Surprise! หลังคลอดเบบี๋
หลังจากตั้งหน้าตั้งตารอให้ลูกน้อยมาตลอด 9 เดือน ภาพอันสวยงามเหมือนฝันที่วาดไว้ว่าเปี่ยมล้นด้วยอารมณ์แห่งความปลื้มปีติตื้นตันใจทันทีที่ได้เห็นหน้าลูก และจบลงด้วยเราสามคนพ่อแม่ลูกตระกองกอดกัน..แฮปปี้เอ็นดิ้ง... แต่เมื่อถึงเวลาจริง ไหงถึงกลายเป็นหนังคนละม้วนเสียนี่ การคลอดที่กินเวลายาวนานจบลงด้วยการวางยาสลบและผ่าตัด สุดท้ายสิ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่คืออาการเจ็บแผล ดังนั้น เรามาปล่อยวางภาพจินตนาการสวยหรูแล้วหยิบอาการหลังคลอดที่เกิดขึ้นจริงมาดูกันดีกว่า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือให้ดีที่สุด จะได้ไม่ผิดหวังจนเกินไปค่ะ
Surprise! ไม่เห็นจะรู้สึกปลาบปลื้มอะไรเลย
การคลอดลูกอาจจะไม่ใช่เรื่องที่โดดเด่นที่สุดในชีวิตของคุณแม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร มีคุณแม่หลายคนผ่านการคลอดลูกอย่างยากลำบากและยาวนานมาก ต้องทนกับอาการเจ็บปวดที่รุนแรง ภาพต่างๆที่วาดฝันไว้พังทลายไปทันที สิ่งเดียวที่ต้องการ ณ ตอนนั้นคือ คลอดออกมาเสียทีเหอะ! และสุดท้ายคุณแม่เหล่านี้ก็จะจบลงด้วยความรู้สึกผิดและผิดหวัง ที่ไม่ได้รู้สึกมีความสุขขณะที่คลอดลูก ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่หลงเหลือความรู้สึกนั้นแล้ว และมีแต่ความรักลูกที่เพิ่มขึ้นทุกวันๆก็ตาม
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับฉันล่ะ ประสบการณ์การการคลอดลูกนั้นถือเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ดร.เดบอร่าห์ รอธ เลดลี่ย์ นักจิตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ Becoming a Calm Mom: How to Manage Stress and Enjoy the First Year of Motherhood กล่าวว่า “คุณแม่ป้ายแดงมักจะประสบกับอารมณ์ที่หลากหลายมากมาย มีทั้งดีและแย่ปนเปกัน สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครสามารถช่วยได้ก็คือ อารมณ์ด้านลบทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากๆ เพราะคุณแม่ต้องเหนื่อยล้าจากการคลอด ท้อแท้กับการให้นมลูก และสุดท้ายคือการอดหลับอดนอน”
และเมื่อเราหวนไปนึกถึงความคิดลบๆเหล่านั้น คุณแม่ก็มักจะโทษตัวเองว่า “ฉันคงเป็นแม่ที่ไม่ดี” หรือ “ฉันคงไม่เหมาะจะมีลูก” วิธีแก้คือ ให้มองว่าอารมณ์และความคิดต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ไม่จมอยู่กับมัน และก้าวต่อไปข้างหน้า ในขณะที่เราเลี้ยงลูก เรามักจะเกิดความคิดที่ดีพอๆกับความคิดที่แย่ อย่างเช่น “ลูกคนนี้น่ารักจังเลย” กับ “โอ๊ย ฉันเลี้ยงไม่ไหวแล้ว” ดังนั้น จงโฟกัสแต่ความคิดดีๆที่เกิดขึ้นมาจะเป็นประโยชน์มากกว่า
เอ่อ...ไม่รู้สึกผูกพันกับลูกเลย
คุณแม่มือใหม่ทุกคนคาดหวังว่าตัวเองจะต้องรักลูกทันทีที่พบหน้า แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอะไร เพราะเราไม่เคยเห็นเด็กแรกเกิดมาก่อน เด็กจะตัวซีด ปากแดง ผิวหนังเหี่ยว ศีรษะรีๆ เหมือนเอเลี่ยน คุณแม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนก็มักจะตกใจและรู้สึกว่าลูกเหมือนคนแปลกหน้า และสุดท้ายก็เกิดความรู้สึกผิดที่ตัวเองคิดเช่นนั้นกับลูก
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับฉันล่ะ การเกิดความผูกพัน (Bonding) ทันทีที่พบหน้า เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกคน ดร.เลดลี่ย์กล่าวว่า “เด็กก็คือคนคนหนึ่ง ที่เราต้องใช้เวลารู้จักและเรียนรู้ เช่นเดียวกับสามีของเรา คุณแม่รู้สึกผูกพันกับสามีตั้งแต่ครั้งแรกที่เดทกันหรือเปล่า” ดังนั้นคุณแม่ต้องให้เวลากับตัวเองและผ่อนคลาย ถึงแม้จะเริ่มต้นไม่ดี แต่ความผูกพันนี้เป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่จะค่อยๆเกิดขึ้นเมื่อเราได้ใกล้ชิดกับลูกน้อย ดร.เลดลี่ย์ เสริมว่า “จงสนุกกับการเป็นคุณแม่ อาบน้ำ ป้อนอาหาร และโอบกอดลูกน้อย สุดท้ายความผูกพันนี้ก็จะเกิดขึ้นได้เอง”
ฉันเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดเหรอเนี่ย
มีสถิติบันทึกไว้ว่า 15% ของคุณแม่มือใหม่มักเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression - PPD) ดร. โชชาน่า เบนเน็ตต์ นักจิตวิทยาคลินิก ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Postpartum Depression for Dummies และผู้มีประสบการณ์ตรงหลังคลอดลูกตัวเอง กล่าวว่า “คุณแม่มือใหม่ส่วนมากจะรู้สึกหงุดหงิด เบื่อหน่าย เศร้า สูญเสียความอยากอาหารและมีปัญหาการนอน ถ้าหาก 2-3 สัปดาห์หลังคลอดแล้ว ความรู้สึกเหล่านั้นไม่หายไป และเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันละก็ คุณแม่อาจเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิด และไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นคนนิสัยไม่ดีหรือเป็นแม่ที่แย่” โรคนี้โดยมากมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมไปถึงการทรมานจากบาดแผล การขาดการเอาใจใส่จากคนรอบข้าง และความรู้สึกไม่มั่นใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือ โรคนี้ไม่ใช่โรคที่ควรละเลย หรือคิดเองว่าเดี๋ยวมันก็หายไป
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับฉันล่ะ หากคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า ก็จะต้องยอมรับว่าเป็น และไม่แกล้งทำว่าฉันสบายดี แต่ควรไปหาผู้เชี่ยวชาญหรือนักบำบัด อีกทั้งสมาชิกในครอบครัวก็สำคัญมาก ควรให้การดูแลเอาใจใส่ ไม่ปล่อยให้คุณแม่ต้องเผชิญหรือแก้ปัญหานี้คนเดียว มิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้
โอ๊ย คุณสามี ไม่ล่ายหล่างใจเลย! (ไม่ได้ดังใจเลย)
เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว สามีเราอาจกลับตาลปัตร จากที่เคยกระตือรือร้นช่วยเหลือดูแลเราระหว่างท้องและระหว่างคลาสเตรียมคลอด กลับกลายเป็นคนนิ่งเฉย ไม่ช่วยดูแลลูก และผลักภาระให้เราทั้งหมด จนคุณแม่รู้สึกผิดหวังและโกรธ
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับฉันล่ะ อย่างแรกเลยคือ ปล่อยวาง และอนุโลมให้คุณสามีหน่อย อย่าลืมว่าการตั้งครรภ์และการมีลูกก็ส่งผลต่ออารมณ์ของคุณสามีได้เช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ชายมักจะถูกคาดหวังไว้มากมาย เช่น จะต้องเป็นโค้ชให้คุณแม่ตอนคลอด เป็นสามี เป็นพ่อ และอีกมากมาย บทบาทเหล่านี้ทำให้คุณสามีรู้สึกมึนและกังวลอย่างมาก คงต้องให้เวลาเขาปรับตัวอีกนิด จะได้มีช่วงเวลาที่ดี ไม่ใช่มีแต่ความโกรธและขุ่นเคืองที่คุณสามีไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวังไว้
ฉันไม่ใช่ซุป’ตาร์
เอาละ เราไม่ใช่เจสสิก้า อัลบ้า หรือแองเจลิน่า โจลี่ ที่จะกลับมามีหุ่นสวยเป๊ะหลังคลอดลูกได้ภายในเดือนเดียว (แน่ล่ะสิ เขามีทั้งพี่เลี้ยงเด็ก เทรนเนอร์ และเชฟส่วนตัว) จงทำใจให้สบาย หากหุ่นเราจะไม่กลับมาสวย หรือสวยแต่ไม่เป๊ะเท่าแต่ก่อน เพราะนี่คือเรื่องปกติ ย้ำ เรื่องปกติ คงต้องโทษสื่อต่างๆทั่วโลกที่มักเขียนว่า คุณแม่ควรต้องมีหุ่นแบบนั้นแบบนี้โดยเอาชีวิตดารามาเปรียบเทียบ ซึ่งมันเป็นได้ยากในชีวิตจริงของเรา สุดท้ายพอไม่เป็นอย่างนั้น ก็ทำให้บั่นทอนความมั่นใจของเราไป
ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับฉันล่ะ หากคุณแม่รู้สึกแย่กับตัวเอง จงเลิกเปรียบเทียบ แล้วหันมายอมรับความจริงว่าที่ร่างกายต้องเปลี่ยนไปเพราะเราท้องและเราได้เป็นแม่ ถึงแม้เราจะกลับไปน้ำหนักเท่าเดิม แต่รูปร่างเราก็เปลี่ยนไปแล้ว แทนที่จะมากังวลและว่าร้ายตัวเอง หันมาพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารสดใหม่และสุขภาพดี พาเจ้าตัวน้อยไปเดินเล่นจะดีกว่า แล้ววันหนึ่ง คุณแม่จะเห็นว่าตัวเองนั้นเป็นผู้หญิงที่มีสุขภาพดี มีความสุข และเป็นที่รักของลูกๆ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดีกว่าการมานั่งกังวลว่าฉันใส่ชุดนั้นชุดนี้ไม่สวยเพราะว่าหุ่นฉันไม่ดีเป็นไหนๆ!
ภาพประกอบจาก http://www.thinkstockphotos.com/