“บ้าน” หลังวิกฤต “โควิด-19” เป็นเรื่องของการออกแบบพื้นที่และ “สติ” ที่ต้องมีเพิ่มขึ้น

“บ้าน” หลังวิกฤต “โควิด-19” เป็นเรื่องของการออกแบบพื้นที่และ “สติ” ที่ต้องมีเพิ่มขึ้น

“บ้าน” หลังวิกฤต “โควิด-19” เป็นเรื่องของการออกแบบพื้นที่และ “สติ” ที่ต้องมีเพิ่มขึ้น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด -19 (COVID-19) เราอาจพูดได้ว่าเราไม่ค่อยมีเวลาอยู่ “บ้าน” เหตุเพราะเวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทาง การทำงาน ฯลฯ แต่สำหรับในช่วงเวลานี้ “บ้าน” กลายเป็นสถานที่ที่คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่เกือบ  24 ชม. จึงทำให้เกิดคำถามว่า "บ้าน" หลังผ่านวิกฤตแล้วจะยังเหมือนเดิมไหม ต้องออกแบบบ้านให้ตอบรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หรือเปล่า และถ้ามีพื้นที่จำกัด แต่ยังต้องการใช้ชีวิตแบบเดิม กิน นอน ทำงาน ออกกำลังกายในพื้นที่เดียวกัน ที่พักอาศัยเดิมยังตอบโจทย์ชีวิตอยู่ไหม  

 “คุณบอน-วีรภัฎ  โชคดีทวีอนันต์” สถาปนิกและเจ้าของ The Bound House (เดอะบาวด์ เฮาส์) กับมุมมอง “บ้าน” หลังจากผ่านวิกฤตโควิด-19 นี้ไปแล้ว ควรเป็นอย่างไร ซึ่งเจ้าตัวก็ออกตัวว่าเป็นเพียงมุมมองของตนเท่านั้น

ในมุมของสถาปนิก เมื่อคนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น เราควรใส่ใจเรื่องใดมากขึ้นเป็นพิเศษหรือเปล่า

เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาใหม่ที่ทุกคนต้องปรับตัว ผมเห็นเพื่อนๆ คนใกล้ชิดส่วนใหญ่เริ่มปรับสภาพพื้นที่บ้านให้เหมาะกับกิจกรรมของแต่ละคน ทั้งเรื่องการทำงาน กิจกรรมที่ชื่นชอบ งานอดิเรก ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ การทำอาหาร หรือการออกกำลังกาย

ผมว่ามันเป็นบทเรียนของทั้งโลก ที่คนจะเห็นความสำคัญเมื่อสร้างบ้านควรใส่ใจเรื่องการจัดสรรพื้นที่การใช้งาน มันอาจต้องปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นได้ ซึ่งถ้าลงรายละเอียดไปถึงสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัวทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ มันก็ต้องปรับให้ตอบสนองกับชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นด้วย

เมื่ออยู่ในครอบครัวเดียวกัน แต่เราต้องรักษาระยะห่าง ในด้านการออกแบบพื้นที่ จะต้องทำอย่างไรให้ระยะห่างคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์เช่นเดิม

ผมคิดว่าเป็นเรื่องของพฤติกรรมของคนในบ้าน ผมว่าคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันยังไม่ซับซ้อน ถ้าเขาไม่ได้มีความเสี่ยง หรือเป็นผู้ติดเชื้อ เพราะผู้ติดเชื้อจะต้องถูกแยกออกไปรักษาตัวอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น คำนึงถึงสุขอนามัยทุกครั้งที่ต้องสัมผัส หรือเดินทาง

ปัจจุบัน “บ้าน” ต้องถูกปรับเป็นที่ทำงานด้วย สำหรับผู้ที่มีพื้นที่จำกัด จะออกแบบพื้นที่อย่างไรให้ลงตัว ได้ทำงานไปพร้อมใช้ชีวิต

บ้านไหนมีพื้นที่ไม่มีปัญหาเพราะจัดสรรได้ง่าย แต่สำหรับคนที่มีพื้นที่อยู่อาศัยจำกัด และตอนนี้ต้องเพิ่มพื้นที่สำหรับทำงานเข้าไปด้วย น่าจะเริ่มจากการลำดับความสำคัญว่าพื้นที่ที่จำกัดนั้น อาจต้องเตรียมไว้สำหรับการทำงานก่อน แล้วค่อยย่อยลงไปสำหรับกิจกรรมอื่นที่ตนเองสนใจ แต่ถึงอย่างไรเรื่องที่สำคัญไปกว่าเรื่องของพื้นที่คือห้องต้องมีระบบอากาศแบบเปิด สามารถเปิดหน้าต่างได้ ลมธรรมชาติ และแสงธรรมชาติผ่านเข้ามาได้ ห้องน้ำไม่อับ ไม่เป็นที่สะสมเชื้อโรค

การออกแบบที่พักอาศัยในอนาคต ต้องให้ความสำคัญเรื่องช่องแสง ช่องลมเป็นพิเศษหรือเปล่า

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่นักออกแบบทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่ระยะหลังเนื่องจากการปลูกสร้างอาคารมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้จึงถูกจัดอันดับไปเป็นเรื่องรองๆ  ลงไป แต่ส่วนสำคัญทั้งสำหรับสถาปนิกและผู้พักอาศัยเองก็คือจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่พักอาศัยได้ทันท่วงที เช่นหากขยับโต๊ะออกไป 1 ตัว พื้นที่ตรงนั้นสามารถใช้ออกกำลังกายได้ทันที

 “บ้านสไตล์มินิมัล” น่าจะตอบโจทย์สำหรับการเป็นบ้านที่ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยจากเชื้อโรคมากที่สุด สำหรับคุณคิดอย่างไร

ความได้เปรียบของบ้านสไตล์มินิมัล ที่คิดเรื่องความน้อยมันจะช่วยลดการเก็บเชื้อโรค มันก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเหมือนกัน แต่โดยความหมายจริงๆ ของบ้านสไตล์มินิมัลนั้นมันเป็นลัทธิมินิมอลที่เกิดขึ้นมาในยุคประมาณ 1960-1970  ซึ่งเป็นลัทธิที่ไม่ต้องการให้คนมองศิลปะเป็นตัวแทนของอะไรอีกแล้ว เพราะแต่เดิมศิลปินที่วาดภาพต้องการให้ศิลปะถ่ายทอดสิ่งที่เขาวาด แต่ลัทธินี้กลับมองอีกอย่าง เช่นการวางสี่เหลี่ยม 9 ชิ้นไว้กลางพิพิธภัณฑ์ มันไม่มีความหมายอะไร แต่จุดประสงค์คือต้องการให้คนเข้ามาสัมผัสพื้นผิวของสี่เหลี่ยมเหล่านั้น เห็นแสง ช่องว่าง ระยะห่าง ทิศทางต่างๆ นี่คือความหมายของความน้อยอย่างมินิมัลที่แท้จริง

แต่ถ้ามองว่าความน้อยในยุคที่เมืองมีความหนาแน่น และเรามีนิสัยสะสมมากขึ้น นั่นอาจกลายเป็นปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตไม่เหมาะสมกับพื้นที่ ผมจึงมองว่าเรื่องนี้ขึ้นกับพฤติกรรมของมนุษย์แต่ละคนมากกว่า ว่าควรมีการใช้ชีวิตสัมพันธ์กับพื้นที่


สรุปแล้วหลังจากนี้ “บ้าน” ควรจะเป็นอย่างไร

ผมว่าหลังจากนี้หน้าบ้านทุกหลังควรมีแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าวางไว้ มีสเปรย์ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค อยู่บ้านอาจไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ทำงาน หรืออย่างคอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนท์ที่มีการใช้พื้นที่ร่วมกันจะต้องใส่ใจเรื่องการทำความสะอาด คนต้องรับผิดชอบต่อตัวเองและส่วนรวมมากขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มจากตัวเอง มันอาจจะมีรายละเอียดเพิ่มเข้าไปในการใช้พื้นที่ร่วมกัน

แต่ทั้งหมดนั้นผมว่าหลังผ่านบทเรียนอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้การใช้ชีวิตอย่างมีสติ รู้ตัว รู้พฤติกรรมของตัวเองนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

 

 

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook