6 ต้นไม้ที่คนญี่ปุ่นนิยมปลูกเพื่อฟอกอากาศในอาคารบ้านเรือน
ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคตึกเป็นพิษ (Sick Building Syndrome) จำนวนไม่น้อย โดยโรคตึกเป็นพิษเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับมลภาวะภายในอาคารซึ่งมีสาเหตุมาจากสารพิษบางอย่างที่ผสมอยู่ในวัสดุก่อสร้างอาคาร สีที่ใช้ภายในอาคาร และน้ำยาทำความสะอาด เป็นต้น ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ และหายใจไม่สะดวก โดยอาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยออกจากตัวอาคาร วิธีหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาโรคตึกเป็นพิษได้คือ การปลูกต้นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศไว้ในอาคาร มารู้จักต้นไม้ที่คนญี่ปุ่นนิยมปลูกเพื่อใช้ฟอกอากาศในอาคารบ้านเรือนกันนะคะ
ต้นลิ้นมังกร หรือชื่อภาษาญี่ปุ่น Sansuberia (サンスベリア )
ต้นลิ้นมังกร (Sansevieria หรือ Snake plant) เป็นต้นไม้ที่องค์กรนาซา (NASA) รายงานว่ามีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ได้ดีมาก โดยสามารถดูดสารพิษและย่อยสลายสารอันตรายที่ทำให้เกิดโรคตึกเป็นพิษ เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ แอมโมเนีย และคลอโรฟอร์มได้ดี
นอกจากนี้ พืชชนิดนี้ยังปล่อยไอออนลบและน้ำออกมาในบรรยากาศ ไอออนลบจะสร้างปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่ช่วยเพิ่มระดับของสารเซโรโทนินในร่างกาย ส่งผลในการช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าและผ่อนคลายความเครียดได้
ต้นลิ้นมังกร เป็นพืชที่ทนต่อความร้อนและความแห้งแล้งได้ดี จึงเป็นพืชที่ปลูกและดูแลง่ายภายในอาคาร
ต้นเดหลี หรือชื่อภาษาญี่ปุ่น Supatifiramu (スパティフィラム)
ต้นเดหลี (Spathiphyllum) เป็นไม้ประดับที่มีใบสีเขียวเข้มมันเป็นเงา ออกดอกสีขาวลักษณะคล้ายดอกหน้าวัว ต้นไม้ชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการขจัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี จึงเป็นต้นไม้ที่เหมาะสมเพื่อช่วยทำให้บรรยากาศในบ้านสดชื่น
อย่างไรก็ตาม บางครั้งหากวางไว้ในที่ไม่โดนแสงจะทำให้ต้นไม้ไม่บานดอก จึงควรวางต้นไม้ชนิดนี้ไว้ในที่โดนแสง และควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากขาดน้ำต้นไม้ชนิดนี้จะเหี่ยวได้ง่าย
ต้นวาสนา หรือชื่อภาษาญี่ปุ่น Massangeana (マッサンゲアナ)
ต้นวาสนา (Massangeana) เป็นต้นไม้ที่มีลำต้นตั้งตรงสีน้ำตาลอ่อน ใบเรียวยาวปลายแหลม พื้นใบสีเขียวมีลายสีเหลืองพาดกลางไปตามความยาวของใบ พืชชนิดนี้มีความสามารถในการดูดสารพิษภายในอาคาร เช่น ไซลีน โทลูอีน แอมโมเนียและฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคตึกเป็นพิษได้ดี
ต้นวาสนาเป็นต้นไม้ที่เลี้ยงง่าย แต่ต้องรดน้ำและพรวนดินบ่อย รวมถึงต้องใช้ผ้าเช็ดใบเป็นครั้งคราวเพื่อป้องกันเพลี้ยที่อาจจะมากัดกินและทำลายใบ
ปาล์มหมาก หรือชื่อภาษาญี่ปุ่น Arekayashi (アレカヤシ)
ปาล์มหมาก (Areca Palm) เป็นพืชที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดสารพิษ ได้แก่ ไซลีน โทลูอีน คาร์บอนมอนอกไซด์ และเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นออกซิเจน ซึ่งเป็นพืชเหมาะสำหรับปลูกในห้องนั่งเล่น ห้องโถง และห้องนอน เพราะนอกจากจะช่วยดูดสารพิษแล้วก็ยังให้บรรยากาศผ่อนคลายจากความเขียวขจีของต้นไม้
การดูแลนั้นควรหมั่นเช็ดใบให้สะอาดและนำออกรับแดดกลางแจ้งทุก 3-4 เดือน
ว่านหางจระเข้ หรือชื่อภาษาญี่ปุ่น Aroebera (アロエベラ)
ว่านหางจระเข้ (Aloe vera) เป็นพืชที่ปลูกง่ายและมีความทนทานแม้ไม่รดน้ำ พืชชนิดนี้มีความสามารถในการดูดสารพิษได้แก่ ฟอมัลดีไฮด์และเบนซีนได้เป็นอย่างดี
ต้นหูเสือ หรือชื่อญี่ปุ่น Aromatikasu (アロマティカス)
ต้นหูเสือ (Aromaticus) เป็นพืชที่จัดอยู่ในพืชพวกไม้อวบน้ำและไม้ใบที่มีขนขนาดเล็กปกคลุมอยู่บนผิวใบ เมื่อนำใบมาขยี้จะมีกลิ่นหอมสดชื่น นอกจากจะใช้ปลูกเป็นไม้ประดับที่ปลูกง่ายช่วยฟอกอากาศได้แล้ว คนญี่ปุ่นยังนำใบไม้ชนิดนี้มาใช้เติมแต่งกลิ่นหอมให้แก่ขนมหวานและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
ช่วงนี้ฝุ่นละออง PM 2.5 กลับมาเป็นปัญหาในเมืองไทยอีกครั้ง ลองหาพืชดังกล่าวมาปลูกไว้บ้างนะคะ นอกจากจะช่วยฟอกอากาศแล้วก็ยังทำให้รู้สึกสดชื่นจากสีเขียวขจีของต้นไม้ด้วย
- 5 ต้นไม้ฟอกอากาศ นาซาแนะนำปลูกในบ้าน
- 9 ต้นไม้ฟอกอากาศ ปลูกง่ายในบ้าน
- ความหมายด้าน “ฮวงจุ้ย” ของ “7 ไม้ฟอกอากาศ” ที่ทำให้บ้านมีแต่พลังงานดี
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