รีวิว “DIY มุมทำงานในห้อง” ออกแบบเรียบง่าย ใช้งานได้ครบ ในงบหลักพัน

รีวิว “DIY มุมทำงานในห้อง” ออกแบบเรียบง่าย ใช้งานได้ครบ ในงบหลักพัน

รีวิว “DIY มุมทำงานในห้อง” ออกแบบเรียบง่าย ใช้งานได้ครบ ในงบหลักพัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการสื่อสาร ทำให้เกิดอาชีพขึ้นมาหลายหลาย โดยเฉพาะด้านสื่อ และเทคโนโลยี จึงทำให้หลายๆ คนสามารถทำงานได้จากที่บ้าน แต่ทั้งนี้การทำงานที่บ้านเราก็ควรที่จะมีพื้นที่ทำงานที่เหมาะสม เพื่อให้ทำงานได้อย่างสะดวกสบายที่สุด

วันนี้ ในบ้าน จะพาเพื่อนๆ ไปชมรีวิว DIY ห้องทำงาน จากคุณ หมีสร้างบ้าน (Bearbuilder) งานนี้เจ้าตัวใช้งบประมาณเพียงหลักพันเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ขอบอกว่าน่าประทับใจและตอบโจทย์การทำงานสุดๆ เราไปชมรายละเอียดกันเลยครับ

แชร์ประสบการณ์ DIY ห้องทำงานด้วยตัวเองด้วยงบหลักพัน (Built-in โต๊ะทำงาน) l จัดเต็มรูป + รายละเอียด

(โดยคุณ หมีสร้างบ้าน (Bearbuilder))

สำหรับรีวิวนี้ก็ยังคง Concept เดิมของหมีสร้างบ้าน คือ เน้นรีวิวแบบละเอียดที่สุดเท่าที่พอจะจำขั้นตอนได้ เผื่อใครอยากทำตามจะได้ไม่ต้องเสียเวลามากนัก ไปเริ่มกันเลยครับ

ขั้นตอนที่ 1 : ออกแบบให้ดี จะทำงานได้ง่าย

เริ่มต้นก็เขียนแบบกันก่อนเลย ด้วยโปรแกรม Google SketchUP เป็นโปรแกรมที่ดี ที่สำคัญยังเป็นของฟรีอยู่ ส่วนไอเดียก็มีอยู่ในมือถือ กดเข้าไปที่ www.pinterest.com แล้วใช้คำค้นประมาณ working, room, decoration ก็จะมีแบบห้องให้เลือกเยอะแยะเลยครับ

จากนั้นก็ทำการวัดขนาดห้องให้เรียบร้อย จุดประสงค์ก็เพื่อนำมาจำลองในโปรแกรมด้วยสัดส่วน 1:1 เวลาเราออกแบบในโปรแกรมเสร็จก็จะได้ขนากของชิ้นงานจริงๆที่เราต้องการจะตัดครับ แล้วก็จะประเมินได้เลยว่าต้องซื้ออะไร เท่าไหร่ จะใช้งบรวมทั้งหมดกี่บาท คุ้มหรือไม่คุ้มก็ติดสินได้เลยที่ขั้นตอนนี้ครับ

สำหรับหมีสร้างบ้านแล้ว งานนี้เป็นงานแรกที่ตัดสินใจเสี่ยงทำงานเหล็ก ด้วยความที่ไม่เคยจับงานด้านนี้เลย ตอนแรกก็มีฝ่อๆกันบ้าง กลัวว่าจะทำไม่สำเร็จ ด้วยเสียงลือเสียงเล่าว่างานเหล็กทำยาก อันตราย สกปรก การเชื่อมเหล็กก็ทำยากถ้าไม่เคยมีประสบการณ์ ไม่รู้วิธีปรับไฟเหมาะสม แรงเกินก็ทะลุ เบาเกินก็เชื่อมไม่แข็งแรง

แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจจะลองเรียนรู้ดู เพราะว่าถ้าจะแต่งบ้านเองจริงๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นงานแบบนี้ สุดท้ายก็ตัดสินใจซื้อเครื่องมือใหม่มาอีกสองชิ้น (แท่นตัด กับ ตู้เชื่อม)

เมื่อตกลงปลงใจให้พร้อมลุยงานแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็มุ่งหน้าไปซื้อของ แล้วก็ลงมือทำงานกันได้เลยครับ

ขั้นตอนที่ 2 : ค่าเสียหาย

ราคาของที่เราใช้กับงานนี้ อ้างอิงราคาตามตารางด้านล่างได้เลยครับ (ราคาอาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ครับ)

ขั้นตอนที่ 3 : กาง Drawing และ ตัดตามแบบ

ด้วยสไตล์การทำงานของพวกเราที่เน้นการออกแบบหน้าคอมมากๆ เพราะเราชื่อว่าถ้าเตรียมตัวดี เราจะทำงานได้เร็ว และทุกๆครั้งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ นี่อาจะจะเป็นเทคนิคนึงที่พอจะแชร์ให้กับเพื่อนๆได้ว่า ถ้าเราออกแบบ วางแผนขั้นตอนการทำงานมาดีตั้งแต่ต้น เราจะเจอปัญหาหน้างานน้อย และเราจะทำงานได้เร็ว

ขั้นแรกก็วัดเหล็กให้ได้ความยาวตามแบบ แล้วขีดเส้นให้ได้มุม 45 องศาสำหรับเป็นเส้นตัด สาเหตุที่ต้องเป็นมุม 45 องศาเพราะว่า ถ้าตัดมุม 90 องศา เวลาประกอบกันจะทำให้ตัวงานเป็นรู ไม่ได้เข้ากันพอดี ถ้าเป็นงานที่ใช้ภายนอกก็จะเป็นตัวเริ่มต้นของสนิม แต่งานภายใน เรากลัวว่าอีกหน่อย เจ้าช่องนี้จะเป็นบ้านหลังใหม่ให้กองทัพจิ้งจกในบ้านเรา

ขั้นตอนการตัดก็ไม่ยาก แต่ต้องระวังกว่าการตัดไม้ ที่สำคัญหาอุปกรณ์ป้องกันด้วยจะดีกับร่างายมากๆ
อุปกรณ์ป้องกันที่สำคัญ มีดังนี้ 1) ผ้าปิดจมูก 2) แว่นตาเซฟตี้ 3) ที่อุดหู

หลังจากนั้นก็เอาเหล็กกล่องวางบนแท่นตัดไฟเบอร์ หมุนตัวล็อคที่ติดมากับเครื่องให้บีบเหล็กให้แนบสนิท จากนั้นเปิดเครื่องแล้วค่อยๆ กดคันโยกลงบนชิ้นงาน

หลักการของแท่นตัดไฟเบอร์ คือ การขัดชิ้นส่วนเหล็กออกจากท่อนเหล็กทีละน้อย ดังนั้นจะเกิดประกายไฟขึ้น และความหนาของใบตัดก็จะมีขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร เพราะฉะนั้น ในขั้นตอนการวัดและติดตั้งบนแท่นจับต้องเผื่อระยะการกินนี้เหล็กนี้ด้วย ไม่งั้นงานที่ออกมาจะไม่ตรงตามที่วางแผนไว้

นอกจากนั้น การกดคันโยกต้องทำช้าๆ ค่อยๆกด และยกคันโยกเล็กน้อยเสมอ กดๆ ปล่อยๆเป็นระยะจนเหล็กขาดออกจากกัน อย่ากดคันโยกลงทีเดียว เพราะมีโอกาสที่ใบเลื่อยจะแตกออกและมาทำอันตรายกับร่างกายได้

ข้อเสียอีกข้อ คือ การกดเร็วจะทำให้รอยตัดไม่ได้ฉาก อันนี้ค่อนข้างหลีกเลี่ยงยากแต่ก็พอช่วยได้จากการค่อยๆกดคันโยกขณะตัด

ขั้นตอนที่ 4 : เริ่มประกอบขาโต๊ะ

หลังจากได้ชิ้นส่วนครบตามที่วางแผนไว้ ขั้นตอนต่อไปก็ถึงเวลาประกอบด้วยการเชื่อมให้ติดกัน
สำหรับขั้นตอนนี้คงไม่อธิบายรายละเอียดทางเทคนิคเยอะเพราะว่าทุกวันนี้ก็เน้นลองถูกลองผิดตลอดทั้งมือสั่นเชื่อมแล้วทะลุเชื่อมแล้วแนวนูนไปไม่สม่ำเสมอ

แต่สำหรับหรับคนนับหนึ่งเหมือนกัน ก็จะแนะนำว่าให้ซื้อเหล็กแผ่นขนาด 10X10 เซนติเมตร ที่มีขายตามร้านวัสดุทั่วไปมาลองเชื่อมเล่นๆดูก่อน ให้รู้สึกชินมือก่อนลงมือจริงก็ช่วยได้เยอะ สำหรับเรายังเดินแนวเชื่อมไม่ได้ ก็ใช้วิธีแต้มเป็นจุดๆเอา เรื่องความแข็งแรงเราไม่ค่อยกังวล เพราะ ดูจากการใช้งานแล้วก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก รอยเชื่อมแบบนี้ก็พอถูไถไปได้ครับ

แต่ข้อนึงที่พอบอกได้ คือ เวลาเชื่อมอย่าเชื่อมที่รอยต่อเดียวจบ เพราะ เหล็กเวลาโดนความร้อนจะขยายตัวและจะเกิดการหดตัวหลังจากที่เหล็กเย็นตัว ซึ่งจะทำให้งานเราบิด ประกอบกันยาก ควรใช้วิธีแต้มทีละนิด แต้มเป็นจุดๆ ให้ทั่วทั้งชิ้นงาน เอาแค่พอประคองตัวงานได้เป็นรูปเป็นร่างก่อน

หลังจากนั้นค่อยเชื่อมทุกรอยต่อแบบที่เป็นแนวๆทีหลัง เพราะเวลาเหล็กหดตัว จะได้ดึงกันไปมา โครงสร้างของชิ้นงานเราก็จะเบี้ยวไม่มากนักครับ

ขั้นตอนที่ 5 : เริ่มงานสีจ้า

หลังจากเชื่อมและขัดแต่งชิ้นงานเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำสีโครงเหล็กที่ทำหน้าที่เป็นส่วนฐานและส่วนรับท๊อปโต๊ะ โดยเริ่มต้นจากการทาสีรองพื้นเหล็กก่อน เวลาซื้อก็ลองถามพนักงานขายได้ว่าต้องการซื้อสีรองพื้นเหล็ก เค้าก็จะพาไปดูชั้นวาง ส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นได้  2 สีในท้องตลาด คือ สีแดงกับสีเทา

ไม่รู้ว่าสองแบบนี้ต่างกันแบบไหน แต่เห็นคนขายบอกว่าถ้าจะทำสีดำก็ใช้สีเทารองพื้นเพราะจะให้สีดำที่ชัดมากๆหลังจากลงสีเสร็จ

หลังจากเลือกสีรองพื้นได้ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการลงสีน้ำมันก่อนจะทาสีน้ำมันก็ต้องผสมเล็กน้อยเพราะสีที่เราซื้อมานั้นจะมีความหนืดมากๆทาไปก็จะเป็นรอยแปรงทาสีติดที่ชิ้นงานดังนั้นควรซื้อทินเนอร์มาผสมด้วยนิดหน่อยเพื่อปรับความหนืดส่วนเหตุผลอื่นๆ

อันนี้ก็ไม่เคยศึกษาไว้เลยครับคงต้องรอผู้รู้มาแนะนำเพิ่มเติมสำหรับสุดส่วนการผสมก็จะติดไว้ข้างๆกระป๋องสีทำตามได้เลยง่ายๆ ครับ

ทาสีให้ครบทุกชิ้นส่วน ทาจากด้านบนลงล่างเพราะสีน้ำมันจะไหลลงมารวมกัน ถ้าไม่ปาดหรือทาหนาเกินไป สีน้ำมันจะมารวมกันเป็นหยดน้ำเลย ทำให้ชิ้นงานไม่สวยงามครับ

ขั้นตอนที่ 6 : เตรียมท๊อปโต๊ะให้พร้อม

ขั้นตอนนี้จะเป็นการเตรียมส่วนที่เป็นท็อปโต๊ะ หรือ พื้นผิวโต๊ะ วัสดุหลักก็คือเป็นไม้ยางพาราประสาน ข้อดี คือ ลายไม้สวย ข้อเสีย คือ ราคาแรง ถ้าใครไม่ชอบลายไม้ก็ใช้ไม้อัดแทนก็ได้ เลือกใช้เกรดดีๆหน่อย ผิวค่อนข้างเรียบ สามารถทำสีและเก็บผิวได้เนียนๆเลยครับ สำหรับเราสองคนใช้ไม้ยางประสานเพราะว่าเป็นไม้เหลือตั้งแต่โปรเจคทำห้องครัว ก็เลยพอมีอยู่บ้าง

วิธีการส่วนนี้ไม่มีอะไรครับ วัสดุประเภทไม้จะตัดง่าย ไม่อันตรายเท่าเหล็ก แค่ตั้งรั้วและเผื่อระยะตัดให้ดีๆ ก็จะได้ชินงานท๊อปโต๊ะแล้ว จากนั้นก็นำไปขัดด้วยกระดาษทรายให้ผิวเรียบ เทท่านี้ ชิ้นงานไม้ก็พร้อมที่จะทำสีแล้วครับ

ขั้นตอนทำสีก็ไม่ซับซ้อนครับ เลือกซื้อสีย้อมไม้ตามโทนที่ถูกใจตัวเองจากนั้นก็ทำการย้อมสีลงบนไม้ แล้วปิดท้ายด้วยการเคลือบทับด้านหน้าป้องการความชื้น หรือ หยดน้ำในระหว่างการใช้งาน

สำหรับการเลือกสีก็จะมีหลายระบบการทำสี มีตั้งแต่เปิดกระป๋องแล้วทา เขย่าแล้วพ่น หรือ ผสมด้วยสาร A+B+C+ บลาๆ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดแล้วความต้องการส่วนบุคคลครับ

ถ้าต้องการงานที่เคลือบแล้วเห็นเป็นฟิล์มเงาๆ เหมือนกระจก อันนี้จะยุ่งยากพอสมควร แต่เอาแค่เน้นโทนสีตามชอบใช้งานง่ายๆ ก็ใช้แค่สีย้อม+สีเคลือบประเภท Polyurethane (A+B) ก็ปิดงานได้ง่ายๆ ครับ

หลังจากเคลือบเสร็จก็ปิดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 600 ซักครั้งนึงก็จะได้ท๊อปโต๊ะเนียนๆลื่นๆแล้วครับถ้าท่านใดอยากได้รายละเอียดเพิ่มสามารถตามอ่านได้ที่รีวิวการทำห้องครัว หรือ Comment ถามก็ได้ครับ

ขั้นตอนที่ 7 : ประกอบตู้หนังสือ

ประกอบชิ้นส่วนตู้หนังสือแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน ด้วยการยึดด้วยจิ๊ก 90 องศา จากนั้นเจาด้วยสว่านขนาดของดอกเจาะที่ใช้ คือ 3 มิลลิเมตร วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแตกของไม้ยางพาราขณะยึดด้วยตะปูเกลียวเบอร์ 7 ขนาดประมาณ 1-1/2 นิ้ว

