รู้ทันกลมิจฉาชีพก่อนประกาศขายบ้านออนไลน์

รู้ทันกลมิจฉาชีพก่อนประกาศขายบ้านออนไลน์

รู้ทันกลมิจฉาชีพก่อนประกาศขายบ้านออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคสังคม 4.0 นี้ มีคนจำนวนมากที่ใช้สื่อออนไลน์เพื่อประกาศขายบ้าน เพราะเห็นว่าไม่ยุ่งยาก ทำได้ง่าย แถมสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงกลุ่มผู้สนใจซื้อได้มากกว่าการไปสั่งทำป้ายประกาศติดไว้ตามบ้านที่จะขาย และถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดจะขายบ้านโดยการประกาศขายบ้านออนไลน์ ขอเตือนว่าอย่าพึ่งมองข้ามความเสี่ยงที่แฝงตัวอยู่อย่างเงียบ ๆ จากสื่อออนไลน์ เพราะความสะดวกสบายนั้นอาจกลายเป็นภัยร้ายขึ้นมาแทนก็ได้

การเตรียมพร้อมก่อนลงประกาศขายบ้านข้อมูลสำหรับประกาศขายบ้าน

การเผยแพร่ข้อมูลเข้าสู่โลกออนไลน์นั้น ไม่ใช่ว่าจะเปิดเผยอะไรก็ได้ เช่นเดียวกับการลงประกาศขายบ้านฟรีตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่คุณต้องตรวจสอบข้อมูล และเตรียมความพร้อมสำหรับรายละเอียดที่กำลังจะเผยแพร่

โดยข้อมูลที่สามารถเผยแพร่ได้ ก็คือข้อมูลพื้นฐานของบ้านเท่านั้น เช่น พื้นที่ของบ้าน ลักษณะของบ้าน จำนวนห้องทั้งหมด เฟอร์นิเจอร์ การตกแต่ง โครงการของบ้าน การรักษาความปลอดภัย สภาพแวดล้อม ที่ตั้ง ราคาขาย และข้อมูลการติดต่อ แต่ห้ามเผยแพร่ข้อมูลจำพวกเอกสารสำคัญและเอกสารทางราชการโดยเด็ดขาด เช่น สัญญาและโฉนดที่ดิน เพราะอาจมีใครนำไปใช้โดยสวมรอยเป็นคุณก็ได้

ที่สำคัญคือ รูปภาพที่คุณถ่ายเพื่อประกาศขายบ้านนั้นต้องมีลายน้ำและควรมีข้อมูลการติดต่อให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันการนำรูปภาพของคุณไปใช้เพื่อหาผลประโยชน์ เช่น การนำรูปภาพที่ไม่มีลายน้ำของคุณไปลงประกาศเพื่อหลอกขายให้กับเหยื่อรายอื่น

นอกจากนี้ เพื่อความปลอดภัยและความง่ายในการจัดการ คุณอาจเปิดอีเมลและซิมเบอร์โทรศัพท์ใหม่สักเบอร์สำหรับการขายบ้านโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยทำให้ทราบได้อย่างชัดเจนว่าผู้ที่ติดต่อมาด้วยเรื่องการขายบ้าน หากมีปัญหาอะไร เช่น ข้อมูลถูกแฮ็กหรือคุณถูกตามรังควาน ก็เพียงเปลี่ยนอีเมล์และเบอร์โทรศัพท์ได้ใหม่โดยไม่กระทบต่อชีวิตส่วนตัวและงานอื่น

การเลือกเว็บไซต์ประกาศขายบ้าน

ปัจจุบันนี้มีเว็บไซต์มากมายให้เลือกลงประกาศขายบ้าน แต่ขอให้เลือกเฉพาะเว็บไซต์ที่รู้สึกมั่นใจได้ว่าปลอดภัย โดยพื้นฐานแล้ว URL ของเว็บที่มีระบบรักษาความปลอดภัยมักขึ้นต้นด้วย “https://” (เว็บทั่วไปที่ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยมักไม่มี s) และต้องมีระบบลงทะเบียนและล็อกอิน ที่ต้องมีขั้นตอนการยืนยันตัวตนที่รัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน คุณจึงควรอ่านขั้นตอนการลงทะเบียนและการใช้งานเว็บไซต์ก่อนว่ามีการรักษาความปลอดภัยดีหรือไม่ อย่างไร

ก่อนตัดสินใจลงทะเบียนเพื่อประกาศขายบ้านในเว็บไซต์ใด (ซึ่งต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวและมีความเสี่ยงที่ข้อมูลนั้นจะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม) ให้ลองอ่านนโยบายความเป็นส่วนตัวที่ต้องประกาศอย่างชัดเจนว่า จะนำข้อมูลของคุณไปใช้ทำอะไร จะไม่นำข้อมูลของคุณไปให้แก่บุคคลอื่นใดโดยเด็ดขาด และจะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลของคุณได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคุณเท่านั้น

