เคล็ดลับ ปลูกยางอินเดียในบ้านอย่างไรให้สวยทน

เคล็ดลับ ปลูกยางอินเดียในบ้านอย่างไรให้สวยทน

เคล็ดลับ ปลูกยางอินเดียในบ้านอย่างไรให้สวยทน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในพรรณไม้ยอดฮิตที่นิยมนำมาปลูกในบ้านคงหนีไม่พ้น ยางอินเดีย ไม้ใบสวยทนที่มาพร้อมความโดดเด่นจากใบสวยงามได้รูป ไม่ว่าจัดวางมุมไหนก็ช่วยทำให้บ้านสวยงาม ชวนสะดุดตา และน่ามอง

รู้จักยางอินเดีย

  • ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ยางอินเดีย หรือต้นยางลบ (Rubber Plant) จัดเป็นไม้ใบประดับที่มีความโดดเด่นด้วยคุณสมบัติของน้ำยางสีขาวข้นอยู่ภายในลำต้น จึงช่วยลดการคายน้ำในลำต้นได้ดีและทำให้ใบไม้ไม่ค่อยเหี่ยวเฉาหรือร่วงหล่น เมื่อน้ำยางแข็งตัวเป็นก้อนอ่อนนุ่มจะสามารถนำไปใช้เป็นยางลบดินสอได้ ซึ่งพรรณไม้ชนิดนี้เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ในสกุลฟิคัส (Ficus) หรือไทร เช่นเดียวกับต้นไทรใบสักและไทรชนิดอื่น เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะมีรากอากาศห้อยตามลำต้นคล้ายกับต้นไทร ยางอินเดียเป็นไม้ไม่ผลัดใบที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดียและมาเลเซียก่อนถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ลักษณเด่นด้วยใบใหญ่หนาเป็นรูปวงรี สีเขียวเข้ม มีความแข็งแรงเป็นมันเงาแตกต่างจากไม้ใบทั่วไป ซึ่งมีทั้งชนิดใบเล็กและใบใหญ่ มีหลากหลายเฉดสีที่แตกต่างกันไป เช่น สีเขียว สีเขียวอมดำ สีน้ำตาล และสีเขียวประขาว สำหรับต้นยางอินเดียที่มีใบชนิดสีเขียวจะมีใบขนาดใหญ่ ใบหนา ให้สีเขียวเข้มเป็นมัน ปลายใบจะมีความแหลม แต่หากเป็นยางอินเดียชนิดใบด่างแม้จะมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่แผ่นใบด้านบนจะมีสีขาวประเป็นลวดลายสวยที่ดูสวยงามโดดเด่นมากกว่า แม้ยางอินเดียจะเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่เมื่อปลูกลงดิน แต่เมื่อนำมาปลูกลงในกระถางก็สามารถกลายเป็นต้นไม้ขนาดเล็กที่สามารถนำมาปลูกไว้ในบ้านได้ อีกทั้งยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีไม่ว่าจะมีแสงสว่างมากหรือน้อย
  • ยางอินเดียในประเทศไทย ต้นยางอินเดียที่พบในประเทศไทยมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ชนิดใบด่าง และชนิดใบสีเขียว โดยชนิดใบด่างจะได้รับความนิยมนำมาปลูกเพื่อประดับตกแต่งสถานที่ให้สวยงาม ส่วนชนิดใบสีเขียวนิยมนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากใบในการทำพวงหรีด หรืออาจมีการนำมาปลูกเพื่อการประดับสถานที่เช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากมีลำต้นเป็นทรงพุ่มใหญ่และสูง จึงไม่เหมาะกับการนำมาปลูกในอาคารบ้านเรือนเพื่อความสวยงาม

Photographer: Grab Grow GreenPhotographer: Grab Grow Green

การปลูกยางอินเดียที่เหมาะสม 

ต้นยางอินเดียเป็นพรรณไม้ที่มีความทนทานสูง สามารถดูแลได้ง่าย แม้จะสามารถจัดวางได้ทั้งในที่มีแสงสว่างมากและน้อย แต่ก็มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ช่วยทำให้ต้นยางอินเดียสามารถเจริญเติบโตได้อย่างสวยงาม ดังนี้

  • แสงแดด ยางอินเดียเป็นพรรณไม้ที่ชื่นชอบแดด สามารถปลูกไว้บริเวณพื้นที่กลางแจ้งนอกบ้านที่มีแสงแดดจัดจ้าได้ แต่หากต้องการนำมาปลูกไว้ในบ้านหรือภายในอาคารที่มีแสงแดดน้อยลง แนะนำให้ยกกระถางต้นไม้ออกมารับแดดด้านนอกในที่มีแสงแดดรำไรประมาณ 3-5 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดจากธรรมชาติอย่างเพียงพอและสามารถปรับตัวเพื่อการเจริญเติบโตได้ดี หรือหากไม่มีเวลานำกระถางต้นไม้ออกไปรับแสงแดดจริง ๆ ก็แนะนำให้จัดวางกระถางต้นไม้ไว้ในบริเวณบ้านที่แสงสว่างสามารถส่องถึง อย่างโซนริมหน้าต่าง เป็นต้น
  • ดิน สำหรับวัสดุที่ใช้ในการปลูกต้นยางอินเดีย แนะนำว่าควรเลือกใช้วัสดุปลูกที่เป็นดินร่วนซุย มีความโปร่ง และสามารถระบายน้ำได้ดี โดยอาจผสมดินร่วนและกาบมะพร้าวเข้ากับแกลบดำเล็กน้อย เพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านได้อย่างสะดวกหลังจากการรดน้ำต้นไม้ ก็จะช่วยให้วัสดุปลูกในกระถางสามารถถ่ายเทน้ำและระบายอากาศได้มากขึ้น
  • การรดน้ำ ควรรดน้ำเพียง 3 วันครั้ง หรืออาจสังเกตว่าดินปลูกในกระถางยังมีความชื้นอยู่มากน้อยแค่ไหน หากดินเริ่มแห้งจึงค่อยรดน้ำ โดยควรรดน้ำจนไหลออกมาที่จานรองกระถาง เพื่อให้ดินมีความชุ่มน้ำและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้
  • การปักชำและการตอนกิ่ง ส่วนมากแล้วจะนิยมนำส่วนยอดของต้นยางอินเดียมาใช้ปักชำหรือใช้เทคนิคการตอน โดยจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วันสำหรับการปักชำ ส่วนการตอนจะใช้เวลาประมาณ  10-15 วัน ก็จะได้ต้นยางอินเดียที่เจริญเติบโตอย่างสวยงาม

Photographer: Grab Grow GreenPhotographer: Grab Grow Green

ดูแลใบให้สวยอยู่เสมอ

จุดเด่นที่ทำให้ต้นยางอินเดียกลายเป็นพรรณไม้ในบ้านสำหรับประดับตกแต่งเพิ่มความสวยงาม คือการมีใบขนาดใหญ่ที่เป็นรูปทรงสวยได้สัดส่วน ใบมีความหนาแข็งแรงและเป็นมันเงา อีกทั้งยังมีสีของใบที่เป็นเอกลักษณ์ ช่วยสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้ดูรื่นรมย์และน่าค้นหาไปพร้อมกัน ซึ่งนอกจากการดูแลต้นยางอินเดียให้เจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมแล้ว การดูแลใบให้สวยงามก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญในการปลูกต้นยางอินเดียด้วยเช่นกัน

