เคล็ดลับหา “บ้านเช่า” ให้ตรงใจ
ด้วยสภาพเมืองกรุงที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และการจราจรที่สุดจะติดขัด ทำให้การเดินทางแต่ละครั้ง เป็นเรื่องที่เหนื่อยและเสียเวลาอย่างมาก หลายคนจึงเริ่มคิดหาที่อยู่อาศัยใกล้สถานศึกษาหรือที่ทำงาน เหมือนเป็นการควักกระเป๋าซื้อความสะดวกสบายให้ตัวเอง แต่จะซื้อบ้านเพื่ออยู่เลยก็มีเงินไม่พอ หาบ้านเช่าแบบรายเดือนน่าจะดีกว่า
แต่หลายคนยังไม่รู้ว่า การหาบ้านเช่า ควรเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนดี วันนี้ Tonkit360 มีเคล็ดลับที่จะช่วยให้คุณหาบ้านเช่าได้ถูกและตรงใจ มาฝากกัน
หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต หรือเดินหาด้วยตัวเอง
หากคิดว่าจะหาบ้านเช่าดี ๆ ราคาประหยัด ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งที่คุณต้องรีบทำ คือ การค้นหาข้อมูลบ้านเช่า เพราะบ้านเช่าที่ทั้งดีและราคาไม่แพง ย่อมเป็นที่หมายปองของใครต่อใคร หากมัวชักช้า คุณอาจจะพลาดโอกาสดี ๆ ได้
แต่อย่าคิดจะหาข้อมูลแต่ในอินเทอร์เน็ตนะ เพราะบ้านเช่าบางแห่งก็ไม่ได้ประกาศหาผู้เช่าผ่านเว็บไซต์ ดังนั้น การเดินเท้าหาบ้านเช่าด้วยตัวเองก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี นอกจากจะได้เห็นสภาพบ้านและบริเวณโดยรอบ คุณยังได้รู้ข้อมูล อย่างทำเลที่ตั้ง การเดินทาง หรือแหล่งของกินด้วย
ค่าเช่าบ้าน ไม่ควรเกิน 30% ของรายได้
โดยปกติแล้ว ค่าเช่าบ้านที่เราสามารถจ่ายได้ คือ ประมาณ 30% ของรายได้ทั้งหมด อาทิ คุณได้เงินเดือน 32,000 บาท/เดือน ค่าเช่าบ้านที่คุณสามารถจ่ายได้สูงสุดอยู่ที่ 9,600 บาท/เดือน แต่หากคิดรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อาทิ ค่าน้ำ, ค่าไฟ, ค่ารถ, ค่าอินเทอร์เน็ต, ค่าโทรศัพท์ หรือค่าซื้อของเบ็ดเตล็ด เป็นต้น และบางครั้งบ้านเช่าที่ว่า คุณในฐานะผู้เช่าอาจต้องหาเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งเข้ามาเอง
บ้านเช่าตอบโจทย์ความคุ้มค่าหรือไม่
นอกเหนือจากจำนวนห้องนอนและห้องน้ำ ต้องดูว่า พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านเช่า ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวันของคุณหรือไม่ อาทิ คุณมีรถยนต์ 1 คัน มีพื้นที่จอดรถในบ้านหรือไม่, หากคุณชื่นชอบการปลูกต้นไม้ บ้านเช่ามีสวนเล็ก ๆ หรือพื้นที่ว่างให้ปลูกต้นไหม หรือหากคุณชื่นชอบการอ่านและสะสมหนังสือ บ้านเช่าอาจต้องมีพื้นที่ว่างพอให้คุณทำห้องหนังสือ เป็นต้น
แม้บางครั้งพื้นที่ใช้สอยเหล่านี้ อาจต้องแลกมาด้วยการเสียพื้นที่บ้านหรือห้องบางส่วน อย่างเช่น ถ้าต้องการพื้นที่สีเขียว คุณอาจได้บ้านที่เล็กลง หรือจ่ายค่าเช่าแพงขึ้น เพื่อให้ได้พื้นที่สีเขียวและขนาดบ้านที่ใหญ่เท่าเดิม แต่ท้ายที่สุด คุณต้องพิจารณาให้ดีว่า มีความจำเป็นต้องจ่ายแพงขึ้น เพื่อให้ได้พื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้นจริงหรือ
วางแผนการเดินทาง
หลังได้บ้านเช่าที่ถูกใจแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาลำดับต่อมา คือ วางแผนการเดินทางของคุณว่า วัน ๆ หนึ่งคุณเดินทางอย่างไร จำเป็นต้องพึ่งพายานพาหนะในการเดินทางประเภทใดบ้าง อาทิ รถยนต์ส่วนตัว รถเมล์ รถแท็กซี่ รถตู้ เรือโดยสาร รถไฟฟ้า BTS หรือรถไฟใต้ดิน MRT เป็นต้น
หากคุณต้องเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้า BTS เป็นหลัก แต่บ้านเช่าอยู่ในทำเลที่ห่างไกล จำต้องนั่งวินมอเตอร์ไซค์ มาต่อรถตู้ เพื่อเดินทางมายังรถไฟฟ้า BTS หากเป็นเช่นนี้ นอกจากสิ้นเปลืองค่าเดินทาง คุณอาจต้องเสียเวลาเดินทางมากกว่าเดิม ฉะนั้น คุณควรพยายามมองหาบ้านเช่าที่อยู่ในบริเวณที่ช่วยให้ประหยัดค่าเดินทางและประหยัดเวลาจะดีกว่า
สำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกโดยรอบ
ลองสำรวจดูว่า รอบ ๆ บ้านเช่าของคุณมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง อาทิ มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ ตลาด ห้างสรรพสินค้า หรือสวนสาธารณะหรือไม่ เพราะคุณต้องอย่าลืมว่า ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่คุณไม่มีแพลนไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน จะได้มีสถานที่ที่สามารถออกไปทำกิจกรรมคลายเครียดหลังทำงานหนักตลอด 5 วันได้ อย่างไปเดินช้อปปิ้งที่ห้าง ไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ หรือไปนั่งจิบกาแฟ อ่านหนังสือที่ร้านกาแฟ
ดูเรื่องความปลอดภัย
การจะย้ายเข้าไปเป็นสมาชิกใหม่ในชุมชมใด ชุมชนหนึ่ง นอกจากสำรวจพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกโดยรอบ คุณต้องดูเรื่องการรักษาความปลอดภัยด้วยว่า มีความปลอดภัยมากพอหรือไม่ อาทิ หากคุณเลือกเช่าบ้าน ที่อยู่ในโครงการแห่งหนึ่ง ก็ควรรู้ว่า ระบบรักษาความปลอดภัยที่โครงการนี้ มีการตรวจสอบคนเข้า-ออกหรือไม่ มีเจ้าหน้าคอยเดินหรือปั่นจักรยานตรวจรอบโครงการหรือไม่ และมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามจุดต่าง ๆ หรือไม่
แต่หากบ้านเช่าของคุณตั้งอยู่ภายในซอยธรรมดา ๆ ก็ไม่แปลกที่จะไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยตรวจตรา ซึ่งกรณีนี้ให้คุณเช็กกับเพื่อนบ้าน หรือคนที่พักอาศัยในพื้นที่ดังกล่าวแทนว่า ปกติมีตำรวจสายตรวจออกตระเวนตรวจบ้านในละแวกดังกล่าวทุกวันหรือไม่
ทั้งนี้ คุณควรเช็กว่า ที่ผ่านมาเคยมีแก๊งตระเวนลักทรัพย์ หรือมีเหตุกระชากกระเป๋าในละแวกบ้านเช่าหรือไม่ด้วย
สืบข้อมูลจากเพื่อนบ้าน
เมื่อคุณมีโอกาสก็ควรแวะเวียนไปทำความรู้จักและพูดคุยกับเพื่อนบ้านหรือหรือคนที่พักอาศัยในละแวกใกล้เคียง เพื่อสอบถามถึงอุปนิสัยของเจ้าของบ้านเช่า รวมถึงพฤติกรรมของเพื่อนบ้านด้วย เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจก่อนเซ็นต์สัญญาเช่าบ้าน เหมือนที่ซุนวู เคยกล่าวไว้ว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง”