ปลั๊กพ่วง เลือกแบบไหนให้เหมาะกับบ้านคุณ

ปลั๊กพ่วง เลือกแบบไหนให้เหมาะกับบ้านคุณ

ปลั๊กพ่วง เลือกแบบไหนให้เหมาะกับบ้านคุณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปลั๊กพ่วง หรือ รางปลั๊กไฟ หนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีติดอยู่ทุกบ้าน เพราะอุปกรณ์ชิ้นนี้นับว่าช่วยทุ่นแรงในการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างมาก โดยสามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ เครื่องได้พร้อม ๆ กัน ลองมาดูวิธีการเลือกปลั๊กพ่วงให้เหมาะสมกับพื้นที่ภายในบ้าน และการใช้งาน

ปลั๊กพ่วง มีกี่ประเภท แบบไหนเหมาะกับพื้นที่แบบใด

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันว่าปลั๊กพ่วงมีกี่ประเภท อะไรบ้าง แล้วปลั๊กพ่วงแบบไหนที่เหมาะกับพื้นที่การใช้งานในบ้านของเรา

ปลั๊กพ่วง แบบที่ 1-ปลั๊กพ่วง 2 ขา

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักคุ้นเคยและใช้ปลั๊กพ่วงหรือรางปลั๊กไฟประเภทนี้อยู่แล้ว โดยปลั๊กพ่วง 2 ขา จะมีเต้าเสียบปลั๊กรองรับปลั๊กของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ประมาณ 3-4 ตัว ขึ้นอยู่กับขนาดและดีไซน์ตัวปลั๊กว่าเป็นอย่างไร แรงดันไฟฟ้าของปลั๊กพ่วง 2 ขา มีมากถึง 1,500 วัตต์ มักนำไปใช้งานทั่วไป เช่น เสียบปลั๊กพัดลม ชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์หรือแท็บเล็ต เป็นต้น

พื้นที่ที่เหมาะกับการใช้งาน: เหมาะกับการใช้งานภายในบ้านหรือที่อยู่อาศัยทั่วไป สามารถนำไปใช้เสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ได้ภายในห้องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือห้องรับแขก เพราะมีขนาดกะทัดรัด เคลื่อนย้ายง่าย รวมทั้งรองรับการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ซึ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันภายในบ้าน

ปลั๊กพ่วง แบบที่ 2-ปลั๊กโรลสายไฟ

ตัวปลั๊กจะเป็นโรลไว้ใช้สำหรับม้วนเก็บและดึงสายปลั๊กไฟออกมาใช้งานได้ในตัวเดียว เต้าเสียบปลั๊กมีให้เลือกสองแบบ ได้แก่ ปลั๊กเสียบแบบ 2 ขา และปลั๊กเสียบแบบ 3 ขา โดยปลั๊กจะรองรับพลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 2,500-3,500 วัตต์ เหมาะกับการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการพื้นที่กว้าง เพราะสายไฟค่อนข้างยาว ม้วนเก็บง่าย และเคลื่อนย้ายได้สะดวก หากจะนำมาใช้งานควรดึงสายไฟออกจากโรลให้หมดโรลก่อน เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน

พื้นที่ที่เหมาะกับการใช้งาน: ภายในบ้านหรือห้องโถงที่มีพื้นที่กว้าง และต้องการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันภายในพื้นที่เดียวกัน

ปลั๊กพ่วง แบบที่ 3-ปลั๊กบ็อกยางสนาม

ปลั๊กประเภทนี้มีขนาดพอดี พกพาได้ง่าย ตัวเต้าปลั๊กทำจากวัสดุยาง ซึ่งลดแรงกระแทก ทำให้ทนทาน ใช้งานได้นาน รูปทรงและดีไซน์เรียบง่าย ธรรมดา ขนาดแรงดันไฟฟ้าที่รองรับได้อยู่ที่ 3,500 วัตต์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรุ่น แต่ส่วนใหญ่แล้วค่าแรงดันไฟฟ้าที่รองรับได้จะอยู่เฉลี่ยอยู่ที่ค่าดังกล่าว เหมาะกับใช้งานช่าง ไม่ค่อยพบเห็นนำมาใช้งานทั่วไปภายในบ้านเท่าไหร่

พื้นที่ที่เหมาะกับการใช้งาน: พื้นที่โล่งกว้างหรือ outdoor ซึ่งทำกิจการงานช่างหรือกิจกรรมนอกร่ม เพราะตัวเต้าเสียบทนทาน ไม่แตกเสียหายง่ายเมื่อตกหล่น

ปลั๊กพ่วง แบบที่ 4-ปลั๊กกรองไฟ

ปลั๊กไฟประเภทนี้ประกอบด้วยเต้าเสียบที่รองรับปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ค่อนข้างเยอะ มากถึง 8 เต้าเสียบ ตัวปลั๊กขนาดพอเหมาะ กำลังดี และมีราคาสูง เพราะมาพร้อมฟังก์ชันเสริมที่ช่วยกรองสัญญาณภาพและเสียง ทำให้ปราศจากคลื่นแทรกรบกวน อีกทั้งยังมีคุณสมบัติกันไฟกระชากได้เป็นอย่างดี สามารถรองรับแรงดันไฟฟ้าได้มากถึง 3,500 วัตต์

พื้นที่ที่เหมาะกับการใช้งาน: คุณสมบัติเฉพาะของปลั๊กกรองไฟเหมาะแก่การใช้ภายในบ้าน โฮมออฟฟิศ หรือมินิฮอล์ที่เน้นจัดงานรื่นเริง โดยปลั๊กกรองไฟมักนำมาใช้เสียบกับพวกเครื่องเสียง เครื่องเล่นเพลง โฮมเธียเตอร์ โทรทัศน์ และเครื่องเล่นที่ใช้แสดงผลออกมาเป็นภาพและเสียงคมชัดทุกมิติ

ปลั๊กพ่วง แบบที่ 5-ปลั๊กกันไฟกระชาก

รางปลั๊กไฟประเภทนี้มีรูปร่างคล้ายคลึงกับปลั๊กพ่วง แต่แตกต่างกันที่คุณสมบัติเฉพาะ โดยปลั๊กกันไฟกระชากประกอบด้วยวงจรกันไฟกระชาก ทำให้มีคุณสมบัติป้องกันไฟกระชาก ฟ้าผ่า และหม้อแปลงระเบิด ระดับรองรับไฟกระชากจะมากน้อยแตกต่างกันไปตามจำนวนจูลล์ สามารถรองรับแรงดันไฟฟ้าได้ที่ 10A 2,500 วัตต์ - 16A 3,500 วัตต์ ผู้ที่ใช้ปลั๊กไฟประเภทนี้ควรติดตั้งสายดิน เพื่อความปลอดภัย

พื้นที่ที่เหมาะกับการใช้งาน: ภายในบ้านใช้งานทั่วไป โดยต้องติดตั้งสายดินให้เรียบร้อย

วิธีการเลือกปลั๊กพ่วง

เมื่อรู้แล้วว่าปลั๊กพ่วงแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร เหมาะกับนำไปใช้งานในพื้นที่แบบไหน การเลือกปลั๊กพ่วงก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ไฟฟ้า ราคาของปลั๊กแต่ละประเภท หากเลือกปลักไฟที่เข้ากับการใช้งาน ก็จะช่วยให้เราได้ปลั๊กพ่วงสำหรับนำไปใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าคุ้มราคา วิธีเลือกปลั๊กพ่วงหรือรางปลั๊กไฟเบื้องต้น มีดังนี้

1. จำนวนเต้าเสียบ

ควรเลือกปลั๊กพ่วงที่มีจำนวนเต้าเสียบมากพอหรือใกล้เคียงกับจำนวนปลั๊กของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องการเสียบใช้งานพร้อมกัน โดยอาจสังเกตจากกิจกรรมที่ทำและการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในแต่ละวัน เพื่อประมาณว่าจะเลือกปลั๊กพ่วงประเภทไหน รุ่นใด และขนาดใด ให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการเสียบปลั๊ก

ที่สำคัญไม่ควรซื้อรางปลั๊กไฟหลายอัน เพื่อนำรางปลั๊กไฟตัวหนึ่งไปต่อกับอีกตัวหนึ่ง เพราะอาจทำให้
ไฟฟ้าลัดวงจร อันนำไปสู่อัคคีภัยภายในบ้านได้

2. ความยาวและขนาดรูปร่าง

ควรคำนวณและประมาณว่าปลั๊กพ่วงที่จะซื้อนั้นว่าควรวางห่างจากเต้าเสียบหลักเท่าไหร่ เพื่อเลือกปลั๊กพ่วงที่มีสายไฟเสียบเต้าปลั๊กได้พอดี โดยให้เลือกปลั๊กพ่วงที่มีความยาวสายไฟเท่ากับระยะห่างจากเต้าเสียบเป็นอย่างต่ำ นอกจากนี้ ขนาดรูปร่างของปลั๊กพ่วงแต่ละแบบก็มีหลากหลายแบบ ตั้งแต่ขนาดมาตรฐาน แบบ front-facing แบบ rear-facing แบบ side-facing และเต้าเสียบแบบ end-mounted

3. ชนิดของอุปกรณ์

หากรู้อยู่แล้วว่าจะนำปลั๊กพ่วงมาเสียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบใด ก็จะทำให้เลือกซื้อปลั๊กพ่วงได้ง่ายขึ้น เพราะการเลือกปลั๊กพ่วงที่มีรูเสียบพอดีกับเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการกรองประเภทและรุ่นนาน อีกทั้งปลั๊กพ่วงแต่ละประเภทก็เหมาะแก่การนำไปใช้ภายในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุ ขนาดรูปร่าง และฟังก์ชันการใช้งานของปลั๊กพ่วงนั้น ๆ ว่าตอบโจทย์หรือไม่

4. มาตรฐานความปลอดภัย

ปลั๊กพ่วงบางประเภทจะมีฟังก์ชันที่รองรับและเสริมมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้งาน โดยบางรุ่นจะมีฟังก์ชัน circuit breakers ป้องกันการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเกินไป หรือฟังก์ชัน GFCI หรือวงจรตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันไฟช็อต

5. การป้องกันไฟกระชาก

ถือเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันสำคัญที่ควรมองหาเมื่อเลือกซื้อปลั๊กพ่วง โดยปรากฏการณ์ไฟกระชากจะมีกระแสไฟฟ้าเข้ามาขาดบ้าง เกินบ้าง เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งฟ้าผ่า ฟ้าร้อง เดินสายไฟผิด เปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเกินไป ไฟกระชากส่งผลต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้เสียหายและเสื่อมสภาพเร็ว ปลั๊กพ่วงที่มีฟังก์ชันป้องกันไฟกระชากจะช่วยลดปัญหาดังกล่าว ทำให้ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าได้นานขึ้น ถือเป็นการถนอมและรักษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกทางหนึ่ง

นี่ก็เป็น 5 ปัจจัยหลักที่ควรพิจารณาทุกครั้งก่อนเลือกซื้อปลั๊กพ่วงมาใช้งานในบ้าน สำนักงาน หรือสถานที่สำหรับทำกิจกรรมสำคัญโดยเฉพาะ นอกจากจะได้ปลั๊กพ่วงที่ตอบโจทย์การใช้งานแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการทุ่นค่าไฟและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานและส่วนรวมด้วย

วิธีใช้งานปลั๊กพ่วงให้ถูกวิธี

1. ปิดสวิตซ์เครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนเสียบปลั๊กพ่วง

2. ถอดปลั๊กทุกครั้งหลังใช้งาน เพื่อตัดกระแสและป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

3. ไม่ใช้ปลั๊กพ่วงเกินวัตต์ที่กำหนด

4. หยุดใช้งานทันที หากพบสิ่งผิดปกติ

5. เลือกใช้ปลั๊กไฟที่ได้มาตรฐาน มอก.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนต่างใช้ชีวิตและทำกิจกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แทบ 24 ชั่วโมง "ไฟฟ้า" ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจวัตรในแต่ละวันให้ผ่านไปได้ด้วยดี และ "ปลั๊กพ่วง" ก็เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้การใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกของผู้คนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook