เทคนิคแม่บ้านญี่ปุ่น ตากผ้าในห้องอย่างไรให้ผ้าแห้งไว แม้ในวันฝนตก
ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านของฤดู มักจะมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ซึ่งฝนตกทีไร หลายคนก็มักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับการซักผ้า ไหนจะไม่มีแดด อากาศก็ชื้น ตากผ้ากลางแจ้งก็ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเอามาตากในห้อง แต่การตากผ้าในห้อง หากไม่ทราบเทคนิคการตากที่ถูกวิธี อาจจะทำให้ผ้าแห้งช้าไปอีก ก่อให้เกิดเป็นกลิ่นอับได้ เป็นแบบนี้อย่างนี้คงไม่ดีแน่ วันนี้จึงอยากมาแชร์เทคนิคของแม่บ้านญี่ปุ่น ตากผ้าในห้องอย่างไรให้ผ้าแห้งไว และไม่เหม็นอับค่ะ
ใส่ผ้าขนหนูแห้งก่อนเครื่องซักผ้าถ่ายน้ำทิ้ง
ก่อนเครื่องซักผ้าจะปล่อยน้ำทิ้ง ให้กดหยุดการทำงานชั่วคราว แล้วใส่ผ้าขนหนูแห้งลงไปปั่นด้วย ผ้าขนหนูจะช่วยซับน้ำ ทำให้แห้งไวขึ้น แต่ควรระวังฝุ่นจากผ้าขนหนูติดเสื้อผ้าด้วย ก่อนใช้ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าจะไม่มีฝุ่นติดไปนะคะ
ตากผ้ากลับด้าน
ตำแหน่งที่แห้งยากของเสื้อผ้าคือ ในส่วนที่เป็นตะเข็บ กระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกง หากกลับด้านเสื้อผ้าก่อนตาก จะทำให้ส่วนที่แห้งยากแห้งไวขึ้น แต่การที่ต้องคอยกลับด้านเสื้อผ้าก่อนตากทุกตัวอาจจะเสียเวลา มีอีกวิธีคือ กลับด้านเสื้อผ้าไว้ตั้งแต่ก่อนซัก กล่าวคือ กลับด้านทันทีเมื่อถอดหรือหลังใช้เสร็จ การซักผ้ากลับด้านจะช่วยให้ผ้าไม่เก่าง่ายด้วยนะคะ
ตากผ้าในแนวโค้ง
ในกรณีที่ตากโดยใช้ที่หนีบผ้า ควรจัดสรรตำแหน่งให้เป็นรูปโค้งดังภาพ โดยให้ผ้าที่ยาวอยู่ริม และให้ผ้าที่สั้นอยู่ตรงกลาง วิธีนี้จะทำให้อากาศถ่ายเทเข้าไปยังบริเวณตรงกลางได้มากขึ้น และกระจายอย่างทั่วถึง
ตากห่างจากกำแพง
ตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับการตากผ้าในห้องคือ กลางห้อง เพราะหากตากบริเวณกำแพงแล้วละก็จะทำให้อากาศถ่ายไม่ทั่วถึง นอกจากนี้บริเวณพื้นห้องจะมีความชื้นมาก จึงควรตากให้อยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างสูงจากพื้น จะช่วยให้อากาศถ่ายเทสะดวก ผ้าแห้งไวทันใจมากขึ้นค่ะ
เว้นระยะ 5 เซนติเมตรขึ้นไป
หากตากโดยใช้ไม้แขวนผ้า ควรเว้นระยะระหว่างผ้า 5 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะห่างที่พอเหมาะ เพราะหากตากชิดกันเกินไปจะทำให้อากาศถ่ายเทได้ยากขึ้น ผ้าแห้งช้า และอาจจะทำให้เกิดกลิ่นอับได้
ปูกระดาษหนังสือพิมพ์ใต้ราวตากผ้า
วิธีนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นทำกันและเวิร์คมากๆ เพียงแค่หากระดาษหนังสือพิมพ์มาวางที่ใต้ราวตากผ้า กระดาษหนังสือพิมพ์จะช่วยดูดความชื้น ทำให้ผ้าแห้งได้เร็วทันใจ อีก 1 เทคนิคคือ หากขยำหนังสือพิมพ์วางจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างพื้นห้องกับกระดาษ ทำให้กระดาษหนังสือพิมพ์ได้สัมผัสกับอากาศซึ่งจะช่วยให้ดูดซับความชื้นได้ไวขึ้นค่ะ