ปัญหาบ้านทรุดตัว เรื่องสำคัญที่ต้องรีบแก้ไข
ปัญหาบ้านทรุดอาจเกิดขึ้นได้กับบ้านทุกหลัง โดยมีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุบ้านทรุด เช่น พื้นที่ตั้งของบ้าน กาลเวลา แรงสั่นสะเทือน ความแข็งแรงของโครงสร้าง และน้ำหนักของตัวบ้าน เจ้าของบ้านจึงต้องเข้าใจสาเหตุเพื่อเตรียมรับมือ และเฝ้าสังเกตสัญญาณต่าง ๆ ที่กำลังบ่งบอกว่าบ้านทรุดเอียง หากพบปัญหาเมื่อไร ก็ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน ก่อนปัญหาจะลุกลามจนเกินรับมือ
บ้านทรุดเกิดจากอะไรสภาพพื้นดิน
เนื่องจากพื้นดินนั้นมีหลายลักษณะ ซึ่งมีความอ่อน ความแข็ง ความหนาแน่น และการยุบตัวที่แตกต่างกันตามโครงสร้างและส่วนประกอบของเนื้อดิน ยกตัวอย่างเช่น พื้นดินในเขตกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ดินมีลักษณะเป็นตะกอนดินเหนียวปากแม่น้ำ มีความอ่อนนุ่มและทรุดตัวง่าย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นดินในเขตกรุงเทพฯ ทรุดตัวง่ายกว่าจังหวัดอื่น
นอกจากนี้ บ้านจัดสรรในย่านชานเมือง ก็มักจะตั้งอยู่บนที่ดินที่เคยเป็นบ่อปลา หรือพื้นที่ที่เคยขุดหน้าดินไปถมที่อื่นมาก่อน ดินถมใหม่จึงทรุดตัวง่ายกว่าพื้นดินธรรมชาติ เป็นสาเหตุที่บ้านในย่านชานเมืองมีปัญหาบ้านทรุดให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
ระบบฐานราก
ฐานรากเป็นส่วนสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าบ้านทรุดตัวยากหรือง่าย หากเสาเข็มหยั่งลึกไม่ถึงชั้นดินดาน หรือแตกหักภายในชั้นดิน หรือตั้งไม่ตรงกับเสาบ้าน หรือเสาเข็มแต่ละด้านหยั่งอยู่บนดินที่ต่างชนิดกัน ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการวางแผนก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ตรวจสอบชั้นดินให้ดีก่อนลงเสาเข็ม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านทรุดเอียงง่ายขึ้น
น้ำหนักบ้าน
โครงสร้างบ้านนั้นถูกออกแบบให้รองรับน้ำหนักได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งเพียงพอต่อการอยู่อาศัยตามปกติ แต่ถ้ามีน้ำหนักมากดทับมากเกินไป เช่น มีการต่อเติมบ้าน ทำชายคา ต่อหลังคาโรงจอดรถ หรือมีสิ่งของน้ำหนักมากเข้ามาเก็บในบ้าน น้ำหนักที่มากขึ้นก็เป็นสาเหตุบ้านทรุดตัวได้
สัญญาณที่บ่งบอกว่าบ้านทรุด
รอยร้าวบนตัวบ้าน
รอยร้าวในบ้านมีทั้งแบบอันตรายและไม่อันตราย หากเป็นรอยร้าวแตกลายงาของผิวปูนฉาบและสี ก็ยังพอวางใจได้ แต่ถ้ามีรอยร้าวขนาดใหญ่บนผนังหรือเสา หรือรอยร้าวในลักษณะบ้านทรุดไม่เท่ากัน จนผนังแยกตัวออกจากกันในแนวทแยงมุม รอยร้าวเหล่านี้คือสัญญาณอันตรายที่กำลังบ่งบอกว่าโครงสร้างมีปัญหา
พื้นดินยุบเป็นโพรง
ลองสำรวจพื้นดินรอบ ๆ ผนังบ้าน หากมีพื้นดินที่ยุบตัวจนเห็นโพรงใต้บ้าน ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าพื้นดินรอบบ้านกำลังทรุดตัว แต่จะกระทบกับตัวบ้านมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับความมั่นคงของเสาเข็ม โดยมักจะมีปัญหากับพื้นปูนที่ไม่มีเสาเข็ม เช่น พื้นที่ซักล้างหลังบ้าน พื้นปูนทางเดินข้างบ้าน หรือพื้นลานจอดรถ นอกจากนี้ ดินที่ยุบเป็นโพรงก็อาจกลายเป็นที่อยู่อาศัยของหนูหรืองูอีกด้วย
ปัญหาบ้านทรุด ต้องแก้ไขอย่างไรติดต่อโครงการขาย
ในกรณีที่ซื้อบ้านใหม่ ผู้ขายจะรับประกันโครงสร้างบ้านให้ผู้ซื้ออย่างน้อย 5 ปี หากเจ้าของบ้านไม่ต่อเติมบ้านที่ผิดเงื่อนไขการรับประกัน ก็สามารถเรียกร้องให้ผู้ขายดำเนินการแก้ไขปัญหาบ้านทรุดได้ หากผู้ขายไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา เจ้าของบ้านสามารถแจ้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือฟ้องศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย หรือฟ้องศาลอาญาเพื่อเอาผิดฐานฉ้อโกงได้
ปรึกษาวิศวกรก่อสร้าง
ในกรณีที่เป็นบ้านเก่าหรือหมดประกันแล้ว หากบ้านทรุดต้องแก้อย่างไรจึงจะถูกต้อง ขอแนะนำว่าอย่าเรียกใช้ช่างก่อสร้างทั่วไปมาซ่อมแซมตามปัญหาที่เห็นจากสายตา แต่ควรติดต่อบริษัทผู้เชี่ยวชาญหรือวิศวกรก่อสร้างให้เข้ามาวิเคราะห์สาเหตุและหาทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งอาจต้องขุดพื้นดินเพื่อซ่อมฐานราก หรือใช้เสาดามเพื่อค้ำยันตัวบ้านด้านที่ทรุดเอียง โดยวิธีการซ่อมบ้านทรุดนั้นมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของปัญหาที่พบ
ดีดบ้านเพื่อปรับฐานราก
ในกรณีที่พื้นดินทรุดตัวหนักหรือฐานรากเสียหายจนเกินซ่อมแซม ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาบ้านทรุดได้แบบไม่ต้องทุบทิ้ง นั่นก็คือ การดีดบ้าน โดยบ้านจะถูกตัดออกจากฐานรากเดิม แล้วยกขึ้นจนลอยตัวเพื่อรื้อฐานรากใหม่ ก่อนจะประกบตัวบ้านให้ติดกับฐานรากใหม่ แต่การดีดบ้านก็เป็นบริการที่มีราคาแพงมาก บ้านยิ่งใหญ่ ยิ่งหนัก ก็ยิ่งทำได้ยาก และต้องดำเนินการโดยบริษัทผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นจึงจะปลอดภัย
ท้ายที่สุดนี้ เจ้าของบ้านทุกคนก็ทราบแล้วว่า หากบ้านทรุด จะต้องทำอย่างไรได้บ้าง และต้องรีบทำโดยเร็วที่สุด ก่อนปัญหาการทรุดตัวจะบานปลายจนเกินแก้ไข เพราะการซ่อมบ้านทรุดเฉพาะจุดที่มีปัญหานั้นย่อมมีราคาถูกกว่าการรื้อฐานรากใหม่ทั้งบ้านอย่างแน่นอน