สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดคืออะไร
สเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือที่เรียกว่าเซลล์ต้นกำเนิด เป็นเซลล์อ่อนที่พร้อมจะเจริญเติบโต แบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ และเปลี่ยนแปลงเพื่อไปทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง เซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายของมนุษย์จะทำหน้าที่จำเพาะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่ย้อนกลับมา ซึ่งเซลล์ที่พัฒนาไปจนสุดทางจนเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง
ตัวอย่างเช่น เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ หรือเซลล์สมอง เซลล์เหล่านี้เมื่อตายไปแล้ว จะไม่มีเซลล์ใหม่มาทดแทน ในขณะเดียวกันร่างกายของคนเราก็ยังมีเซลล์อีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถเติบโตได้อีก โดยสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดพวกนี้สามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้
สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด มีคุณสมบัติเด่นที่เป็นปัจจัยให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกสนใจเซลล์ชนิดนี้กันมาก เนื่องจากเป็นเซลล์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้ และสเต็มเซลล์เป็นเซลล์ที่มีความสามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
ลักษณะของสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดในร่างกายคนเรามีความพิเศษหลายประการ ในหลักการทั่วไปถือว่าสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดแตกต่างจากเซลล์ชนิดอื่นๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่มาจากแหล่งใด อาจจะเป็นสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน สเต็มเซลล์จากร่างกาย หรือสเต็มเซลล์ที่ได้มาจากการสร้างเซลล์ให้เข้าคู่กับสารพันธุกรรมของคนไข้ได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการปฎิสนธิ
สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดทุกชนิดจะมีลักษณะพิเศษที่สำคัญ 3 ประการ
สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดสามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เป็นเวลานาน
สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดเป็นเซลล์ที่ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจง
สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดมีความสามารถในการเปลี่ยนไปเป็นเซลล์ที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงได้
ในช่วงปี พ.ศ. 25032513 ซึ่งถือว่าเป็นยุคแรกๆ ที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มทำการศึกษาวิจัยสเต็มเซลล์จากร่างกายโดยใช้เนื้อเยื่อที่โตเต็มวัย และยังได้นำไปทดลองใช้รักษาผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิ ในปี พ.ศ. 2511 เป็นครั้งแรก
จากนั้นมานักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจ และศึกษาวิจัยเพื่ออธิบายสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิด ที่ทำให้มันเป็นเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ตลอดเวลาครั้งแล้วครั้งเล่า และสามารถแบ่งตัวได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่ควบคุมการแบ่งตัวเองขึ้นมาใหม่ของสเต็มเซลล์ ซึ่งคำตอบที่ชัดเจนเกิดขึ้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์เข้าใจขบวนการแบ่งตัวของเซลล์ ทั้งในเซลล์ตัวอ่อนหรือที่เรียกว่าเอ็มบริโอ และการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์มะเร็ง ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิกที่ได้พัฒนาขึ้นมาตามลำดับ
