วิธีซ่อมมุ้งลวดด้วยตัวเอง ไม่ต้องง้อช่าง
มุ้งลวด อีกหนึ่งของใช้ตกแต่งที่ถือว่าสารพัดประโยชน์อย่างมาก ช่วยกันลม กันละอองฝน แมลง และยุงต่าง ๆ ไม่ให้เข้ามาภายในบ้าน แต่มุ้งลวดก็เหมือนกับของใช้ต่าง ๆ ภายในบ้านที่ต้องมีการเสื่อมสภาพไปตามเวลาการใช้งาน แต่คุณก็ยังซ่อมมุ้งลวดให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ลองมาดูวิธีซ่อมมุ้งลวดด้วยตัวเองว่ามีขั้นตอนอย่างไรได้ที่นี่
มุ้งลวดคืออะไร มุ้งลวดพังเกิดจากอะไรได้บ้าง
ก่อนจะไปถึงขั้นตอนวิธีซ่อมมุ้งลวดด้วยตัวเอง ลองมากทำความรู้จัก "มุ้งลวด" กันก่อน มุ้งลวด คือ อุปกรณ์หรือสิ่งของใช้สอยประจำบ้าน ประโยชน์หลักคือนำมาใช้กันยุงและแมลงไม่ให้เข้ามาภายในบ้าน ขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมทั้งป้องกันแสงแดดให้ส่องเข้ามาได้น้อยลง และดักจับฝุ่นละอองได้ด้วย โดยทั่วไปแล้ว มุ้งลวดแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. มุ้งลวดไฟเบอร์
เนื้อสัมผัสนุ่มลื่น มีความยืดหยุ่น ไม่คมและระคายผิว หน้ากว้างมาก มีคุณสมบัติลดการสะท้อนแสงและเกิดสนิมได้ยาก เหมาะแก่การนำมาใช้ทำมุ้งลวดหน้าต่าง โดยเฉพาะบ้านพักติดชายทะเล เพราะทนต่อการกัดกร่อนของน้ำเค็มได้ดี
2. มุ้งลวดอะลูมิเนียม
วัสดุทำจากอะลูมิเนียม มีคุณสมบัติแข็งแรง ทนทาน มีความคม วาว สะท้อนแสงได้ดี จะเกิดสนิมและผุกร่อนได้ง่ายหากโดนความชื้น ผู้ใช้มุ้งลวดประเภทนี้จำเป็นต้องขึงขึ้นกรอบให้ดี เพื่อไม่ให้เสียรูปทรง รวมทั้งหมั่นทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ตัวเส้นมุ้งกรอบแข็ง และยืดอายุการใช้งานไปได้นาน
3. มุ้งลวดไนลอน
วัสดุทำจากไนลอน เนื้อวัสดุค่อนข้างหนา มีคุณสมบัติเหนียว ทนทาน และความตึงตัวสูง ถ่ายเทอากาศได้ดี แต่มองทะลุข้างนอกไม่ได้เท่าไหร่ จึงไม่เหมาะกับการนำมาใช้ติดขึงตรงหน้าต่าง
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้มุ้งลวดเสื่อมสภาพและพังมักมาจากพฤติกรรมการใช้งานเป็นหลัก ซึ่งมีหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้มุ้งลวดผิดประเภท ไม่เข้ากับสถานที่ อีกทั้งไม่ดูแลรักษาและทำความสะอาดให้ดี รวมทั้งการใช้งานมานาน ก็ย่อมทำให้มุ้งลวดเสื่อมสภาพและพังได้ง่าย ดังนั้น การดูแลรักษาให้ดีและรู้จักซ่อมแซมตามสภาพนั้น อาจช่วยให้คุณได้มุ้งลวดสภาพดีมาใช้งานได้เหมือนเดิม
ซ่อมมุ้งลวดด้วยตัวเองทำได้อย่างไร
การซ่อมมุ้งลวดด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องจ้างช่างนั้นสามารถทำได้ โดยต้องเตรียมอุปกรณ์และขั้นตอนในการซ่อมดังนี้
อุปกรณ์สำหรับซ่อมมุ้งลวดด้วยตัวเอง
- ไขควง
- เหล็กปลายแหลม (แบบที่ใช้เจาะหนังให้เป็นรู)
- สว่านไร้สาย
- กรรไกร
- มุ้งลวด
- มีดเอนกประสงค์
- อิฐ
- Spline
- บล็อกไม้
- ลูกกลิ้งมุ้งลวด
วิธีซ่อมมุ้งลวดด้วยตัวเอง
1. เลาะมุ้งลวด ใช้เหล็กปลายแหลมหรือไขควงปลายแคบค่อย ๆ เลาะมุ้งลวดออกจาก Spline หรือร่องฟันของมุ้งลวดเดิมทิ้ง Spline ตัวเก่าไป
2. เลาะกรอบมุ้งลวด นำบล็อกไม้ที่เตรียมไว้ใส่ลงไปตรงกรอบมุ้งลวดด้านที่ยาวที่สุดทั้งสองด้านให้เท่ากัน โดยบล็อกไม้จะช่วยพยุงทรงกรอบไม่ให้โย้เข้ามาข้างในเมื่อขึงมุ้งลวด
3. วัดขนาดมุ้งลวด นำมุ้งลวดที่เลือกมานั้นลองวางลงในกรอบมุ้งลวด โดยกะขนาดให้ซ้อนเหลื่อมกันประมาณ 3 ใน 4 ของหนึ่งนิ้วตัดมุมของมุ้งลวดแต่ละด้านให้ได้มุม 45 องศา
4. ใส่มุ้งลวด เริ่มจากใส่มุ้งลวดเข้ามุมตรงร่องฟันของกรอบมุ้งลวดใช้ลูกกลิ้งมุ้งลวดหมุนกลิ้งให้มุ้งลวดเข้าร่องฟันตามกรอบยิ่งขึ้น โดยกลิ้งไปตามแนวกรอบมุ้งลวดทั้งหมด หากร่องฟันมุ้งลวดโผล่ขึ้นมาให้เล็มทิ้งและกลิ้งมุ้งลวดให้เข้าที่เรียบร้อย
5. เล็มมุ้งลวด ใช้มีดเอนกประสงค์ตัดเล็มมุ้งลวดที่เกินออกมาจากกรอบให้เรียบร้อย โดยควรเปลี่ยนใบมีดใหม่ให้เรียบร้อย เพราะหากใช้ใบมีดเก่าตัด จะทำให้ตัดไม่ขาด มุ้งลวดออกมาไม่สวยงาม
เคล็ดลับซ่อมมุ้งลวดแบบมืออาชีพ
หากพบปัญหาตอนเปลี่ยนมุ้งลวดว่าหย่อนหรือตึงเกินไป จนทำให้ตัวเส้นมุ้งลวดโค้งออกมา ดูแล้วไม่สวยงาม สามารถแก้ไขได้ โดยทำตามวิธีต่อไปนี้
- ใช้ลูกกลิ้งกลิ้งไปตามแนวกรอบมุ้งลวดทั้งสองด้าน แล้วให้นำก้อนอิฐหรือของที่หนักสักหน่อยวางทับตรงกลางมุ้งลวด เพื่อช่วยถ่วงไม่ให้มุ้งลวดโย้เย้เสียรูปทรง
- จากนั้นจึงค่อยวางมุ้งลวดลงในกรอบด้านที่เหลือ แล้วนำอิฐหรือสิ่งของที่วางทับตอนแรกออก เพียงเท่านี้ก็จะได้มุ้งลวดเรียบตรงตามที่ต้องการแล้ว
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเคล็ดลับการซ่อมมุ้งลวดที่ทำได้ด้วยตัวเอง โดยใช้อุปกรณ์งานช่างที่มีติดบ้านและอาจหาซื้ออย่างอื่นเพิ่มเติมเล็กน้อย โดยอุปกรณ์เหล่านี้ก็ยังนำไปใช้งานอื่นหรือใช้ซ่อมมุ้งลวดคราวต่อไปได้อีกด้วย