จากนั้นใส่แผ่นปิดหลังและตามด้วยชั้นวางหนังสือส่วนตรงกลางก็จะจบขั้นตอนการเตรียมตู้หนังสือ

ขั้นตอนที่ 8 : ชิ้นงานครบก็เริ่มติดตั้งฐาน

เริ่มต้นด้วยการเครียร์พื้นที่ทำงาน จากนั้นตั้งระดับที่จะติดตั้งโต๊ะทำงานด้วยการใช้ระดับน้ำ อันนี้จำช่างมาใช้งาน วิธีการก็ คือ เลือกตำแหน่งใดๆ ก็ได้ที่จะติดตั้งเป็นแหล่งอ้างอิง จากนั้นวัดความสูงจากพื้นถึงผิวโต๊ะที่ระยะ 70-75 เซนติเมตร (อันนี้เป็นขนาดที่เค้าแนะนำมาว่าเป็นความสูงที่เหมาะสำหรับการนั่งทำงาน ก็ต้องลองปรับดูครับ เพราะ ว่าแต่ละคนมีความสูงที่ไม่เท่ากัน)

เมื่อได้ความสูงที่เหมาะสม ขั้นตอนต่อไปก็ใช้สายยางบรรจุน้ำมาตั้งระดับ โดยยึดตำแหน่งที่เขียนไว้ตอนแรกเป็นหลัก จากนั้นก็เอาสายยางที่ใส่น้ำมาทาบกับเส้นที่ขีดไว้ ให้ระดับกับเส้นตรงกัน

จากนั้นดึงปลายสายยางอีกด้านไปไว้ในตำแหน่งใหม่ที่ต้องการจะถ่ายระดับ พยายามประคองระดับน้ำที่จุด้างอิงให้คงที่ด้วยการยกปลายอีกด้านขึ้นและลงอย่างช้าๆ เมื่อตำแหน่งขีดเส้นตั้งต้นและระดับของขอบน้ำในสายยางตรงกันเราก็จะได้ตำแหน่งความสูงใหม่ที่ปลายสบาย

อธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ก็คือใช้หลักความดันบรรยากาศ ปลายทั้งสองด้านของสายยางจะมีความดันบรรยากาศที่เท่ากันเสมอ เมื่อเราใช้วิธีนี้ โต๊ะของเราก็จะมีโอการเอียงหรือเบี้ยวจากการติดตั้งน้อยมากๆ

เมื่อได้ระดับครบแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ใช้สว่านเจาะผนังด้วยดอกเจาะปูน และขนาดของดอกเจาะปูนก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของพุกอีกที โดยในโปรเจคนี้เราเลือกใช้พุกเหล็ก เพราะ หาง่ายและน่าจะแข็งแรงพอที่จะรั้งตัวโต๊ะไว้ได้

ข้อเสียของพุกชนิดนี้ คือ ถ้าผนังของเรามีช่องว่าง มีโอกาสพอสมควรที่ทำให้พุกไม่สามารถยึดติดกับผนังได้และยึดงานไว้ไม่อยู่ ควรหลีกเลี่ยงพุกชนิดนี้กับบ้านที่เป็นอิฐบล็อกอัด เพราะ บล็อคชนิดนี้จะมีรูขนาดใหญ่ด้านใน

สำหรับบ้านเราที่เป็นผนังอิฐมอญก็ยังเจาไปเจอตรงช่องว่างขนาดใหญ่ ทำให้พุกยึดไม่อยู่หลายจุดเหมือนกัน ก็ต้องทำใจเรื่องผนังเสียและต้องเจาะใหม่เพิ่มเติมด้วย

ตำแหน่งของรูเจาะจะใช้การทาบจากโครงชิ้นงานเหล็กก่อนการเจาะที่ผนังเพื่อให้ตำแหน่งสวมและตำแหน่งเจาะผนังคลาดเคลื่อนกันให้น้อยที่สุด จากนั้นก็ทำจนครบทุกชิ้นงานโดยแต่ละชิ้นงานให้ยึดติดกันด้วยน็อตตัวผู้และตัวเมีย

สาเหตุที่เราเลือกทำเป็นชิ้นๆแล้วเอามาประกอบ คือ เราไม่อยากเอาชิ้นเหล็กมาเชื่อมในห้องเพราะกลัวห้องเลอะน้ำมันและรอบสะเก็ดไฟหล่นใส่ เลยเลือกทำเป็นส่วนๆ แล้วนำมาประกอบกันทีหลังแบบเลโก้ วิธีนี้จะเปลืองวัสดุมากกว่าปรกติ

ถ้าใครจะทำตามก็ต้องคำนวณดีๆ เพราะเป็นการเสียค่าใช้จ่ายแบบไม่เกิดโประโยชน์มาก แต่เราสองคนคิดแล้วว่าค่อนข้างคุ้มก็เลยเลือกวิธีนี้ครับ

ขั้นตอนที่ 9 : ติดตั้งงานไม้

เมื่อฐานเสร็จสิ้น ต่อไปก็เริ่มงานด้านท๊อปโต๊ะ ขั้นตอนไปซับซ้อน เริ่มด้วยการยกแผ่นไม้มาวางบนโครงเหล็ก จากนั้นยึดแผ่นไม้กับโครงเหล็กด้วยแคล้มป์หนีบเพื่อป้องกันการโก่งงอของไม้และให้ชิ้นงานไม้แนบสนิทกับตัวโครงเหล็ก ไม่ให้เกิดช่องว่าง

จากนั้นเริ่มทำการยึดด้วยการใช้ตะปูเกลียวขนาด 1/2 นิ้วเป็นตัวยึด โดยการไขจากด้านใต้โต๊ะขึ้นไปยึดด้านบนผ่านทางเดือยที่เราได้เตรียมไว้ เพื่อหลีกเลี่ยงการโชว์หัวน็อต ทำให้ครบทุกมุมก็จะเสร็จสิ้นขั้นตอนนี้ครับ

ขั้นตอนที่ 10 : ปิดงาน

อันที่จริงโต๊ะของเรานั้นเสร็จตั้งแต่ขั้นตอนการติดตั้งแล้ว แต่ว่าขั้นตอนนี้เขียนไว้สำหรับคนที่ชอบความ Perfect เนื่องจากเราไม่มีทางที่จะตัดไม้หรือเหล็กได้ตามที่เขียนไว้ทุกมิลลิเมตร จึงทำให้หลายๆครั้งตัวชิ้นงานจะเกิดช่องว่างขึ้น สำหรับคนที่ไม่ชอบการมีตำหนิของงาน

เราแนะนำให้เพื่อนๆปิดร่อยรอยหรือเก็บงานด้วยซิลิโคน โดยเลือกสีให้ใกล้กับสีของโต๊ะที่เราทำไว้ อย่างของเราก็จะเลือกใช้สีดำ โดยทีก่อนยาแนวก็ให้ใช้เทปใสหรือเทปกาวแปะไว้ที่ผิวโต๊ะและผนังก่อนเพื่อเป็นแนวกันซิลิโคน

จากนั้นก็ใช้ซิลิโคนฉีดตามร่อง ส่วนเจ้าซิลิโคนส่วนเกินก็ใช้น้ำเปล่าผสมน้ำยาล้างจานฉีดลงบนซิลิโคนส่วนเกินเเล้วก็ใช้นิ้วปาดออก รอประมาณ 24-48 ชั่วโมงก็จะเสร็จขั้นตอนนี้แบบสมบูรณ์ ได้โต๊ะคอมพร้อมชั้นหนังสือครับ

อัลบั้มภาพ 40 ภาพ

อัลบั้มภาพ 40 ภาพ ของ รีวิว “DIY มุมทำงานในห้อง” ออกแบบเรียบง่าย ใช้งานได้ครบ ในงบหลักพัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook