รู้จักชนิดของหลอดไฟ พร้อมวิธีเปลี่ยนหลอดไฟง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งภายในบ้านคือ "หลอดไฟ" ที่ช่วยให้แสงสว่างภายในบ้าน แต่เชื่อว่าหลายคนต้องเคยพบกับปัญหาของหลอดไฟเสีย หมดอายุการใช้งาน ซึ่งบางครั้งไม่สามารถตามช่างมาแก้ไขหรือติดตั้งได้ทันที ลองมาดูรู้จักตั้งแต่ชนิดของหลอดไฟ หลอดไฟแบบไหนประหยัดพลังงาน และวิธีเปลี่ยนหลอดไฟง่าย ๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นคุณผู้หญิง หรือคุณผู้ชายก็สามารถทำตามได้ง่าย ๆ ด้วยตัวคุณเอง
รู้จักชนิดของหลอดไฟ
ก่อนจะไปถึงวิธีเปลี่ยนหลอดไป ลองมาทำความรู้จักก่อนว่าหลอดไฟมีกี่ชนิด ซึ่งหลอดไฟแต่ละชนิดมี ข้อดี และข้อเสีย ที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. หลอดไส้ (Incandescent Lamp)
หลอดไฟที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนาน เรียกอีกชื่อว่า "หลอดดวงเทียน" เพราะสีของแสงคล้าย ๆ กับแสงเทียน มีทั้งชนิดแบบแก้ว และฝ้า วิธีการทำงานคือ กระแสไฟฟ้าจะผ่านไส้หลอดเปลี่ยนจากพลังงานไฟฟ้าเป็นความร้อน เมื่อไส้หลอดร้อนจะเปล่งแสงออกมา ข้อดีคือ มีขนาดเล็ก ข้อเสียคือ อายุการใช้งานสั้น และกินไฟมาก ทำให้ค่าไฟแพง
2. หลอดฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent tube)
หลอดหลูออเรสเซนต์ หรือหลอดเรืองแสง ตัวหลอดจะมีไส้โลหะทังสเตนติดอยู่ที่ปลายทั้ง 2 ข้างของหลอด ผิวภายในฉาบด้วยสารเรืองแสง โดยมีการใส่ไอปรอทไว้เล็กน้อย หลักการทำงานคือ กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านปรอทแล้วคายพลังงานในรูปแบบรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อกระทบสารเรืองแสงที่ฉาบไว้ในหลอดก็จะเปล่งแสงออกมา
ข้อดีคือให้แสงสว่างมากกว่าหลอดไส้ถึง 5 เท่า อายุการใช้งานนานกว่าหลอดไส้ประมาณ 7-8 เท่า หรือประมาณ 6,000-20,000 ชั่วโมง
3. หลอดฮาโลเจน (Halogen)
พัฒนามาจากหลอดไส้ โดยใช้ก๊าซฮาโลเจนบรรจุภายในทำให้ทนทานกว่าหลอดไส้ปกติ จะให้ค่าความถูกต้องของสีถึง 100% เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการแสงสว่างเป็นพิเศษ เช่น มุมอับของบ้าน ห้องทำงาน อายุการใช้งานประมาณ 1,500-3,000 ชั่วโมง
4. หลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ (Compact fluorescent)
หลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดตะเกียบ มีการทำงานคล้ายหลอดฟลูออเรสเซนต์ มีทั้งแบบที่มีบัลลาสต์ในตัว และแบบอยู่ภายนอก มีรูปร่างที่หลากหลาย เช่น แบบเกลียว แบบหลอด แบบหลอดสี่แถว โดยจะมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์
5. หลอด LED
หลอดไฟ LED (Light-Emitting Diode) มีหลักการทำงานจะต่างจากหลอดทั่ว ๆ ไป โดยแสงสว่างเกิดขึ้นจากการเคลื่อนของอิเล็กตรอนภายในสารกึ่งตัวนำ มีข้อดีหลายด้าน เช่น ไม่มีความร้อน เพราะไม่มีการเผาไส้หลอด อายุการใช้งานยาวนานถึง 50,000 ชั่วโมง ใช้วัตต์น้อย แต่ให้แสงสว่างมาก แต่ถนอมสายตา
ข้อดีที่สำคัญมาก ๆ ของหลอด LED คือ ประหยัดค่าไฟได้สูงสุดถึง 60% และไม่มีสาร UV และสารปรอท เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาวะโลกร้อน
วิธีการตรวจสอบหลอดไฟ
หลอดไฟเสียมักมีอาการหลายแบบ โดยสามารถตรวจสอบอาการและวิธีแก้ไขเบื้องต้นได้ดังนี้
1. หลอดเสื่อมสภาพ
การเสื่อมสภาพของหลอด สังเกตได้ง่าย ๆ คือ ขั้วหลอดจะมีสีดำ หากมีสภาพนี้ต้องเปลี่ยนหลอดไฟ
2. อาการหลอดสั่น หรือมีแสงกะพริบตลอดเวลา
อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น บัลลาสต์เสีย สตาร์ตเตอร์เสีย หากเกิดจากสาเหตุข้างต้นก็ต้องเปลี่ยนบัลลาสต์ หรือสตาร์ตเตอร์ หรืออาจเกิดจากแรงดันไฟฟ้าภายในบ้านต่ำ วิธีนี้ต้องเปลี่ยนหม้อแปลงให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้ไฟฟ้า
3. หลอดไฟใช้เวลานานกว่าจะสว่าง
อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น สตาร์ทเตอร์เสื่อม ก็ต้องเปลี่ยนสตาร์ตเตอร์ หรืออาจเกิดจากหลอดไฟเสื่อมก็จะต้องแก้ไขด้วยการเปลี่ยนหลอดไฟ นอกจากนี้อาจเป็นเพราะแรงดันไฟฟ้าภายในบ้านต่ำก็ต้องเปลี่ยนหม้อแปลงให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้ไฟฟ้า
4. มีเสียงดังขณะเปิด
หากเกิดเสียงดังขณะเปิด และใช้เวลานานกว่าเสียงนั้นจะหายไป อาจเกิดจากแกนเหล็กของบัลลาสต์หลวม ต้องเปลี่ยนบัลลาสต์
เตรียมตัวก่อนเปลี่ยนหลอดไฟง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
วิธีเปลี่ยนหลอดไฟง่าย ๆ เริ่มต้นคุณจะต้องเตรียมตัวก่อนจะเปลี่ยนหลอดไฟ ดังนี้
1. ทำการปิดสวิชต์ของหลอดที่เสียให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันการถูกไฟช็อต หรือไฟดูด
2. เตรียมบันไดให้พร้อมใช้งาน เพื่อทำการเปลี่ยนได้อย่างสะดวก ไม่ควรใช้เก้าอี้ หรือวัสดุอื่น เพราะอาจเกิดอันตรายได้ง่าย
3. หากมีถุงมือผ้า สามารถนำมาใส่ในขณะจับหลอดไฟได้ เพื่อความปลอดภัย แต่ระวังหลอดไฟลื่นหลุดมือ หรือหากถุงมือหนาเกินไปอาจจับหลอดไฟไม่ถนัดมือ
4. หากหลอดไฟยังมีความร้อน ให้พักและรอให้เย็นก่อน จึงค่อยเปลี่ยน
วิธีการเปลี่ยนหลอดไฟง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
1. การเปลี่ยนหลอดไฟแบบขาสปริง
หลอดไฟแบบขาสปริง จะมีวิธีเปลี่ยนหลอดไฟแตกต่างจากหลอดแบบขาทั่วไป โดยวิธีการเปลี่ยนคือ ให้ดันไปข้างใดข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงดึงลง จากนั้นก็นำหลอดไฟใหม่มาใส่ โดยใส่ทีละข้างให้ดันข้างใดข้างหนึ่งเข้าไปก่อน แล้วค่อยใส่อีกข้าง
2. การเปลี่ยนหลอดแบบขาทั่วไป
หลอดไฟแบบขาทั่วไปจะเป็นลักษณะการหมุนเกลียวลงล็อก วิธีการเปลี่ยนหลอดไฟชนิดนี้คือ ให้หมุนหลอดไฟไปมาให้ขาหลุดออกจากล็อกทั้งสองข้างแล้วค่อยดึงลงมา จากนั้นนำหลอดไฟใหม่มาใส่ โดยจะใส่หลอดไฟใหม่เข้าไปทีละข้างด้วยการหมุนให้เข้าล๊อกเหมือนเดิม
3. การเปลี่ยนบัลลาสต์
ก่อนอื่นให้ปิดสวิตซ์ไฟก่อน จากนั้นให้ถอดฝาครอบออก ตัวบัลลาสต์จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าติดตั้งอยู่บนรางไฟ จากนั้นใช้ไขควงปากแบนถอดขั้วต่อสายบัลลาสต์ แล้วดึงสายออก ไขเอาบัลลาสต์ออกมา แล้วนำตัวใหม่มาใส่แทนที่ แล้วไขสกรูให้แน่นและต่อสายเข้าเหมือนเดิม ปิดฝากครอบเท่านี้ก็เรียบร้อย
4. การเปลี่ยนสตาร์ตเตอร์
ให้ถอดสตาร์ตเตอร์ของเดิมออกมาก่อน โดยให้หมุนเอาสตาร์ตเตอร์ออกจากล็อก แล้วปลดออกใส่อันใหม่กลับเข้าไป ให้หันด้านที่มีขั้วเสียบเข้าไปในช่องเดิมแล้วหมุนให้แน่นก็เรียบร้อย
ทั้งนี้ หลอดไฟปัจจุบันหลายแบบ อาทิ หลอดตะเกียบจะไม่มีสตาร์เตอร์และบัลลาสต์แล้ว เมื่อหลอดเสีย ก็เพียงหมุนถอดหลอดเก่า เปลี่ยนหลอดใหม่เข้าไปก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม วิธีการข้างต้นนั้นเป็นเพียงพื้นฐานของการเปลี่ยนหลอดไฟเท่านั้น หากมีปัญหาอื่น ๆ เกี่ยวกับระบบไฟ อย่าชะล่าใจ เรียกหาสมาชิกในบ้านที่มีความรู้ในด้านนี้ หรือช่างผู้ชำนาญการมาเปลี่ยนจะปลอดภัยกว่า เพราะเรื่องของไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องเล่น หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอาจสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้