ต่อเติมหลังคาบ้าน ทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย ไร้ปัญหากับเพื่อนบ้าน

ต่อเติมหลังคาบ้าน ทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย ไร้ปัญหากับเพื่อนบ้าน

ต่อเติมหลังคาบ้าน ทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย ไร้ปัญหากับเพื่อนบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อหลายคนเริ่มขยับขยายซื้อบ้านเป็นของตัวเองแล้ว แน่นอนว่าอาจมีการปรับแต่งเพิ่มเติมตามต้องการอยู่แล้ว งานต่อเติมหลังคาบ้านหรือกันสาดถือเป็นอีกเรื่องสำคัญที่คนรักบ้านและการตกแต่งมักเลือกทำกัน

แต่แค่ติดต่อว่าจ้างผู้รับเหมามืออาชีพมาทำให้นั้นเพื่อให้ได้หลังคาบ้านตามที่คิดไว้ คงไม่พอ เจ้าของบ้านจึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการต่อเติมหลังคาบ้านก่อน เพื่อให้รู้ว่าสถานที่ที่คุณต้องการต่อเติมนั้นเป็นอย่างไร ควรใช้หลังคาแบบไหน แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้กระทบทั้งโครงสร้างบ้านทั้งหมดและเพื่อนบ้าน

ต่อเติมหลังคาบ้าน สำคัญอย่างไร

การต่อเติมหลังคาบ้านและส่วนอื่นของบ้านนั้นล้วนเป็นงานหนักและกินเวลาพอสมควร ถึงอย่างนั้น การต่อเติมหลังคาบ้านก็สำคัญและต้องทำในกรณีที่พิจารณาแล้วว่าจำเป็นต้องทำจริง ๆ โดยการต่อเติมดังกล่าวสำคัญและมีประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. เสริมความแข็งแรง

บ้านที่ก่อสร้างและอยู่อาศัยมานานหลายปีย่อมทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ยิ่งหากประสบภัยธรรมชาติ ก็เสี่ยงได้รับความเสียหายอยู่แล้ว การริเริ่มวางแผนต่อเติมหลังคาก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณสำรวจโครงสร้างบ้าน กำแพง เสา และคานไปในตัวด้วยว่าโครงสร้างบ้านโดยรวมยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานไปได้ต่อหรือไม่ สมควรซ่อมแซม เพิ่ม เติม หรือต่อส่วนไหนเพื่อให้โครงสร้างบ้านทั้งหมดแข็งแรงและไม่ทรุดโทรมลงกว่าเดิม

2. เพิ่มพื้นที่ใช้สอย

ไม่ว่าบ้านที่เพิ่งซื้อมาจะมีพื้นที่จำกัด ไม่ค่อยรองรับรูปแบบการใช้ชีวิตนัก การต่อเติมหลังคาบ้านจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยจะช่วยขยับขยายและปรับใช้พื้นที่ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ยกตัวอย่าง บ้านที่มีครัวปิด เมื่อทำอาหารอาจส่งกลิ่นคลุ้งเข้าไปในตัวบ้าน แต่หากต่อเติมหลังคาออกมาด้านนอก ก็จะได้พื้นที่ทำครัวเพิ่มขึ้น ซึ่งครัวเปิดจะช่วยระบายอากาศได้ดีกว่า หรือหน้าบ้านอยากได้โรงรถดี ๆ เพิ่มเติม การต่อเติมหลังคาบ้านออกมาก็ช่วยให้รถไม่ต้องโดนแดด โดนฝนตลอดเวลา

3. ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

หากบ้านของคุณไม่ได้อยู่ในพื้นที่โครงการที่มีเงื่อนไขเรื่องการดัดแปลงที่อยู่อาศัยเพื่อการค้า อีกทั้งยังมีแพลนจะทำธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ ภายในบ้าน ก็อาจวางแผนต่อเติมหลังคาบ้านและส่วนอื่น ๆ ของบ้าน ทำเป็นโฮมออฟฟิศ ร้านอาหาร หรือร้านขายของขนาดเล็กตามความเหมาะสมได้

