ฝนตกต้องระวัง 10 สัตว์อันตรายที่มากับ “น้ำท่วม”

ฝนตกต้องระวัง 10 สัตว์อันตรายที่มากับ “น้ำท่วม”

ฝนตกต้องระวัง 10 สัตว์อันตรายที่มากับ “น้ำท่วม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงที่หน้าฝนยังไม่หมด ที่สำคัญยังมีพายุลูกใหม่ก่อตัวขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ ทำให้บ่อยครั้งมีฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ดังนั้นเมื่อเห็นเค้าฝนก่อตัวมาทีไรก็ได้แต่ลุ้นว่าน้ำจะท่วม น้ำจะหลาก น้ำจะขัง น้ำจะรอการระบายหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การเดินทางสัญจรลำบากเท่านั้น แต่ที่น่ากลัวคือ สัตว์มีพิษที่มากับน้ำท่วมที่เราไม่เห็นต่างหาก

Tonkit360 จึงจะมาเตือนภัยให้ทุกคนระวังสัตว์อันตราย 10 ชนิดนี้ ที่อาจหลุดรอดมากับน้ำท่วม หรือน้ำอะไรก็ตาม เพราะสัตว์เหล่านี้พิษสงร้ายกาจ บางชนิดทำให้ถึงแก่ความตายได้

1.ตะขาบ

ตะขาบที่หนีน้ำเข้ามาในบ้านเรือน จะซ่อนตัวอยู่ในที่เย็น ๆ ชื้น ๆ รก ๆ เมื่อถูกตะขาบกัดจะพบรอยเขี้ยว 2 รอยเป็นจุดเลือด พิษของตะขาบมีสารที่ให้เกิดก่อปฏิกิริยาอักเสบต่อร่างกาย เมื่อถูกกัดจะทำให้เกิดการอักเสบ ปวดร้อนบวมแดง ชา เป็นอัมพาตบริเวณแผล ในรายที่มีอาการแพ้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน จะพบอาการอาเจียน หัวใจเต้นผิดจังหวะ มึนงง ปวดศีรษะ และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วย ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที

2.แมงป่อง

แมงป่องเป็นสัตว์มีพิษ บางชนิดมีพิษไม่รุนแรง บางชนิดพิษรุนแรงมาก มักซ่อนตัวอยู่ตามโพรงก้อนหิน ใต้กองไม้ หรือตามรอยแตกของพื้นบ้านที่มีความชื้น หากโดนแมงป่องต่อย พิษของแมงป่องอันตรายต่อระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต และกล้ามเนื้อหัวใจ ในรายที่แพ้พิษรุนแรง เมื่อโดนต่อยมีอาการปวดทันที แผลเป็นรอยไหม้ กล้ามเนื้อกระตุก อาเจียน ชัก น้ำลายฟูมปาก กระหายน้ำ ตัวเขียว มีภาวะการหายใจล้มเหลว หรือหัวใจล้มเหลวเลยทีเดียว

3. งู

งูมักจะหนีน้ำเข้ามาหลบซ่อนอยู่ตามซอกมุมต่าง ๆ ในบ้าน แม้ว่างูจะมีทั้งชนิดที่มีพิษและไม่มีพิษ ดังนั้น จึงควรพยายามจัดบ้านเรือนให้มีพื้นที่อับน้อยที่สุด เมื่องูเข้ามาจะได้เห็นได้โดยง่าย เมื่อน้ำลดควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่รกด้วยตนเอง และควรมีความรู้ในการปฐมพยาบาลหากถูกงูกัดหรือความรู้เมื่อต้องเผชิญหน้ากับงูอย่างถูกต้อง เพื่อให้มีโอกาสน้อยที่สุดที่จะถูกงูกัด เมื่อถูกงูกัดต้องรีบปฐมพยาบาล และพาคนเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

4. หนู

หนูเป็นสัตว์ที่แพร่พันธุ์ได้เร็ว ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่ที่สกปรกและมุมอับ ซึ่งหนูเป็นพาหะนำโรคหลายโรค บางโรคอาจทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น โรคฉี่หนู โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร หนูจึงเป็นสัตว์อันตรายอย่างหนึ่งที่ต้องระวัง ดังนั้นหากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรมีการป้องกันตัวเองอย่างสวมรองเท้าบู๊ท เสื้อผ้าที่ปิดมิดชิด รักษาสุขอนามัยของตนเอง ทั้งร่างกายและอาหารการกิน

5. ปลิง

เป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำนิ่งและตามพื้นที่ที่ชื้นแฉะ อันตรายของปลิงคือ ปลิงจะดูดเลือดของเหยื่อ เมื่อปลิงเริ่มดูดเลือด พิษของปลิงที่ปล่อยเข้าสู่ร่างกายมี 2 ชนิด คือ ฮีสตามีน ที่มีผลให้หลอดเลือดขยายตัว และฮีรูดีน มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดไหลไม่หยุด หรือถ้าปลิงหลุดเข้าไปในอวัยวะอย่างทวารหนัก ช่องคลอด หรือท่อปัสสาวะ แล้วเจาะเข้าอวัยวะสำคัญ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

6. พยาธิ

พยาธิ เป็นปรสิตชนิดหนึ่งที่สามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ง่ายมาก เพราะสามารถปนเปื้อนในอาหาร อากาศ สิ่งปฏิกูล หรือแม้แต่สิ่งของต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ยังเป็นไข่ เพื่อเจริญเติบโต พยาธิจะแย่งสารอาหารที่เรากินเข้าไป ซึ่งจะทำให้เหยื่อได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ นอกจากนี้ หากพยาธิหลุดเข้าไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อน้ำท่วม พยาธิจะปนเปื้อนมากับน้ำที่ไม่สะอาด แล้วเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายจึงควรระวังให้ดี

7. แมลงก้นกระดก

แมลงก้นกระดกเป็นสัตว์อันตรายประจำหน้าฝนเลยก็ว่าได้ เนื่องจากมีสารพิษพิเดอริน ที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนแต่ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อผิวหนังได้ หากเราเผลอไปปัดหรือบี้เวลาที่แมลงก้นกระดกมาเกาะที่ตัว ท้องของแมลงตัวนี้จะแตกและปล่อยสารพิษดังกล่าว ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง แสบร้อน หรือเป็นรอยไหม้หลังจากได้สัมผัสพิษ กลายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบ แม้ว่าพิษของแมลงก้นกระดกจะไม่ได้ร้ายแรงขนาดที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต แต่ก็ไม่ควรประมาท

8. คางคก

พิษของคางคกหากสัมผัสที่ผิวหนังจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองเฉพาะบริเวณที่โดนพิษ แต่ไม่มากพอที่จะทำให้เกิดอาการตามระบบต่าง ๆ ในร่างกายได้ แต่พิษที่น่ากลัวของคางคกจะเกิดขึ้นกับผู้ที่นิยมกินอาหารที่ทำจากคางคก ซึ่งไม่รู้วิธีการประกอบอาหารที่ถูกต้อง นับว่าอันตรายมากจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง มีอาการสับสน ง่วงซึม หัวใจเต้นช้าลง อาจมีอาการชักและหมดสติ หากได้รับพิษมากจะทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ถึงขั้นเสียชีวิต

9. ยุง

ยุงเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่มีพิษสงร้ายแรง เพราะยุงเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคชิคุนกุนยา โรคไข้ซิกา โรคไข้สมองอักเสบ เป็นต้น วิธีการป้องกันยุงจึงต้องเริ่มจากตัวเราเอง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ง่ายในหน้าฝน หากน้ำท่วม ยุงก็จะวางไข่ในน้ำที่ท่วมขัง และต้องระวังตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด เมื่อถูกยุงกัดแล้วมีอาการไม่สู้ดีต้องรีบไปพบแพทย์

10. จระเข้

ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมากที่เราจะเจอจระเข้ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย โดยเฉพาะเวลาที่น้ำป่าไหลหลากจนในต่างจังหวัด ก็มีข่าวจระเข้หลุดให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งหากบริเวณบ้านที่น้ำท่วมมีพงหญ้าหรือกอไม้ขนาดใหญ่ต้องระวังว่าจระเข้จะมาใช้เป็นที่หลบภัยให้ดี เพราะเราอาจจะไม่ใช่แค่ถูกกัด แต่อาจจะโดนกลืนหายไปเลยก็ได้ หากต้องอยู่ในที่ที่น้ำท่วม ควรใช้ไม้ตีน้ำเป็นระยะ ๆ หรือทำให้เกิดเสียงดัง วิธีนี้จะช่วยให้จระเข้ตกใจและหนีไปได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook