7 สิ่งที่ต้องทำ เพื่อเปลี่ยนคอนโดฯ มือสองให้เหมือนใหม่
ความต้องการของผู้ซื้อหรือนักลงทุนโดยส่วนใหญ่อยากได้ที่อยู่อาศัยบนทำเลใกล้เมือง ซึ่งเด่นเรื่องการเดินทาง เพราะเดินทางสะดวกทั้งรถยนต์รวมถึงรถไฟฟ้า แต่ถ้าซื้อหรือเช่าเป็นคอนโดมิเนียมใหม่ปัจจุบันราคาก็แรงมาก จึงทำให้หลายคนเริ่มสนใจมองหาคอนโดมิเนียมมือสอง
แต่ใครที่กำลังคิดจะซื้อคอนโดมิเนียมมือสองอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังสักเล็กน้อย นอกจากที่จะต้องประเมินภาพรวมสภาพตัวอาคารและการดำเนินการของนิติบุคคลอาคารชุดนั้นๆ ว่าดีหรือไม่แล้ว ก็ต้องเรียนรู้ “สิ่งที่ต้องปรับปรุง” ก่อนเข้าอยู่ด้วยเช่นกัน เพื่อคำนวณต้นทุนในการปรับปรุงได้ใกล้เคียง วิเคราะห์งบปรับปรุงก่อนตัดสินใจซื้อว่ารวมๆ แล้วคุ้มหรือไม่
สำหรับการปรับปรุงห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียม แน่นอนว่า เจ้าของห้องชุดมีสิทธิ์ปรับปรุงได้เฉพาะภายในห้องชุดของตนเองเท่านั้น ไม่สามารถปรับปรุงตัวอาคารได้ หรือทาสีใหม่บริเวณหน้าห้องชุด หรือรอบห้องชุดได้ เพราะผนังรอบนอกห้องชุด ถือเป็นสิทธิ์ร่วมของโครงการที่นิติบุคคลจะเป็นผู้อนุมัติให้ดำเนินการ โดยการปรับปรุงห้องชุดที่ไม่เกิน 5 ปีส่วนใหญ่จะปรับปรุงไม่มากนัก เพราะห้องยังไม่เก่านัก แต่ห้องชุด 5-10 ปีขึ้นไปอาจต้องปรับปรุงมากพอควร
มาดูสิ่งที่ต้องปรับปรุงเวลาซื้อคอนโดฯ มือสอง มีรายละเอียดดังนี้
เริ่มด้วย 3 เรื่องเล็ก
1. ทาสีใหม่ หรือเปลี่ยนวอลล์เปเปอร์
การปรับปรุงในส่วนนี้เรียกได้ว่าช่วยเนรมิตห้องชุดให้เป็นโฉมใหม่ได้ โดยถ้าเป็นห้องชุดที่ติดวอลล์เปเปอร์อยู่แล้ว อาจจะมีทางเลือกเดียว นั่นคือ ต้องเลือกวิธีปรับโฉมด้วยการเปลี่ยนวอลล์เปเปอร์ใหม่เท่านั้น เพราะถ้าลอกวอลล์เปเปอร์เก่าแล้วทาสีทับ อาจจะไม่เวิร์คเท่าไรนัก แต่ถ้าใช้วิธีติดวอลล์เปเปอร์ใหม่ ก็ยังพอได้อยู่ ซึ่งปัจจุบัน ด้วยต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น ทำให้การเลือกทาสี อาจจะมีต้นทุนจากการว่าจ้างช่างทาสีสูงกว่าเลือกติดวอลล์เปเปอร์ เพราะการสั่งซื้อวอลล์เปเปอร์ส่วนใหญ่จะมีช่างบริการ ถ้าจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม อาจจะอีกเล็กน้อย ความยุ่งยากในการหาช่างน้อยกว่าหาช่างทาสี และไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นด้วย ติดเสร็จ ก็พักอาศัยได้ทันที
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีวอลล์เปเปอร์หลากหลายรูปแบบ หลากหลายราคาให้เลือกตามงบประมาณที่มีด้วย แต่ถ้าใครจะเลือกปรับโฉมด้วยการทาสี จะทั้งจ้างช่างทา หรือทาเอง ก็ขึ้นอยู่กับความชอบ และงบประมาณที่มีเลย บทความที่เกี่ยวข้อง : เลือกสีทาบ้านอย่างไรให้ลงตัว
2.ผ้าม่านในห้องชุด
กรณีที่ห้องชุดมือสองนั้นๆ มีผ้าม่านติดมาด้วย แนะนำให้เปลี่ยนใหม่ดีกว่า เพราะโดยปกติแล้ว แม้แต่ห้องชุดใหม่ที่ติดผ้าม่านไม่นาน ก็ยังเลี่ยงเรื่องฝุ่นไม่ได้ ยิ่งห้องชุดมือสองที่มีอายุนาน ผ้าม่านในห้องนั้นยิ่งอมฝุ่นมาก โดยในส่วนนี้ให้ดูราวผ้าม่านด้วย ถ้ายังแข็งแรงใช้งานได้ ก็อาจจะเปลี่ยนเฉพาะตัวผ้าม่าน เพราะตัวราวยังทำความสะอาดได้ แต่ถ้าของเดิมดูไม่แข็งแรง หรือไม่ถูกใจ ก็ต้องเปลี่ยนสถานเดียว ซึ่งปัจจุบันผ้าม่านก็มีให้เลือกหลากหลายระดับราคาเช่นกัน
3.ฟิล์มกันแดดในห้องชุด
สำหรับห้องชุดส่วนใหญ่ที่ติดผ้าม่านแล้ว จะไม่ค่อยติดฟิล์มกันแดด ยิ่งถ้าห้องชุดนั้นๆ ไม่ได้อยู่ฝั่งทิศตะวันตกที่รับแดดบ่ายเต็มๆ ก็จะไม่ค่อยสนใจติดฟิล์มกันแดดเท่าไร ซึ่งถ้าเจอห้องชุดมือสองที่ไม่ใช่ฝั่งตะวันตก แล้วห้องชุดนั้นเคยติดฟิล์มกันแดดอยู่แล้ว ก็ให้ตัดสินใจตามความต้องการว่าจำเป็นจะต้องเปลี่ยนฟิล์มใหม่หรือไม่
ส่วนกรณีที่ห้องชุดมือสองที่ซื้อมานั้นมีอายุเกินกว่า 5 ปีและอยู่ฝั่งทิศตะวันตก อีกทั้ง ส่วนห้องนั่งเล่นอยู่ติดกับกระจกระเบียง และถ้าห้องนั้นเคยติดฟิล์มอยู่แล้ว แนะนำว่า ควรเปลี่ยนใหม่จะดีกว่า เพราะคุณภาพของฟิล์มเดิมอาจจะลดลงแล้ว
ทั้งนี้ ข้อดีของการติดฟิล์ม จะช่วยลดอุณหภูมิห้องลงได้พอควร เพราะถึงจะมีผ้าม่านเพื่อกันแสงแล้ว แต่กระจกเป็นส่วนที่รับแดดโดยตรง ความร้อนจะยังอยู่บริเวณกระจก ถ้าทำให้ส่วนที่รับแดดสะท้อนแดดออกจากห้องได้บางส่วน ก็จะช่วยเรื่องอุณหภูมิได้บ้างเช่นกัน โดยเฉพาะห้องชุดฝั่งทิศตะวันตก
จบ 3 เรื่องเล็กๆ ไปแล้ว ต่อมาตามด้วย 4 เรื่องที่ต้องปรับ
1.ระบบไฟต้องปลอดภัย
เรื่องไฟและน้ำเป็นเรื่องใหญ่อันดับต้นๆ ของที่อยู่อาศัย โดยต้องตรวจสอบดูว่าระบบไฟและระบบน้ำทั้งหมดพร้อมใช้งานหรือไม่มี โดยเริ่มด้วย ระบบไฟ ก็ให้เริ่มต้นจากพื้นฐานทั่วไป หลอดไฟทุกดวงในห้อง ต้องตรวจสอบว่ายังใช้ได้หรือไม่ หากใช้ไม่ได้ ให้ลองติดต่อฝ่ายช่างของอาคารชุดว่าเป็นเพราะหลอดไฟเสีย หรือระบบการจ่ายไฟในห้องมีปัญหา ซึ่งถ้าเป็นเพียงหลอดไฟหมดอายุ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ถ้าเป็นที่ระบบการจ่ายไฟ ต้องให้ช่างที่อาคารชุดแนะนำการแก้ไข หรือถ้ากรณีที่เป็นโครงการเก่ามากๆ ไม่ได้มีช่างประจำนิติบุคคลแล้ว อาจจะยุ่งยากนิดหน่อยในการหาช่าง รวมถึง ต้องตรวจสอบเต้าเสียบต่างๆ ว่ายังใช้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ มีปัญหา เกิดอาการช็อต ต้องเร่งแก้ไข และกรณีที่มีแผงควบคุมไฟฟ้า ควรตรวจสอบด้วยเช่นกัน
2.ระบบน้ำห้ามรั่ว
ส่วนระบบน้ำ ต้องตรวจสอบเรื่องน้ำรั่วด้วย ซึ่งในกรณีอาคารชุดที่อยู่อาศัยประจำอาจจะมีปัญหานี้น้อย เพราะผู้อยู่อาศัยเดิมจะไม่ปล่อยไว้ แต่ถ้าที่ไม่ค่อยอยู่อาศัยและขายต่อ อาจจะมีปัญหาน้ำรั่วบ้างโดยไม่รู้ตัว เพราะว่าห้องชุดที่ไม่ได้อยู่อาศัยนาน ส่วนใหญ่นิติบุคคลจะตัดสินใจปิดวาล์วน้ำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องน้ำรั่วภายในห้องชุดนั้นๆ จนก่อความเสียหายให้กับห้องชุดอื่นๆ เช่น น้ำรั่วออกมาจนถึงโถงลิฟต์ เป็นต้น ซึ่งเบื้องต้นให้ติดต่อนิติบุคคลเปิดวาล์วน้ำ แล้วสำรวจทุกก๊อกน้ำว่ามีปัญหาน้ำรั่วหรือไม่ ถ้ามีต้องเร่งแก้ไข เพราะจะเป็นปัญหาใหญ่ได้
3. ห้องน้ำคือส่วนสำคัญของบ้าน
ห้องน้ำ เป็นห้องที่สำคัญพอๆ กับห้องนอนและสำคัญกว่าห้องนั่งเล่นในการอยู่อาศัยจริง ดังนั้นต้องตรวจสอบให้ดี โดยห้องน้ำ จะสัมพันธ์กับเรื่องการตรวจระบบน้ำ แต่จะมีสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา นั่นคือ อุปกรณ์ต่างๆ ภายในห้องน้ำ เช่น สุขภัณฑ์ สายฉีด ฝักบัวอาบน้ำ ก๊อกน้ำในจุดที่อาบน้ำ (ถ้ามี) ก๊อกน้ำบริเวณอ่างล้างหน้า และเครื่องระบายอากาศ (ถ้ามี) ต้องตรวจสอบว่ายังใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ ซึ่งถ้ายังใช้งานได้อยู่ ให้ประเมินตามสภาพ ถ้าเก่ามากจากการใช้งานมานาน โดยเฉพาะห้องชุดที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ควรเปลี่ยนใหม่หมด ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้มีให้เลือกจำนวนมาก หลากหลายระดับราคา การเปลี่ยนใหม่ยกชุด ไม่ได้มีต้นทุนสูงมาก
หมายเหตุ หนึ่งปัญหาของห้องน้ำ คือ มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่มาตามท่อน้ำต่างๆ และปัญหาการกดสุขภัณฑ์ไม่ลง ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะว่าถ้าซื้อแล้ว ปัญหาเหล่านี้แก้ยากมาก ต้องดูให้ดี
4.มุมครัว ปรับให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์
ส่วนของห้องครัว ห้องชุดมือสองรุ่นเก่า บางห้องก็มี บางห้องก็ไม่มี เพราะปล่อยเป็นพื้นที่โล่งๆ ไม่ค่อยได้แบ่งสัดส่วนฟังก์ชั่นการใช้งานเหมือนห้องชุดยุคใหม่ๆ แต่ถ้าห้องชุดมือสองที่สนใจมีห้องชุด หรือมุมทำครัว ก็ควรตรวจสอบอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย เช่น ถ้ามีเตาไฟฟ้า เครื่องดูดควัน ยังใช้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้แล้ว ให้ดูเรื่องระบบไฟด้วยว่ามีไฟรั่ว ไฟช็อตหรือไม่ ถ้ามี ให้เร่งแก้ไข จะเปลี่ยนเตาไฟฟ้าใหม่ หรือยกเลิกการใช้งานก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของห้องว่ามีไลฟ์สไตล์เช่นใด ถ้าไม่ได้ทำกับข้าวเอง ไม่จำเป็นต้องมีมุมนี้จริงจังก็ได้ ปรับเป็นเตาไมโครเวฟสำหรับอุ่นอาหารง่ายๆ แต่ถ้าเป็นคนที่ทำอาหารจริงจัง ก็ควรจัดเต็มกับมุมนี้เช่นกัน