ต่อเติมหลังคาบ้าน ทำได้อย่างไรบ้าง

ก่อนหาผู้รับเหมามาช่วยงานต่อเติมหลังคาบ้าน ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าหลังคาแต่ละประเภทมีประโยชน์และนำมาใช้งานต่างกัน นอกจากนี้ การต่อเติมหลังคาบ้านตามแต่ละตำแหน่งของบ้านก็ไม่เหมือนกันด้วย ผู้ที่คิดจะต่อเติมหลังคาบ้านจึงต้องศึกษาเรื่องพื้นฐานต่อไปนี้

ประเภทหลังคาบ้าน

โดยทั่วไปแล้ว หลังคาบ้านที่ใช้ต่อเติมจะแบ่งเป็นสองลักษณะ ได้แก่ หลังคาลอน และหลังคาเรียบ ซึ่งทั้งสองลักษณะจะแบ่งย่อยเป็นอีกหลายประเภท ตามการนำไปใช้งาน ดังนี้

1.หลังคาลอน

จะมีลักษณะเว้าโค้งเป็นร่องคล้ายลอนคลื่น วัสดุมีความแข็งแรงทนทาน เนื้อวัสดุหนาน้อยกว่าหลังคาเรียบ หลังคาลอนบางรุ่นอาจมีไม้ปิดลอนสำเร็จรูป เพื่อนำไปใช้ปิดร่องตรงปลายหลังคากันสัตว์เล็ก ๆ เข้าไปแอบใต้หลังคา

ข้อดีของหลังคาลอน คือ ช่วยระบายน้ำได้ดี ราคาถูกกว่า และติดตั้งต่อเติมได้ง่ายกว่า

ข้อเสียของหลังคาลอน คือ สกปรกง่าย เพราะจะมีคราบสะสมจากการซ้อนทับของหลังคา

2. หลังคาเรียบ

หลังคานี้จะมีลักษณะเรียบและตรง นำไปใช้ในการต่อเติมเข้าได้กับวัสดุทุกรูปแบบ การติดตั้งมักต้องอาศัยช่างมืออาชีพที่มีอุปกรณ์ติดตั้งเฉพาะทาง ซึ่งต่างจากการติดตั้งหลังคาลอน

ข้อดีของหลังคาเรียบ คือ มีรูปลักษณ์สวยงาม ทันสมัย การออกแบบและติดตั้งหลังคาเรียบกว่า เหมาะแก่การนำไปใช้ต่อเติมโรงจอดรถหรือกันเสียงตรงระเบียงและหน้าต่าง

ข้อเสียของหลังคาเรียบ คือ ค่าใช้จ่ายสูง เพราะตัววัสดุทำจากวัสดุชั้นดีและค่อนข้างหนากว่าหลังคาลอน อีกทั้งยังมีคุณสมบัติทนทาน และต้องใช้ช่างเชี่ยวชาญติดตั้งด้วย

นอกจากนี้ หลังคาทั้งสองแบบยังแบ่งประเภทย่อยออกเป็นหลายประเภท ดังนี้

1. หลังคาเมทัลชีท

วัสดุทำจากโลหะหรือเหล็กที่กรีดเป็นลอนเคลือบด้วยอลูซิงค์ โดยหลังคาจะมีความหนาประมาณ 0.35, 0.40 และ 0.47 มิลลิเมตร มักนำมาใช้ออกแบบและต่อเติมที่อยู่อาศัย โรงงาน โรงจอดรถ เป็นต้น ถือเป็นตัวเลือกยอดนิยมที่ผู้ต่อเติมหลังคาบ้านมักเลือกใช้ เพราะตัววัสดุทนทาน ป้องกันการรั่วซึม ซื้อหาและติดตั้งได้ง่าย ราคาไม่สูงนัก

2. หลังคายูพีวีซี

วัสดุมี 3 ชั้น มีความหนาประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร ไส้กลางเป็นฉนวนกันความร้อน นอกจากนี้ วัสดุชั้นกลางอาจแตกต่างกันไป มีทั้งแบบคาร์บอนไฟเบอร์และโพลีโฟม คุณสมบัติทนได้ทุกสภาพอากาศและแรงกระแทก ไม่ก่อให้เกิดเสียงดังเมื่อฝนตกกระทบหลังคา ไม่เป็นสนิม ใช้งานได้ยาวนานถึง 20 ปี เหมาะแก่การนำมาใช้ต่อเติมหลังคาหน้าบ้าน โรงจอดรถ และโรงงาน

3. หลังคาไฟเบอร์กลาส

เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าแผ่นดีไลท์ หากทำจากเส้นใยแก้วจะมีลักษณะโปร่งแสง หากเป็นแผ่นลอนเล็กจะทึบแสงกว่า เนื้อวัสดุแข็งแรง ทนทาน เสื่อมสภาพช้า มีความหนาประมาณ 1.2 มิลลิเมตร นอกจากนี้ ยังเคลือบฟิล์มที่ผิววัสดุ เพื่อป้องกันรังสียูวี เหมาะแก่การนำไปใช้ระบายความร้อน ไม่ทำให้อบอ้าวด้วย

4. หลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์

วัสดุทำจากซีเมนต์ผสมเส้นใยเซลลูโลส ทำให้มีคุณสมบัติทนทาน เหนียว เนื้อแน่น และทึบแสง มีความหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร มีทั้งแบบลอนคลื่นและลอนคู่ ส่วนใหญ่มักนำมาใช้ต่อเติมกับบ้านที่มุงหลังคาลอน ช่วยเสริมให้บ้านดูทันสมัยยิ่งขึ้น

5. หลังคาไวนิล

วัสดุทำจากยูพีวีซีหรือพลาสติก ส่วนประกอบหลักคือโพลีเมอร์ ตัวหลังคาเหมือนพื้นไม้ต่อกัน มีคุณสมบัติทนทานทุกสภาพอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อากาศแปรปรวน จึงนิยมนำมาใช้มุงต่อเติมที่อยู่อาศัยมากขึ้น เพราะกันลม กันแดด กันฝนได้ดี รวมทั้งให้ภายในบ้านเย็นขึ้น

6. หลังคาโพลีคาร์บอเนต

วัสดุทำจากเม็ดพลาสติก จะขยายตัวเมื่ออุณหภูมิสูง ทำให้แข็งแรง ทนทาน ไม่แตกลายเหมือนพลาสติกอื่น น้ำหนักเบา โปร่งแสง กันความร้อน และยืดหยุ่นง่าย มักนำมาใช้ในงานต่อเติมบ้านที่ออกแบบหลังคาแบบดัดโค้ง ข้อดีคือราคาถูกและโปร่งแสง แต่ข้อเสียแตกและเกิดคราบสกปรกง่าย

ต่อเติมหลังคาบ้าน ตามส่วนต่าง ๆ ของบ้าน

เมื่อทำความรู้จักประเภทหลังคาบ้านแต่ละแบบแล้ว ก็ต้องรู้ด้วยว่าจุดแต่จุดที่ต้องการต่อเติมหลังคานั้นก็ใช้วัสดุและคำนึงถึงลักษณะการต่อเติมแตกต่างกันไปด้วย การต่อเติมหลังคาในแต่ละจุดของบ้านนั้นมีลักษณะ ดังนี้

1. การต่อเติมหลังคาบ้านตรงประตูหรือหน้าต่าง

ต้องพิจารณาว่าบริเวณที่ต่อเติมนั้นอยู่ทิศใด และรับแสงแดดหรือไม่ หากหันไปทางทิศตะวันตกหรือด้านที่โดนแดดเสมอ ก็อาจเลือกใช้หลังคาที่มีลักษณะทึบแสงแทน เพื่อป้องกันแดดและฝน แต่ถ้าประตูหรือหน้าต่างอยู่ทิศเหนือหรือทางที่ไม่โดนแดดเท่าไหร่ ก็เลือกใช้หลังคาที่มีลักษณะโปร่งแสงแทน เพื่อช่วยกันฝน รวมทั้งรับแสงธรรมชาติได้ตลอด

2. การต่อเติมหลังคาบ้านบริเวณห้องครัว

ควรพิจารณาทิศ แสงแดด และประโยชน์ใช้สอยอื่น ๆ ประกอบร่วมกัน หรือเลือกที่เข้ากับทิปส์ต่อเติมครัวไทยที่คิดเอาไว้อยู่ก่อนแล้วก็ได้ โดยทั่วไปแล้ว บ้านที่มีครัวอยู่ในบ้านอาจเลือกต่อเติมหลังคาแบบผสมกัน โดยเลือกใช้หลังคาโปร่งแสงต่อเติมตรงอ่างล้างจานและชั้นวางจาน เพื่อรับแสงธรรมชาติ และเลือกใช้หลังคาทึบแสงต่อเติมบริเวณตู้กับข้าวหรือตู้เย็น เพื่อป้องกันแสงและฝนส่องเข้ามา

ส่วนผู้ที่วางแผนต่อเติมครัวนอกและลานซักล้างนั้นต้องเลือกใช้หลังคาที่ทนทาน กันแดด กันฝน และกันลมได้ดี เพื่อทำให้พื้นที่โปร่ง โล่ง สบายยิ่งขึ้น

3. การต่อเติมหลังคาบ้านตรงโรงจอดรถ

หลัก ๆ แล้วจะมีสองลักษณะด้วยกัน ได้แก่ การต่อเติมหลังคาโรงจอดรถแบบไร้เสาและแบบมีเสา โดยการต่อเติมแบบแรกจะมีลักษณะหลังคายื่นออกมาจากตัวบ้านเลย ไม่มีเสารองรับ โดยวิศวกรจะคำนวณและประเมินดูแล้วว่าคานบ้านและเสาบ้านหลักแข็งแรงพอที่จะยึดหลังคากับตัวบ้านได้ เหมาะกับคนที่ต้องการขยับขยายโรงรถเดิม หลังคาที่ใช้ต้องมีน้ำหนักเบา เช่น หลังคาเมทัลชีท หลังคาไวนิล หลังคายูวีพีซี เป็นต้น อีกทั้งไม่ควรต่อเติมเกิน 2 เมตร

ส่วนการต่อเติมหลังคาโรงจอดรถแบบมีเสานั้นคือต่อเติมหลังคายื่นออกมาเกิน 2 เมตร เจ้าบ้านต้องพิจารณาสร้างเสาขึ้นมาอย่างน้อย 4 ต้น เพื่อใช้รองรับหลังคาโดยเฉพาะ ให้แยกออกมาจากตัวโครงสร้างหลักของบ้าน รวมทั้งอาจเลือกตกแต่งเสาตามความชอบได้เพิ่มเติม

ต่อเติมหลังคาบ้าน ทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา

การต่อเติมบ้านมักมีข้อควรระวังที่เจ้าของบ้านต้องคิดหาทางป้องกันไว้ก่อน โดยข้อควรระวังดังกล่าวมักเกี่ยวเนื่องกับกฎหมาย โครงสร้างบ้านของคุณ และเพื่อนบ้านใกล้เคียง วิธีต่อเติมหลังคาบ้านให้เสร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ปราศจากปัญหาทั้ง 3 ด้าน ดังนี้

ต่อเติมหลังคาบ้านให้ถูกกฎหมาย

ปกติแล้วการต่อเติมบ้านเพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านมากขึ้น จริง ๆ แล้วหากไม่ได้รับอนุญาตถือว่าผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ว่าด้วยเรื่องการดัดแปลง หรือต่อเติมอาคาร จะต้องขออนุญาต แต่ยังมีข้อยกเว้นอยู่ด้วยกัน 5 กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาต ดังนี้

1. การ “เพิ่ม” หรือ “ลด” เนื้อที่ของพื้นชั้นใดชั้นหนึ่งรวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่มีการเพิ่มหรือลดจำนวนเสาหรือคาน ซึ่งหมายความว่า ถ้าเกินกว่า 5 ตารางเมตร ก็ต้องขออนุญาต

2. การ “เพิ่ม” หรือ “ลด” เนื้อที่ของหลังคารวมกันไม่เกิน 5 ตารางเมตร และไม่มีการเพิ่มหรือลดจำนวนเสาหรือคาน หมายความว่า ถ้าเกินกว่า 5 ตารางเมตร ก็ต้องขออนุญาต

3. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคาร ด้วยการใช้วัสดุ ขนาด จำนวน และชนิดเดียวกับของเดิม ซึ่งหมายความว่า ถ้าเรามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเป็นวัสดุที่แตกต่างจากเดิม ต้องขออนุญาต