นอกจากนี้ ควรลองศึกษาจากประกาศมีอยู่ในเว็บไซต์นั้นว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่ เช่น หากเจอลิงก์ไปยังหน้าเว็บไซต์แปลก ๆ ให้คุณโบกมือลาทันที เพราะเสี่ยงต่อการถูกดึงข้อมูลของคุณในระบบหลังบ้านจากเหล่าแฮกเกอร์ เช่น อีเมล เบอร์โทรศัพท์ ไปจนถึงข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในทางอื่นได้ เช่น นำไปขายต่อให้กับบริษัทอื่นหรือมิจฉาชีพ เป็นต้น

อย่ามองข้ามความเสี่ยงที่มาพร้อมความง่าย

การนำข้อมูลไปลงเว็บประกาศขายบ้านเป็นเปิดเผยข้อมูลในที่สาธารณะ ซึ่งปัญหาที่มักตามมาก็คือ การหาผลประโยชน์ของมิจฉาชีพที่มักจะมีกลลวงแตกต่างกันออกไป เช่น การขอดูรูปภาพเพิ่มเติม และคนส่วนมากก็พลาดท่ามาหลายรายแล้ว เพราะความ “รีบ” จนเกินไป ชนิดที่ว่าถ่ายรูปแล้วส่งให้ลูกค้าทันที โดยลืมใส่ลายน้ำ ซึ่งคุณไม่รู้เลยว่าเหล่ามิจฉาชีพสามารถนำไปใช้ต่อได้ เช่น การนำไปประกาศขายบ้านในเว็บไซต์อื่น ๆ หรือแม้กระทั่งการนำไปหลอกลวงในกลุ่มลับเพื่อหาผลประโยชน์ เช่น กลุ่มแชร์เงินกู้

ดังนั้น หากมีลูกค้าขอดูเอกสารหรือรูปภาพเพิ่มเติม ก็อย่ารีบร้อนจนเกินไป คุณอาจจะใช้วิธีการถ่ายรูปและคาดลายน้ำเอาไว้ก่อนส่งให้ลูกค้าดู เพื่อป้องกันความเสี่ยงหากลูกค้าคนนั้นเป็นมิจฉาชีพที่แฝงตัวมา

นอกจากนี้ อย่าลืมว่าลิขสิทธิ์ของรูปภาพก็สำคัญ หากคุณประกาศขายบ้านที่เป็นโครงการ และใช้รูปของโครงการเพื่อประกาศขาย อย่าลืมระบุและชี้แจงรายละเอียดให้ครบถ้วน ให้ทราบว่านี่ไม่ใช่รูปบ้านของคุณ แต่เป็นภาพตัวอย่างเท่านั้น

ที่สำคัญ อย่าไปนำรูปภาพของคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตโดยเด็ดขาด ถึงแม้คุณอาจจะแค่ยืมมาประกอบการบรรยาย แต่ความจริงแล้วคุณกำลังละเมิดลิขสิทธิ์อยู่และอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้

วิธีรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ให้พึงระลึกเสมอว่า ไม่ว่าจะได้รับข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานใดจากใครก็ตาม ไม่ว่าจากการแชท การส่งข้อความหรืออีเมลมาจากประกาศขายบ้านออนไลน์ ขอให้ตรวจสอบกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเงิน ที่คุณอาจได้รับเช็กปลอมหรือหลักฐานการโอนเงินปลอมก็ได้

วิธีการรับมือก็คือ หากเป็นเช็ก ให้ระบุตั้งแต่ต้นกับลูกค้าว่ารับเฉพาะเช็กเงินสดเท่านั้น หากเป็นสลิปการโอนเงิน ก็ควรตรวจดูในเบื้องต้นว่าหน้าตาสลิปและข้อมูลบนสลิปเหมือนกับของธนาคารหรือไม่ และเมื่อได้รับเช็กหรือสลิปแล้ว ก็ควรติดต่อที่ธนาคารเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรายการดังกล่าวด้วย

ที่สำคัญ ควรบันทึกข้อตกลงต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น และเมื่อพบปัญหาจากมิจฉาชีพ ให้ขอความช่วยเหลือจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานที่ดิน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และแจ้งความที่สถานีตำรวจด้วยเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตัวคุณเอง เพราะมีบางกรณีที่เหล่ามิจฉาชีพไปแจ้งความเท็จเพื่อข่มขู่เหยื่อเช่นเดียวกัน

ท้ายที่สุดแล้ว การประกาศขายบ้านทางสื่อออนไลน์จะมีปัญหาหรือไม่นั้น คุณคือผู้กำหนด ถึงแม้จะมีความเสี่ยงที่ต้องเจอกับมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบต่าง ๆ แต่ถ้าหากคุณมีสติและไม่รีบร้อนตัดสินใจ ก็จะสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนนำไปเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะ เพราะนั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ปัญหาได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook