะไม่เห็นด้วยกับความคิดของกุ้ง แต่ไอเดียการสร้างบ้านดินก็เป็นไอเดียแรกที่ทั้งสองเห็นพ้องกัน ระหว่างนั้นจึงเริ่มหาซื้อที่ดินจากเงินที่เก็บสะสมมาตลอดช่วงชีวิตการทำงาน โดยมีโจทย์ว่าต้องเป็นที่ดินในจังหวัดบ้านเกิดคุณกุ้ง ไม่อยู่ใกล้เมือง หรือไกลเมืองจนเกินไป ต้องมีน้ำเพราะทั้งคู่วางแผนถึงการทำเกษตรกรรมในอนาคต
เมื่อได้ที่ดินผืนที่ต้องการแล้ว ทั้งสองใช้เวลาอีก 3 ปีปรับสภาพดินให้พร้อมต่อทำการเกษตรเนื่องจากไร่อ้อยนั้นทำดินเสื่อมสภาพ กระทั่งต่อมากุ้งกับเกล้าให้ใจบ้านสตูดิโอผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบพื้นที่มาช่วยออกแบบจากที่ดินของตนเองว่าบ้าน แปลงผัก ฯลฯ ควรอยู่บริเวณใดบ้าง
บ้านดินหลังแรกบนที่ดินผืนนี้จึงเป็นบ้านที่ทั้งสองใช้พักอาศัยเอง เป็นบ้านดินแบบประยุกต์เพราะใช้โครงสร้างเหล็ก ประกอบกับอิฐดินประมาณ 9 พันก้อน แบ่งพื้นที่เป็นห้องนอน ห้องน้ำ มีห้องครัวอยู่ด้านนอก ช่วงการก่อสร้างเป็นหน้าฝน การสร้างบ้านจึงเริ่มต้นจากการทำหลังคาก่อนก่อผนัง เมื่อบ้านที่ใช้พักสร้างเสร็จ ในปีถัดมาหรือเมื่อปีที่แล้วจึงคิดสร้าง MaChill Home โดยมีการออกแบบพื้นที่ให้เป็นทั้งบ้านพัก แปลงผัก มีการปรับพื้นที่ ลองผิด ลองถูกไปเรื่อยๆ
MudHome หรือบ้านพ่อเป็นบ้านดินหลังแรกที่กุ้ง-เกล้าสร้างขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวเช่าพัก โดยตั้งใจให้บ้านหลังนี้เพดานสูง ใช้พื้นที่คุ้มค่า มีบันไดวน และออกแบบเปลเป็นจุดดึงดูดของบ้าน อีกหนึ่งความพิเศษของบ้านหลังนี้คือไม่มีเสา แต่ให้ผนังบ้านรับน้ำหนักแทน บ้านหลังนี้ใช้อิฐดินไปทั้งหมดประมาณ 3 พันก้อน ใช้เวลาก่อสร้าง 7-8 เดือน ราคาสำหรับการเข้าพักต่อ 1 ท่านคือ 600 บาทพร้อมอาหารเช้า มีค่าทำความสะอาดเพิ่มเติม 500 บาท (หากไม่มีขยะไม่ต้องจ่ายค่าทำความสะอาด)
ส่วนบ้านอีกหลังเรียกว่าบ้านแม่ หรือบ้านนกเพราะมีลักษณะเหมือนบ้านนก บ้านหลังนี้ใช้ปูนแทนใช้อิฐดิน เนื่องจากตอนสร้างเป็นหน้าฝนทำให้ต้องเปลี่ยนแผน ดังนั้นบ้านหลังนี้จึงเป็นบ้านปูน ติดเครื่องปรับอากาศแบบทั่วไป ราคาสำหรับการเข้าพักต่อ 2 ท่านคือ 1,500 บาทพร้อมอาหารเช้า มีค่าทำความสะอาด 500 บาท (หากไม่มีขยะไม่ต้องจ่ายค่าทำความสะอาด)
ไม่เพียงออกแบบพื้นที่ให้เป็นบ้านพักเท่านั้น แนวคิด Zero Waste Farm ยังเป็นแนวคิดสำคัญที่กุ้ง-เกล้าอยากให้ผู้เข้าพักปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดไว้คือผู้เข้าพักควรดูแลขยะที่ตนเองนำเข้ามา และหากไม่สร้างขยะในระหว่างเข้าพักยิ่งเป็นสิ่งที่ดี
"เกล้ากับกุ้งจบเรื่องพลาสติกมา รู้ว่าพลาสติกนั้นใช้เวลานานมาก มากกว่าช่วงอายุคน หรือประมาณ 100 ปี ในการสลายตัวกลายเป็นอนุภาคเล็กๆ ซึ่งปะปนอยู่ในน้ำ ดิน ซึ่งจะวนกลับมาสู่ร่างกายของคนเราได้จากอาหาร และน้ำ พลาสติกเบาๆ ที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ก็สามารถปลิวไปมาได้ง่ายๆ ลงน้ำ เข้าป่า ยกตัวอย่างข่าวปลาวาฬเสียชีวิตเพราะมีพลาสติกอยู่ในกระเพาะหนักกว่า 5 กิโล ช้าง ไม่สบาย ขับถ่ายไม่ได้ เจ้าหน้าที่เลยต้องช่วยสวน จนพบว่า ช้างไม่สามารถขับถ่ายถุงพลาสติกออกมาได้ จึงเป็นที่มาว่า เราควรจะใส่ใจกับขยะที่เราสร้างขึ้นได้แล้ว”
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ผู้มาเยือนนิยมกันมากคือ ฟาร์ม ดินเนอร์ที่จัดขึ้นแบบเป็นส่วนตัวประมาณ 1-2 ครั้งต่อเดือน เป็นการเซ็ทเมนูอาหารให้กับผู้สนใจอยากเข้ามาทานอาหารท่ามกลางบรรยากาศสบาย สบายที่บ้านมาชิว อาหารที่เสิร์ฟเป็นอาหารฟิวชั่นแสดงฝีมือโดยพ่อครัวกุ้งใช้วัตถุดิบจากในบ้านซึ่งล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค ค่าใช้จ่ายสำหรับ 2 ท่านที่รับประทานอาหารคือ 799 บาท
วันนี้บนผืนดินที่ถูกเนรมิตด้วยหัวใจของทั้งสองยังคงปรับเปลี่ยนการใช้งานไปเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งได้อาสาสมัครชาวต่างชาติที่ทราบเรื่องราวของพวกเขาผ่านเว็บไซต์มาช่วยสร้างบ้าน ปลูกผัก ทำเตาพิซซ่า
แต่สิ่งสำคัญของการออกจากงานมาทำตามสิ่งที่ตนเองสร้างเป้าหมายไว้นั่นคือการได้รู้จักตัวเองมากขึ้น เรียนรู้ถึงการปล่อยวาง ไม่สะสม ไม่ซื้อของเกินจำเป็น ทั้งยังสอนให้ทั้งสองปรับตัวเข้ากับธรรมชาติได้มากขึ้น และต้องขอบคุณครอบครัวทั้งสองฝ่าย ที่เข้าใจและพร้อมช่วยเหลือ เป็นกำลังใจให้เดินทางมาถึงทุกวันนี้ได้
คงไม่กล้าบอกว่านี่คือเส้นทางแห่งความสำเร็จ ที่แนะนำให้ผู้อยากหันหลังให้กับชีวิตมนุษย์เงินเดือนเดินตาม แต่ที่แน่ๆ คือเมื่อถามถึงการกลับไปทำงานประจำอีกครั้ง กุ้ง-เกล้า ตอบว่า “ไม่” เป็นการปฏิเสธพร้อมรอยยิ้มกว้างๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าช่างเป็นคำตอบที่มั่นคงทางจิตใจเสียเหลือเกิน
หากคิดอยากจะไปชิว แบบตัวเบาเบาใกล้กรุงเทพฯ ไม่สร้างขยะ ลดภาระให้กับโลกติดตามเรื่องราว MaChill Home ได้ที่ เพจ MaChillHome
อัลบั้มภาพ 32 ภาพ