ห้ามขายเหล้าให้ผู้อายุต่ำกว่า 25 คนเมาโดนด้วย
:: คุณรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทย บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อปี 2000 มีอัตราสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลกเลยทีเดียว* และปี 2004 ไทยติดอันดับการบริโภคสุรา เป็นอันดับ 6 ของโลก**
สธ.ดัน กม.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้า ครม. เนื้อหาสุดเฮี้ยบ คุมเข้มโฆษณาทุกรูปแบบ ห้ามลดแลกแจกแถม ขายให้คนเมาด้วย สื่อผ่านเอสเอ็มเอส-สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตั้งกองทุนคุม-หักภาษีเพิ่ม 2%
นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกประชุมชี้แจงการออกระเบียบห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกรูปแบบ ทุกสถานที่ 24 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ สธ.โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ตัวแทนคณะกรรมการมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ (คบอช.) ผู้แทนส่วนราชการ มหาวิทยาลัย องค์กรทางศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคเอกชน ผู้ประกอบการ สื่อมวลชน ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการธุรกิจโฆษณา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บริษัท สุราบางยี่ขัน บริษัท ซานมิเกล เบียร์ จำกัด บริษัท บาร์คาดี้ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทรีเจนซี่ บรั่นดีไทย บริษัทโรงงานสุราพิเศษสุวรรณภูมิ จำกัด บริษัทตะวันแดง จำกัด ส่วนตัวแทนผู้จำหน่าย เช่น เซเว่น-อีเลฟเว่น ห้างบิ๊กซี เดอะมอล์ กรุ๊ป ส่วนบริษัทโฆษณา เช่น บริษัท ส.ธนา มีเดีย จำกัด บริษัทโอกิลวี่ จำกัด
บุญรอดเรียกร้องคุมโฆษณาเท่าเทียม
นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทบุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าค่ายเบียร์สิงห์ กล่าวว่า การออกมาตรการควบคุมการโฆษณาต้องไม่เลือกปฏิบัติ และต้องมีมาตรการอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งมีข้อสังเกต 2 เรื่อง คือ
1.ไม่ควรยกเว้นการถ่ายทอดสดกีฬาจากต่างประเทศ หากจะห้ามโฆษณาก็ต้องห้ามทั้งหมด ไม่เช่นนั้นผู้ชมก็จะรับทราบสินค้ายี่ห้อของต่างชาติ และสินค้าจากต่างชาติก็จะเข้ามาขายได้
และ 2.ต้องเพิ่มภาษีสุราขาวควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากเสียภาษีต่ำสุด และมีมูลค่าทางการตลาดสูงมาก ไม่อยู่ภายใต้การควบคุม
หากตัดการโฆษณาซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดออกไป ผู้ประกอบการจะไม่มีแรงจูงใจในการขายสินค้าราคาที่สูงกว่า ก็จะเหลือเพียงการแข่งขันด้านราคาเท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่จะเร่งผลิตสินค้าที่มีราคาถูกออกสู่ตลาด และกลายเป็นสงครามราคาต่อไป
จี้คุมเหล้าขาวด้วยชี้ยอดกระฉูด
นายบุญช่วย ทองเจริญพูลพร เลขาธิการสมาพันธ์ควบคุมแอลกอฮอล์ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องบังคับอย่างเข้มงวดกับทุกสื่อไม่ควรยกเว้นให้กับการถ่ายทอดสดกีฬาจากต่างประเทศ และต้องควบคุมไปถึงสุราขาวด้วย เพราะยอดจำหน่ายสุราขาวเพิ่มขึ้นถึง 8% ซึ่งไม่แน่ใจว่าเกิดจากแคมเปญ "จน เครียด กินเหล้า" ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือไม่
นอกจากนี้จะต้องใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเที่ยงธรรม พร้อมทั้งให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมในการควบคุมด้วย ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายสุราขาวช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 มีปริมาณ 253 ล้านลิตร
รมว.สธ.แฉละเมิดกฎห้ามโฆษณาอื้อ
นพ.มงคลกล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำมาปรับปรุงประกาศ อย.รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการแก้ปัญหาผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างจริงจัง หลังจากที่ ครม.มีมติจำกัดการโฆษณาประชา สัมพันธ์และส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2546
โดยห้ามการโฆษณาทุกรูปแบบ ห้ามเผยแพร่สปอตโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด หรือสปอตโฆษณาของบริษัทผู้ผลิต รวมทั้งการแสดงเครื่องหมายการค้า ชื่อผลิตภัณฑ์ ชื่อบริษัทผู้ผลิต ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว หรือเป็นสปอนเซอร์ และห้ามแพร่ภาพโฆษณาในรายการถ่ายทอดแข่งขันกีฬาภายในประเทศ ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ ในช่วงเวลา 05.00-22.00 น.
"จากข้อมูลจากการเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2548-30 เมษายน 2549 พบว่ายังมีการละเมิดกติกามาโดยตลอด โดยมีการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและแอบแฝงทางโทรทัศน์ทุกช่องในช่วงเวลา 16.00-22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาห้ามโฆษณา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 105 ครั้งในเดือนสิงหาคม 2548 เป็น 237 ครั้งในเดือนเมษายน 2549 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 126 ภายในเวลาเพียง 9 เดือน โฆษณามากที่สุดในรายการข่าว ส่วนการโฆษณาแฝงมักอยู่ในรูปของกราฟิก ฉากหลังสัญลักษณ์ต่างๆ ส่วนการโฆษณาตรงจะอยู่การถ่ายทอดสดกีฬา แทรกในสารคดี และสกู๊ปข่าวภาคค่ำ" นพ.มงคลกล่าว
ดันกม.คุมฉบับใหม่เข้าครม.สัปดาห์นี้
นพ.มงคลกล่าวว่า ในช่วงบ่ายจะเป็นประธาน การประชุมคณะกรรมการอาหาร หลังจากนั้นจะลงนามในประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นการออกคำสั่งกำหนดให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสินค้าอันตรายต่อสุขภาพต้องควบคุมฉลาก และให้ออกคำสั่งห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอด 24 ชั่วโมง
ประกาศนี้จะมีผลเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 45 วัน ยังไม่อยากกำหนดว่าจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันใด เพราะต้องรอดูวันที่ลงประกาศในราชกิจจาฯก่อน
ทั้งนี้ ขั้นต่อไปที่ สธ.จะดำเนินการคือวันที่ 17 ตุลาคมนี้ จะเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือร่าง พ.ร.บ.การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย มีทั้งหมด 63 มาตรา 8 หมวด ที่ผ่านการประชาพิจารณ์ใน 4 ภาค 7 ครั้ง ได้แก้ไขปรับปรุงสาระรายละเอียดตามคำแนะนำอีก 2 ครั้ง
มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องพิมพ์ฉลากข้อความคำเตือน การกำหนดเขตปลอดเหล้า 100% อาทิ วัดหรือศาสนสถาน สถานที่ราชการ สถานศึกษา ที่สาธารณะหรือทางสาธารณะ เป็นต้น กำหนดวันเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามขายให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ จากเดิมห้ามขายอายุต่ำกว่า 18 ปี
ห้าม ลด-แถม-ขายคนเมา ด้วย
นอกจากนี้ยังห้ามขายให้คนที่มีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ห้ามขายเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ เร่ขาย ขายแบบลดแลกแจกแถม รวมทั้งการห้ามโฆษณาในสื่อทุกประเภท ยกเว้นถ่ายทอดสดรายการสดจากต่างประเทศ ห้ามโฆษณาสินค้าอื่นที่ใช้เครื่องหมายเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา เช่น หากกระทำผิดการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน จนกว่าจะกระทำถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น
ขณะที่ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมีการนำเงินจาก สสส.มารณรงค์ ป้องกัน เรื่องบุหรี่ประมาณ 100 ล้านบาท ในขณะที่เรื่องสุราน้อยมาก รวมแล้ว 2 เรื่องไม่เกิน 200 ล้านบาท ดังนั้น จากการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการ สธ. มีแนวคิดว่าจะนำเงินจากภาษีสุราและเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ประมาณ 2% หรือคิดเป็นเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท มารณรงค์ และป้องกัน บังคับใช้กฎหมาย เรื่องเหล้าและแอลกอฮอล์
โดยจะมีการตั้งหน่วยงานภายใต้ สธ.ขึ้นมาทำหน้าที่ตรงนี้โดยเฉพาะ ทั้งนี้จะมีการบรรจุรายละเอียดเรื่องการนำภาษีสุรา 2% ไว้ในร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะมีการนำเสนอในลำดับถัดไปด้วย
ทั้งนี้ ก่อนการประชุมชี้แจงจะเริ่มต้นขึ้น ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายองค์กรงดเหล้า 84 องค์กรประมาณ 100 คน เดินทางไปยัง สธ.เมื่อเวลา 09.30 น. เพื่อให้กำลังใจและยื่นจดหมายเปิดผนึกสนับสนุนนโยบายนี้
คลอดเกณฑ์ควบคุมฉบับใหม่แล้ว
ต่อมาในช่วงบ่ายมีการประชุมคณะกรรมการอาหาร เพื่อพิจารณาร่างประกาศให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าควบคุมฉลากและคำสั่งห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จากนั้น นพ.เรวัต วิศรุตเวช รองปลัด สธ.ประธานคณะกรรมการอาหาร ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมว่า หลังจากประกาศให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าควบคุมฉลาก และจะห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ด้วยสื่อโฆษณาทุกชนิด หรือวิธีการอื่นใด ยกเว้นกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ
1.การโฆษณาในสิ่งพิมพ์ซึ่งจัดพิมพ์นอกราชอาณาจักร โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ให้นำเข้ามาจำหน่าย จ่าย แจก ในราชอาณาจักรโดยเฉพาะ
2.การถ่ายทอดสดเหตุการณ์สดจากต่างประเทศทางวิทยุโทรทัศน์ที่มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะออกอากาศในราชอาณาจักรไทยโดยเฉพาะ ทั้งนี้ไม่รวมการโฆษณาที่แทรกหรือคั่นระหว่างการถ่ายทอดสด
"ข้อ 2 นั้น จะไม่รวมถึงการโฆษณาที่แทรกระหว่างรายการถ่ายทอดสด และการเล่นซ้ำภาพในช่วงที่มีการวิเคราะห์ เช่น การถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอลจากต่างประเทศในช่วงที่ถ่ายทอดสดแล้วมีโลโก้สินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ในช่วงที่พักครึ่งแล้วมีการวิเคราะห์ผลการเล่นที่ผ่านมาจะให้ปรากฏโลโก้ไม่ได้ ต้องทำเบลอไม่ให้มองเห็น" นพ.เรวัตกล่าว และว่า การถ่ายทอดสดนั้นต้องเป็นการถ่ายทอดสดจริงๆ ไม่ใช่การเอาเหตุการณ์เมื่อ 10 นาที ที่แล้วมาออกอากาศแล้วบอกว่าถ่ายทอดสด
สื่ออิเล็กทรอนิกส์-เอสเอ็มเอสก็ห้าม
นพ.เรวัตกล่าวว่า สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์นั้น จะต้องไม่เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะนำมาขาย แจกจ่าย ในประเทศไทยโดยเฉพาะ หากเป็นแมกกาซีนจากต่างประเทศถือว่าไม่ผิดตามคำสั่งนี้ ซึ่งในส่วนของสื่อโฆษณานั้นจะครอบคลุมไปถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เอสเอ็มเอส หรือการโฆษณาในร้านขายสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน ซึ่งหลังจากคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้คณะกรรมการอาหารจะให้คณะทำงานติดตามการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ และตรวจสอบพร้อมทั้งชี้ขาดว่าการกระทำใดมีเจตนาจะโฆษณาหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นของผู้ประกอบการอยากให้ห้ามโฆษณาทั้งหมดรวมทั้งรายการกีฬาที่ถ่ายทอดสดเพื่อมิให้เกิด 2 มาตรฐาน นพ.เรวัตกล่าวว่า ถ้าบริษัทใดต้องการจะโฆษณาในต่างประเทศก็ต้องยกเว้นเหมือนกัน ตรงนี้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ถ้าใช้หลักการนี้จะเสมอภาค จริงๆ คณะกรรมการอาหารอยากห้ามโฆษณา 100% แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องส่งเสริมการกีฬา ในทางเทคนิคการจะทำภาพเบลอระหว่างถ่ายทอดสดคงทำไม่ได้
นายมานิตย์ อรุณากูร รักษาการเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ร่างประกาศนี้จะลงนามโดยเลขาธิการ อย. คาดว่าจะลงนามได้ไม่เกินวันที่ 18 ตุลาคม
ตั้งกองทุนคุม-หักภาษี 2%ช่วยรณรงค์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ... ที่จะนำเสนอ ครม.มีทั้งหมด 63 มาตรา 8 สาระสำคัญคือ จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายใต้กรมควบคุมโรค สธ. ทั้งนี้ หมวด 5 มาตรา 35 ระบุถึงกองทุนสนับสนุนการควบคุม ลด และเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้จ่ายในการสนับสนุนและรณรงค์การควบคุม ลด และเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
โดยในมาตรา 37 ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีสุรา โดยเงินและดอกผลที่กองทุนได้รับไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ส่วนการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กำหนด โดยรัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน และปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน
ไทยเบเวอเรจ เย้ยอีก10 ฉบับก็แก้ไม่ได้
นายสมชัย สุทธิกุลพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสบริษัท ไทยเบเวอเรจ มาร์เกตติ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือ แต่อยากให้มีมาตรการที่ชัดเจน ทั้งนี้ หากสถาบันครอบครัวไม่เข้มแข็งที่จะดูแลลูกหลานด้านความประพฤติ ต่อให้มีอีก 10 มาตรการ หรือกฎหมายอีก 100 ฉบับ ก็ไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไป เห็นว่าพ่อแม่ และครอบครัวสำคัญจะต้องเอาใจใส่ต่อลูกให้มากขึ้น
นายสมชัยกล่าวถึงมาตรการในการห้ามโฆษณาว่า อยากให้มีความชัดเจนว่าอันไหนทำได้หรือไม่ได้ "ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตเป็นเพราะกฎระเบียบไม่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่ 10 คนก็ดุลพินิจ 10 อย่าง เป็นห่วงเรื่องการปฏิบัติที่มี 2 มาตรฐาน"
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสบริษัทไทยเบเวอเรจฯ กล่าวด้วยว่า งบฯการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในตลาดขณะนี้ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท
* มาดูสถิติจากทั่วโลก เมื่อปี 2000 ประเทศไทยติดอันดับ บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอันดับที่ 5 ของโลก
** และผลสำรวจจากองค์การอนามัยโลก ปี 2004 ได้สรุป 20 ประเทศที่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงสุด ในแต่ละประเภท ได้แก่ เบียร์ / ไวน์ / สุรา ซึ่งประเทศไทย ติดอันดับ 6 ของโลกที่มีการดื่มสุรา มากที่สุด
( APC = การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยต่อคน (ลิตร) )