4. การเปลี่ยนส่วนใด ๆ ภายในบ้านที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นโครงสร้างอาคาร ด้วยการใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม หรือวัสดุชนิดอื่นที่ไม่ได้เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมเกิน 10% ของน้ำหนักเดิม ซึ่งหมายความว่า ถ้าเรามีการเปลี่ยนแปลงส่วนใด ๆ ภายในบ้านด้วยวัสดุที่แตกต่างจากเดิม หรือเพิ่มน้ำหนักเกินกว่า 10% ของน้ำหนักเดิม ต้องขออนุญาต

5. การเปลี่ยน ต่อเติม เพิ่ม ลด เนื้อที่ส่วนใด ๆ ก็ตามในบ้านที่ไม่ใช่ส่วนที่เป็นโครงสร้างอาคาร และไม่เพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างเกิน 10% ของโครงสร้างอาคารเดิม ซึ่งหมายความว่า ถ้าเรามีการเปลี่ยน ต่อเติม เพิ่ม ลด เนื้อที่ในบ้านด้วยวัสดุที่แตกต่างจากเดิม หรือเพิ่มน้ำหนักเกินกว่า 10% ของน้ำหนักเดิม ต้องขออนุญาต

หากการต่อเติมหลังบ้านบ้านไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตในการก่อสร้าง

 วิธีต่อเติมหลังคาบ้านไม่ให้กระทบโครงสร้างบ้าน

ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าโครงสร้างพื้นและเสาบ้านของคุณเป็นอย่างไร เพราะโครงสร้างบ้านแต่ละแบบไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการต่อเติมเพิ่มเสมอไป ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. โครงสร้างพื้น

เมื่อพูดถึงโครงสร้างพื้นจะแบ่งเป็น พื้นคอนกรีตวางบนดิน และพื้นคอนกรีตวางบนคาน พื้นคอนกรีตแบบแรก
จะถ่ายน้ำหนักลงบนดินโดยตรง ต้องแยกจากโครงสร้างส่วนอื่น เพื่อป้องกันการทรุดตัวตามดินที่สูงขึ้น หากต้องการต่อเติมและลงเสาติดกับพื้นคอนกรีตแบบนี้ควรคั่นด้วยแผ่นโฟมเอาไว้ ส่วนพื้นคอนกรีตแบบหลังจะถ่ายน้ำหนักลงคานโดยตรง เหมาะแก่การใช้ในบ้านและอาคารทั่วไป

2. โครงสร้างเสาเข็ม

เสาเข็มจะช่วยพยุงน้ำหนักและป้องกันไม่ให้ทรุดตัว ควรพิจารณาว่าใช้เสาเข็มแบบใด ฝังลงไปลึกแค่ไหน ชั้นดินที่เสาเข็มนั้นมีความแข็งมากน้อยเท่าใด หากฝังลงดินไม่แน่นมากพอ ก็เสี่ยงทำให้โครงสร้างบ้านและการต่อเติมอื่นทรุดตัวตามลงไปได้

วิธีต่อเติมหลังคาบ้านไม่ให้กระทบเพื่อนบ้าน

สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาประเด็นต่อเติมหลงคาบ้านกับเพื่อนบ้าน คือ ต้องศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ถี่ถ้วน โดยกฎหมายและข้อควรระวังเกี่ยวกับต่อเติมหลังคาบ้านที่ต้องศึกษาเพื่อลดข้อพิพาทกับเพื่อนบ้าน มีดังนี้

1. ข้อควรระวังระยะชายคาหรือกันสาด ควรเว้นระยะหลังคาจนถึงแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร

2. ข้อควรระวังระเบียงชั้นบน หากคุณต้องต่อเติมหลังคาตรงระเบียงชั้นบน ต้องเว้นระยะจากระเบียงจนถึงแนวเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2 เมตร

นอกจากนี้ หากต้องมีการต่อเติมส่วนใดที่อาจกระทบกับเพื่อนบ้าน เจ้าของบ้านจำเป็นจะต้องพูดคุยขอความยินยอมจากเพื่อนบ้านก่อนการต่อเติมด้วย และในบางกรณีอาจต้องมีหนังสือยินยอมจากเพื่อนบ้านเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต

จะเห็นได้ว่าการต่อเติมหลังคาบ้านหรืองานตกแต่งดูแลสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ไม่เพียงทำขึ้นเพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้อยู่อาศัยภายในบ้านเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างความสุขและไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook