ไขข้อสงสัย ทำไมหน้าฝนเกิด “ไฟไหม้” บ่อย ๆ
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวคราวเกี่ยวกับไฟไหม้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหลายพื้นที่มีฝนตกหนักร่วมด้วย จึงเป็นอุปสรรคในการเข้าระงับเพลิงจนส่งผลให้เกิดความเสียหายหนักยิ่งขึ้น และเหตุใดช่วงหน้าฝนมักมีอัคคีภัยตามมา Tonkit360 มีข้อมูลในเรื่องนี้มาฝากกัน
ฟ้าผ่า
กรณีที่ฟ้าผ่าแล้วเกิดเพลิงไหม้มีให้เห็นกันอยู่ตลอด โดยเฉพาะบ้านไม้ที่ถือเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี บางครั้งอาจเกิดจากฟ้าผ่าต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้ใกล้ตัวบ้าน หรือผ่าสายไฟที่พาดผ่านบ้าน จนเกิดเพลิงลุกไหม้บ้าน
ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายใต้เมฆฝนฟ้าคะนอง เมื่อก้อนเมฆเคลื่อนที่ก็จะมีลมและเกิดการเสียดสีกับโมเลกุลของหยดน้ำ และน้ำแข็งภายในก้อนเมฆ ทำให้เกิดการแตกตัวของประจุไฟฟ้า โดยประจุลบส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านล่างของก้อนเมฆ ขณะที่ประจุบวกจะอยู่ทางด้านบนของก้อนเมฆ
เมื่อประจุลบด้านล่างก้อนเมฆมีความสามารถในการเหนี่ยวนำให้วัตถุทุกสิ่งที่อยู่ภายใต้ก้อนเมฆเป็นประจุบวกได้ทั้งหมด พร้อมทั้งดึงดูดให้ประจุบวกวิ่งขึ้นมาหาประจุลบได้ หากประจุลบใต้ก้อนเมฆมีปริมาณมากพอ จะทำให้อากาศด้านล่างก้อนเมฆค่อย ๆ แตกตัว ประจุลบสามารถวิ่งลงมาด้านล่างและบรรจบกับประจุบวกที่วิ่งขึ้นมา เกิดเป็นฟ้าผ่าได้ในที่สุด
ฉะนั้น ทุกบริเวณใต้เงาเมฆฝนฟ้าคะนองจึงมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าได้หมด ไม่ว่าที่สูง ที่ต่ำ กลางแจ้ง เพียงแต่จุดเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้มากที่สุด คือ ที่โล่งแจ้ง เช่น สระน้ำ ชายหาด และจุดที่สูงในบริเวณนั้น ๆ เช่น ต้นไม้ อาคารสูง เนื่องจากประจุไฟฟ้ามีโอกาสวิ่งมาเจอกันได้เร็วที่สุด
ไฟฟ้าลัดวงจร
ไฟฟ้าลัดวงจร คือการที่จุด 2 จุดในวงจรไฟฟ้า ซึ่งมีแรงดันไฟฟ้าต่างกันมาแตะหรือสัมผัสกัน หรือมีตัวนำไฟฟ้ามาสัมผัสกันระหว่าง 2 จุดนั้น ทำให้เกิดการถ่ายเทพลังงานจำนวนมาก มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านระหว่าง 2 จุดนั้นเป็นปริมาณมาก
เมื่อไฟลัดวงจร จะมีความร้อนสูงในจุดที่แตะสัมผัสกัน และอาจเกิดประกายไฟขึ้น ซึ่งถ้าในบริเวณนั้นมีวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงอยู่ ก็มีโอกาสที่จะนำไปสู่เหตุไฟไหม้ได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้คือการใช้กระแสไฟฟ้าเกินกำหนด เนื่องจากมีการใช้ไฟฟ้าเกินกำลังที่อุปกรณ์ต่อพ่วงสามารถรับไหว หรือสายไฟฟ้าขนาดเล็กเกินกว่าจะรับโหลดของกระแสไฟฟ้าได้ จึงเกิดความร้อนสะสม และร้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสูงขึ้นถึง 800°C จนเกิดการลุกไหม้ และหลอมละลายของวัสดุที่ห่อหุ้มหรือสัมผัสอยู่ และทำให้ไฟลามอย่างรวดเร็ว เมื่อวัสดุดังกล่าวหลอมละลายและสัมผัสอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านจึงติดไฟได้อย่างง่ายดาย
น้ำฝนหยดใส่อุปกรณ์ไฟฟ้า
เหตุการณ์ไม่คาดฝันแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เหมือนเช่นกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 เดือนก่อนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากหลังคารั่ว ทำให้น้ำฝนหยดลงมาใส่ปลั๊กไฟจนเกิดไฟช็อตและลุกเป็นประกายไฟ ประกอบกับบ้านหลังที่เกิดเหตุเป็นบ้านไม้จึงทำให้ไฟลามจนวอดเสียหายทั้งหลัง
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ฝนตกหนักจนน้ำฝนไหลเข้ามิเตอร์ไฟฟ้าที่จังหวัดหนองคาย ส่งผลให้ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดประกายไฟ และลุกไหม้ลามสายไฟ จนเกือบลามไปยังบ้านในละแวกดังกล่าว ช่วงหน้าฝนจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดฝนตกหนักในช่วงที่ไม่มีคนอยู่บ้าน ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้