  • ทำความสะอาดใบ หากปลูกยางอินเดียไว้เพื่อเป็นไม้ประดับในบ้าน แนะนำให้หมั่นใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดใบยางอินเดียให้มีความมันลื่นเงางามอยู่เสมอ เพื่อให้ต้นไม้ดูสวยงามและมีใบที่สวยสมบูรณ์พร้อมสำหรับการประดับตกแต่งบ้าน
  • ตัดแต่งกิ่งใบ หากต้องการตัดแต่งกิ่งต้นยางอินเดียที่ซื้อมาปลูกไว้ในกระถางเพื่อให้เป็นไม้ประดับที่ดูสวยงามและลงตัวกับพื้นที่ภายในบ้านอย่างเหมาะสม แนะนำให้ตัดแต่งยอดเพื่อให้เกิดการแตกพุ่มใบใหม่และช่วยทำให้ส่วนยอดของต้นยางอินเดียไม่เติบโตจนสูงมากเกินไป รวมทั้งควรตัดแต่งใบและกิ่งที่มีความแก่ของต้นยางอินเดียออก เพื่อให้มีการแตกยอดใบใหม่เสมอ

Photographer: Grab Grow GreenPhotographer: Grab Grow Green

ปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับการปลูกต้นยางอินเดีย

  • ใบเหลือง ร่วงง่าย สิ่งที่มักเกิดขึ้นกับการปลูกต้นยางอินเดียหลังจากซื้อมาไม่นานคือปัญหาใบที่สวยงามกลายเป็นสีเหลืองและหลุดร่วงได้ง่าย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นไม้ไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อต้องมาอยู่ในบ้านที่มีแสงแดดน้อย และอาจเกิดปัญหาใบเฉากลายเป็นสีเหลืองและทิ้งใบหลุดร่วงในที่สุด ทางที่ดีหลังจากการซื้อต้นยางอินเดียมาใหม่จึงควรวางตั้งไว้ในที่มีแสงแดดรำไรด้านนอกก่อนนำเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน เพื่อให้ต้นต้นไม้สามารถปรับตัวได้ก่อนนำไปวางตั้งประดับภายในบ้าน
  • ใบแห้งไหม้เป็นสีน้ำตาล ปัญหาใบแห้งส่วนใหญ่ที่มักเกิดกับต้นยางอินเดียมักจะมาจากการขาดน้ำ หรือได้รับน้ำในปริมาณที่ไม่เพียงพอ จึงควรรดน้ำให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ แต่ไม่ควรรดน้ำจนขังแฉะในกระถาง เพราะอาจทำให้รากเน่าจากน้ำที่ขังอยู่ได้ โดยควรพิจารณาตามสภาพของดินไม่ให้แห้งหรือแฉะจนเกินไป แต่ควรอยู่ในระดับความชื้นที่เหมาะสม
  • ลำต้นยืดหาแสง อีกปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับการปลูกยางอินเดียในอาคารคือลำต้นยืดหาแสงสว่างจนเสียรูปทรงไปจากเดิม ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการตัดแต่งกิ่งใบให้มีรูปร่างที่เหมาะสม โดยอาจนำกิ่งที่ตัดแต่งออกมาไปขยายพันธุ์ใหม่ด้วยการปักชำกิ่ง ก็จะช่วยให้สามารถขยายพรรณไม้ให้เจริญเติบโตได้อีกหลายต้นโดยไม่ต้องทิ้งกิ่งก้านให้ไร้ประโยชน์ 

Photographer: Grab Grow GreenPhotographer: Grab Grow Green

จัดวางในมุมที่เหมาะสม

นอกจากคนส่วนใหญ่จะนิยมนำต้นยางอินเดียมาปลูกไว้ในกระถางเพื่อตั้งประดับภายในบ้านให้สวยงามแล้ว ต้นยางอินเดียยังนับเป็นพรรณไม้ชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเป็นไม้ฟอกอากาศภายในบ้านให้สดชื่น จึงควรนำต้นยางอินเดียไปปลูกไว้ในบริเวณที่ทำกิจกรรมบ่อยมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก หรือห้องนอน โดยจัดวางไว้ในบริเวณที่แสงสว่างสามารถส่องถึงอย่างมุมหน้าต่างของห้อง เพื่อช่วยดูดซับสารพิษที่มาจากวัสดุเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เพื่อให้อากาศบริสุทธิ์และรื่นรมย์มากยิ่งขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook