ห้องเสื่อทาทามิ และการผสมผสานกับบ้านญี่ปุ่นสมัยใหม่
ถ้านึกภาพห้องสไตล์ญี่ปุ่น ก็มักจะนึกถึง “ทาทามิ”「畳」หรือเสื่อญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่มักจะใช้เป็นวัสดุในการปูพื้นในห้องญี่ปุ่นมาแต่โบราณ เราสามารถพบเห็นห้องเสื่อทาทามิได้ทั้งในบ้าน เรียวกัง (โรงแรมแบบญี่ปุ่น) หรือแม้แต่ในร้านค้าและร้านอาหาร
แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาหลายปี เรายังสามารถพบเห็นห้องเสื่อทาทามิได้ในปัจจุบัน แม้ในบ้านสมัยใหม่ของคนญี่ปุ่นก็อาจจะมีห้องที่ปูด้วยเสื่อทาทามิอยู่บ้างเช่นกัน เพราะนอกจากแสดงถึงดีไซน์ที่ให้กลิ่นอายและสะท้อนความเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นแต่ดั้งเดิมแล้ว ฟังก์ชันการใช้งานของห้องสไตล์นี้ก็ยังสามารถนำมาปรับใช้กับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นในปัจจุบันได้อีกด้วย
ความเป็นมาของ “ทาทามิ”
คำว่า “ทาทามิ” มาจากคำกริยา “ทาทามุ” 「畳む」ซึ่งแปลว่า “พับ” สื่อถึงกริยาการพับเสื่อเก็บเวลาไม่ได้ใช้งานนั่นเอง เดิมทีเสื่อทาทามิจะทอมาจากฟางข้าว แต่ในช่วงหลังๆ มานี้จะเห็นเสื่อทาทามิซึ่งทำจากต้นหญ้าอิกุสะ (ต้นกก) เสียส่วนมาก โดยเสื่อ 1 ผืนจะมีขนาดมาตรฐานกว้าง 910 มิลลิเมตร ยาว 1820 มิลลิเมตร ซึ่งห้องญี่ปุ่นที่ปูด้วยเสื่อทาทามิเราจะเรียกว่า “วะชิทสึ” 「和室」โดยในสมัยมุโรมะจิ (ค.ศ 1336 – 1573) ห้องแบบญี่ปุ่นที่ปูเสื่อทาทามินี้มักใช้เป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับตระกูลหรือครอบครอบที่มีฐานะ จนต่อมามีการใช้กันแพร่หลายในหมู่คนทั่วไปมากขึ้น
ในปัจจุบัน สำหรับบ้านสมัยใหม่มักใช้ห้องเสื่อทาทามิในหลายๆ วัตถุประสงค์ เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือห้องเอนกประสงค์สำหรับให้สมาชิกในครอบมารวมตัวพบปะกัน และด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายของห้องแบบนี้ ทำให้สามารถตกแต่งและเข้ากับเฟอร์นิเจอร์ตามยุคสมัยได้ง่ายอีกด้วย
งั้นเรามาทำความรู้จักส่วนประกอบและการตกแต่งที่มักพบได้ในห้องเสื่อทาทามิกัน
เสื่อทาทามิ
เสื่อทาทามิเป็นวัสดุที่ขาดไม่ได้ในการปูพื้นห้องสไตล์ญี่ปุ่น เราอาจเคยได้ยินว่าห้องลักษณะนี้จะบอกขนาดห้องกันด้วยจำนวนเสื่อ เช่น ห้องหกเสื่อ ห้องแปดเสื่อ เป็นต้น
แม้ว่าในปัจจุบันการออกแบบบ้าน การตกแต่ง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีรูปลักษณ์และดีไซน์ทันสมัยและตามแบบตะวันตกมากขึ้น แต่ภายในห้องเสื่อทาทามินี้ คนญี่ปุ่นก็มักจะใช้เฟอร์นิเจอร์สไตล์ญี่ปุ่น เช่น หมอนรองนั่ง (“ซะบุตง” 座布団) โต๊ะเตี้ย (“จะบุได” ちゃぶ台) เก้าอี้เตี้ยที่มีพนัก (“ซะอิสึ” 座椅子) โต๊ะโคะทะทสึหรือโต๊ะเตี้ยที่คลุมด้วยผ้าและใต้โต๊ะจะมีฮีทเตอร์ติดไว้เพื่อให้ความอบอุ่น (炬燵) หรือเบาะที่นอนปูพื้น (“ฟุตง” 布団) เป็นต้น
ซึ่งเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักไม่มาก สามารถเคลื่อนย้ายหรือพับเก็บเมื่อไม่ได้ใช้งานได้ง่าย ทำให้เหมาะกับการใช้งานในห้องแบบญี่ปุ่นที่สามารถใช้ได้ในหลายๆ วัตถุประสงค์
ประตูบานเลื่อน
ประตูบานเลื่อนในห้องแบบญี่ปุ่นนี้เรียกว่า “ฟุซุมะ”「襖」มีลักษณะบานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่บนรางเลื่อนกั้นระหว่างห้อง ซึ่งบานประตูนี้สามารถเลื่อนเปิดหรือถอดออกได้เมื่อต้องการเชื่อมสองห้องเข้าด้วยกันหากต้องการใช้พื้นที่ที่กว้างขึ้น
ฉากกั้นโปร่งแสง
ฉากกั้นที่เรียกว่า “โชจิ”「障子」มักถูกใช้ทำเป็นบานประตูหน้าต่าง มีลักษณะเป็นซี่ไม้ลายตารางและติดด้วยกระดาษแผ่นใหญ่หนึ่งแผ่นไว้ ซึ่งข้อดีของการใช้โชจินั้น นอกจากจะสามารถใช้กั้นพื้นที่เพื่อให้ความเป็นส่วนตัวกับผู้พักอาศัย ยังสามารถรับแสงธรรมชาติมาทำให้ห้องดูสว่างขึ้น ในขณะเดียวกันกระดาษที่กรุไว้ก็สามารถกันลมหนาวไม่ให้เข้ามาในห้องได้อีกด้วย
ตู้เสื้อผ้าหรือตู้เก็บของ
ตู้ build-in ที่ใช้สำหรับเก็บของในห้องญี่ปุ่นนี้เรียกว่า “โอชิอิเระ”「押入れ」เป็นตู้สารพัดประโยชน์ที่ใช้เก็บทั้งเสื้อผ้า อุปกรณ์ หรือมักใช้เก็บชุดเครื่องนอนอย่าง ฟุตง หมอน ผ้าห่ม ช่วยให้บ้านที่มีพื้นที่จำกัดสามารถแปลงห้องนอนเป็นห้องเอนกประสงค์ที่ใช้งานด้านอื่นๆ ได้อีกในช่วงกลางวัน
แม้ว่าห้องเสื่อทาทามิสไตล์ญี่ปุ่นจะมีต้นกำเนิดมาหลายร้อยปีแล้ว แต่ด้วยฟังก์ชันการใช้งานที่เข้ากับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ทำให้ห้องลักษณะนี้ยังคงเป็นที่นิยมต่อเนื่องมาเรื่อยๆ แม้ว่าบางครั้งการตกแต่งภายในห้องจะถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น แต่คาดว่าห้องเสื่อทาทามิก็คงจะยังอยู่คู่กับคนญี่ปุ่นไปอีกนาน
สรุปเนื้อหาจาก: savvytoyko
ผู้เขียน: MIZUNOHANA