เมื่อในร่างกายมนุษย์มีสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่พร้อมทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งแต่ยังมีน้อยมาก จึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดเหล่านั้นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเอาเซลล์อ่อนที่ถูกคัดเลือกพร้อมทั้งเพิ่มจำนวนแล้วฉีดกลับเข้าไปยังอวัยวะส่วนที่ต้องการรักษา
นักวิทยาศาสตร์เล็งเห็นความสำคัญของการนำสเต็มเซลล์มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ เพื่อรักษาอาการป่วยอันเนื่องมาจากเซลล์ เนื้อเยื่อ หรืออวัยวะเสียหายหรือเสื่อมสภาพไป โดยหวังให้สเต็มเซลล์พัฒนาไปเป็นอวัยวะที่ต้องการได้
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดแพร่หลายไปทั่วในหลายหน่วยงาน เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พยายามแยกสเต็มเซลล์จากเอ็มบริโอหรือตัวอ่อนของหนู เพื่อนำมาเลี้ยงในห้องทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งนักวิจัยสามารถแยกสเต็มเซลล์ออกมาได้สำเร็จ และสามารถแสดงให้เห็นว่า สเต็มเซลล์ของมนุษย์ที่แยกมาได้ และเลี้ยงในห้องปฏิบัติการสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้จริง
ในปี พ.ศ. 2541 นักวิทยาศาสตร์สามารถเพาะสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์และเซลล์สืบพันธุ์ และสามารถสร้างสายพันธุ์ของเซลล์ขึ้นมาได้สำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 สเต็มเซลล์ตัวอ่อนเหล่านี้ถูกนำไปเพาะเป็นเซลล์เม็ดเลือด นับเป็นความก้าวหน้าของงานวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ครั้งสำคัญ
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ / สเต็มเซลล์คืออะไร
การรักษาด้วย สเต็มเซลล์ (Stem Cell)
การรักษาด้วย สเต็มเซลล์(Stem Cell) กำลังได้รับความสนใจในฐานะที่เป็นความหวังใหม่ของวงการแพทย์ที่จะสามารถรักษาโรคร้ายแรงและโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น ธาลลัสซีเมีย ลิวคิเมีย อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน อัมพาตไขสันหลัง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เบาหวาน เป็นต้น ให้หายขาดได้
แม้โดยหลักการแล้ว สเต็มเซลล์ สามารถหาได้จากไขกระดูก กระแสเลือด และบางส่วนของร่างกายมนุษย์ แต่จุดที่มีคุณภาพดีกว่าก็คือ เลือดจากสายสะดือทารกแรกเกิด และจากตัวอ่อนมนุษย์ โดยเฉพาะจากตัวอ่อนมนุษย์นั้นสามารถอีก 2 แหล่ง คือ ตัวอ่อนมนุษย์ที่เหลือจากการใช้ปฏิสนธิในคลินิกผู้มีบุตรยาก และตัวอ่อนมนุษย์ที่ได้รับการโคลนนิ่ง
ในกรณีนี้ จึงเกิดคำถามเชิงจริยธรรมขึ้นมาว่า เป็นการสร้างชีวิตหนึ่งโดยทำลายชีวิตหนึ่งลงไปหรือไม่?
สเต็มเซลล์และความก้าวหน้า
หลักการทำงานของ สเต็มเซลล์ ก็คือ ในร่างกายมนุษย์จะมีเซลล์ทั้งสิ้น 100 ล้านล้านเซลล์ แบ่งเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ 220 ชนิด โดยจะมีทั้งที่ตายไปและสร้างขึ้นใหม่ตามหลักอนิจจังอยู่เสมอๆ ซึ่งปกติร่างกายคนเราก็มี "สเต็มเซลล์" หรือ "เซลล์ต้นกำเนิด" อยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดพยาธิสภาพขึ้นก็จะทำให้สเต็มเซลล์ไม่สามารถทำงานได้
ทั้งนี้ การวิจัยในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบหลักๆ ด้วยกันคือ สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์ (Embryonic Stem Cell) และ สเต็มเซลล์เต็มวัย (Adult Stem Cell) ซึ่งคุณสมบัติของ สเต็มเซลล์ต้องประกอบด้วย
1. แบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้
2. แบ่งตัวแล้วยังคงรักษาคุณสมบัติเดิมได้
3. เปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ชนิดอื่นได้ถ้าจำเป็น
ด้านวิธีการรักษาด้วย สเต็มเซลล์จะได้แก่ การใช้วิธีเซลล์บำบัด การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ และการปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ผ่านมาผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้จำนวนครึ่งหนึ่งต้องเสียชีวิตไป ระหว่างการรอรับบริจาคอวัยวะ แพทย์ก็ลำบากใจที่ไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ ส่วนญาติพี่น้องก็ร้อนใจ เพราะจะซื้ออวัยวะก็ซื้อไม่ได้ อีกทั้งในกรณีของผู้ที่ได้รับการบริจาคอวัยวะแล้ว ร่างกายก็อาจเกิดการต่อต้านอวัยวะใหม่ได้ หากผู้ให้และผู้รับไม่ได้มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมต่อกันเช่น เป็นพ่อแม่หรือพี่น้องต่อกัน
แต่หากมีการนำสเต็มเซลล์มาใช้งานจริงจะแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากเป็นการใช้เซลล์ตัวเองไปเพาะเลี้ยงภายนอกให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วนำกลับเข้ามาสู่ร่างกาย จึงไม่เกิดการต่อต้านแต่อย่างใด อวัยวะจากการทำ สเต็มเซลล์ก็จะอยู่กับผู้ป่วยได้นานกว่า และเป็นการรักษาโรคให้หายขาดได้ และ การรักษาด้วย สเต็มเซลล์ยังเป็นการลดความทุกข์ทรมานและลดความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้ป่วย
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และม.มหิดล จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาห้องปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิดขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด และโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศ โดยโครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง ใช้ระยะเวลา 3 ปี ดำเนินการในปี 2549-2551 ใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านบาท
งานวิจัยระยะแรก จะมุ่งเน้นการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดผิวกระจกตา สำหรับรักษาผู้ป่วยกลุ่มที่มีการทำลายเซลล์ต้นกำเนิดผิวกระจกตา และเซลล์ต้นกำเนิดที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการประยุกต์ไปสู่การเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดชนิดอื่นๆ เพื่อเป็นประโยชน์ ในการรักษาโรคต่างๆได้มากกว่า 70 ชนิด รวมทั้งพัฒนาการจัดตั้งธนาคารเลือดสายสะดือทารกแรกเกิดในประเทศไทย ที่สามารถนำเลือดสายสะดือทารกมาใช้ได้ทันทีเมื่อมีความต้องการ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ในการเชื่อมต่อระหว่างนักวิจัยและผู้ป่วย ผ่านทางศูนย์ปฏิบัติการและโรงพยาบาล โดยการนำเทคโนโลยีเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งคุณภาพชีวิตและความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เพราะการรักษาผู้ป่วยให้หายขาดด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดตลอดเวลา 30 ปี ได้ถึง 10 เท่า
ถึงแม้ว่าการวิจัยด้าน สเต็มเซลล์จะก้าวหน้าไปไกลมาก แต่ปัจจุบันยังไม่มีองค์ความรู้เพียงพอ ที่จะอธิบายกระบวนการพัฒนาไปเป็นเซลล์อื่นๆ ในร่างกายของเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งหากยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนและสามารถอธิบายทางวิทยาศาสตร์ได้ การนำเอาไปใช้ในการรักษาถือว่าอันตรายมากต่อผู้ป่วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการวิจัย สเต็มเซลล์ ในส่วนเซลล์เต็มวัย (Adult stem cell) อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะส่วนที่ได้จากไขกระดูกและสายสะดือเด็กหลังคลอด ซึ่งสามารถนำมารักษาโรคต่างๆ อาทิ มะเร็งเม็ดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบตัน เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ปัจจุบันได้มีการรักษาไปแล้วประมาณ 1,000 ราย
แต่การนำ สเต็มเซลล์มารักษา ค่อนข้างมีข้อจำกัดในส่วนของหมู่เลือดเม็ดโลหิตขาว และเนื้อเยื่อจะต้องตรงกับผู้ป่วย ในส่วนที่ผู้ป่วยไม่สามารถนำเซลล์ต้นกำเนิดของตนเองมารักษาได้ ดังนั้น สภากาชาดไทยจึงได้จัดตั้งธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เพื่อขอรับบริจาคจากบุคคลทั่วไป หรือต้องสละชีวิตเพื่อชีวิต
ขณะที่การวิจัยเรื่อง สเต็มเซลล์ กำลังก้าวเดินรุดหน้าอย่างรวดเร็ว โดยมีการฉายให้เห็นแต่ภาพความดีงามและคุณประโยชน์มหาศาลต่อชีวิตมนุษย์ ในมุมกลับกัน การได้มาซึ่ง สเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นมุมอีกด้านกลับถูกละเลยที่จะกล่าวถึง
คำถามที่ท้าทายคือ เราจะนิยามความหมายอย่างไรของการได้มาซึ่ง สเต็มเซลล์ในบางประเด็นที่มีปัญหาในเชิงศีลธรรม เช่น การได้ สเต็มเซลล์มาจากตัวอ่อนของมนุษย์หลังการปฏิสนธิจนถึง 14 วันนั้น สามารถเรียกได้ว่าเป็นชีวิตแล้วหรือยัง หากสิ่งนั้นเป็นชีวิต เท่ากับเป็นสละชีวิตเพื่อชีวิตหรือไม่
สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงเชิงศีลธรรม คือ กรณีการใช้ สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของทารก ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า เป็นการฆ่ามนุษย์หรือไม่ เนื่องจากเป็นการดึงตัวอ่อนมนุษย์ที่เกิดจากการปฏิสนธิของไข่กับอสุจิที่มีอายุ 5-7 วันออกมาไว้ในจานแก้วเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากนั้นจึงดูดเซลล์จากตัวอ่อนออกมาเพาะเลี้ยงเป็น สเต็มเซลล์ต่อไป โดยวิธีการนี้จะทำให้ตัวอ่อนมนุษย์ต้องตายไป
ทั้งนี้ หากการซื้อขายเซลล์ไข่ดังกล่าวไม่กระเทือนต่อภาคบังคับเช่น มีการซื้อขายแล้วจะมีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือไม่ หากไม่ก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไร โดยในการพิจารณานั้นหากพบว่ามีข้อดีมากกว่าข้อเสียก็น่าจะยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม การที่จะพิจารณาว่าการซื้อเซลล์ไข่ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรมหรือไม่นั้น ต้องมีการพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
เพื่อหลีกเลี่ยงกรณีสละชีวิตเพื่อชีวิต จึงมีคำถามว่าที่แท้จริงแล้วชีวิตเกิดขึ้นเมื่อไร เกิดขึ้นทันทีหลังปฏิสนธิ หรือเกิดขึ้นหลังจากการปฏิสนธิแล้วกี่วัน ตัวอ่อนที่เกิดจากการโคลนนิ่งใช่ชีวิตหรือไม่ หากตัวอ่อนยังมิใช่ชีวิต เช่นนี้แล้ว การใช้คำศัพท์เรียกหาว่า ตัวอ่อน เป็นการถูกต้องหรือไม่อย่างไร
ในปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่ง สามารถให้บริการเก็บ สเต็มเซลล์ ให้กับผู้คลอดได้ ซึ่งก็คือเพื่อทารกเกิดใหม่ในอนาคตนั่นเอง โดยการเก็บเลือดจากสายสะดือประมาณ 120 ซีซีทางฝั่งมารดา วิธีนี้มีข้อจำกัดที่ต้องผ่าตัดคลอดเท่านั้น ส่วนธนาคารที่เก็บ สเต็มเซลล์ คงใช้ของต่างประเทศในช่วงแรกเพราะได้รับการรับรองแล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายตกอยู่ประมาณ 4-5 หมื่นบาท อย่างไรก็ตามหากธนาคาร สเต็มเซลล์ ภายในประเทศพัฒนาขึ้น ได้รับการรับรอง ก็คงเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ
ที่มา : นายแพทย์ตรอง มณีวัฒนา สูตินรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกอุดร / การรักษาด้วย สเต็มเซลล์ (Stem Cell)
ขอบคุณข้อมูลจาก ศูนย์สุขภาพกรุงเทพ และ โรงพยาบาลเอกอุดร
ภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต