ไอเดียล้ำ ผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และต้านแบคทีเรียจากกากชา
ด้วยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ดื่มชาเป็นหลัก กากชาเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมนอกจากจะนำมาใช้เป็นปุ๋ยและเป็นอาหารสัตว์แล้วก็ยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมรีไซเคิลที่น่าสนใจ มาดูกันนะคะว่ามีการนำกากชามาทำผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง
กากชากับการใช้ประโยชน์
เพื่อประหยัดพลังงานที่ต้องใช้ในการทำให้กากชาเหลือทิ้งแห้งจึงมีการศึกษาพัฒนานำกากชาเหลือทิ้งเปียกๆที่มีสารคะเทชินมาผสมกับวัตถุดิบต่างๆเผื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการลดกลิ่นไม่พึงประสงค์และผลิตภัณฑ์ต้านเแบคทีเรีย ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกากชาเหลือทิ้งต่าง ๆ ได้แก่
ไม้กระดานที่ใช้เป็นฐานของเสื่อทาทามิ
ไม้กระดานชนิดนี้ได้จากการนำกากชามาผสมกับขี้เลื่อยไม้และขึ้นรูปเป็นแผ่นกระดานสำหรับการตรึงเสื่อทาทามิ โดยแผ่นไม้กระดานที่ได้จะมีคุณสมบัติในการกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น กลิ่นควันบุหรี่ เป็นต้น ได้เป็นอย่างดี
พลาสติกต้านแบคทีเรีย
ของใช้พลาสติกหลากหลายชนิดในชีวิตประจำวันได้จากการนำกากชามาผสมกับเม็ดพลาสติกและนำมาขึ้นรูปเป็นพลาสติกต่างๆที่มีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้แก่ ถังขยะ ปากกาและกระถางปลูกต้นไม้ เป็นต้น
เก้าอี้จากส่วนผสมของโฟมและกากชา
เก้าอี้ดังกล่าวได้จากการนำกากชาเหลือทิ้งในปริมาณที่ผลิตน้ำชาขวดปริมาตร 500 มิลลิลิตร ประมาณ 250 ขวด มาบดรวมกับเม็ดโฟมเหลือทิ้งประมาณ 1,000 ชิ้น และนำมาขึ้นรูปเป็นเก้าอี้ขนาดความกว้าง 160 เซนติเมตร ความสูง 74.5 เซนติเมตรและความหนา 61 เซนติเมตร
กล่องกระดาษสำหรับบรรจุของขวัญและเครื่องสำอาง
กล่องกระดาษชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษในการต้านแบคทีเรียและขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ซึ่งเหมาะแก่การใช้บรรจุของขวัญตามธรรมเนียมของคนญี่ปุ่น
กระเบื้องเคลือบจากกากชา
กระเบื้องเคลือบจากกากชามีคุณสมบัติในการขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์และเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดี ซึ่งได้จากการนำกากชามาผสมและบดให้เข้ากันกับวัสดุที่ใช้ทำกระเบื้องเคลือบแล้วนำไปเผา ทั้งนี้กระเบื้องเคลือบจากกากชาจะเบากว่ากระเบื้องเคลือบจากวัสดุปกติ
นอกจากนี้ยังมีการนำกากชามาเป็นส่วนผสมของวัตถุดิบในการผลิตซองกระดาษและลังบรรจุชาเขียว เป็นต้น
ด้วยคุณสมบัติที่ดีของกากชา ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและนิสัยเสียดายของคนญี่ปุ่น ทำให้มีการนำกากชามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์และสินค้าจากกากชาก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดีค่ะ