วิธีดูแลเสื้อผ้า รองเท้าเปียกฝน ทำอย่างไรห่างเชื้อรา ลดกลิ่นอับ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะช่วงนี้ฝนตกบ่อย เสื้อผ้าและรองเท้าที่เปียกชื้นจากฝนตก ต้องทำความสะอาดอย่างถูกวิธี ช่วยลดปัญหากลิ่นอับ ปัญหาเชื้อราและไม่เสี่ยงโรคผิวหนัง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย ช่วงนี้ ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่น จึงส่งผลให้หลายพื้นที่มีฝนตกตลอดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนที่ต้องออกไปข้างนอกประสบปัญหาเสื้อผ้ามีกลิ่นอับชื้น เนื่องจากเปียกฝนหรือสวมใส่เสื้อผ้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานานๆ หลายชั่วโมง หรือเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ก็ไม่ได้นำเสื้อผ้าที่เปียกไปแขวนให้แห้ง แต่นำไปใส่ตะกร้าเพื่อรอการซัก หากทิ้งไว้นานๆ อาจทำให้เกิดเชื้อราบนเสื้อผ้า หรือแม้ว่าจะซักตากทำความสะอาดเสื้อผ้าเป็นอย่างดีแล้ว แต่เนื่องจากฝนตกทำให้เสื้อผ้าที่ตากไว้ไม่แห้งหรือแห้งไม่สนิท เมื่อนำมาแขวนรวมๆ กัน ก็อาจทำให้เกิดกลิ่นอับชื้น หากนำมาสวมใส่อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังจากเชื้อราตามมา อาทิ โรคกลาก เกลื้อน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุยรอบ ๆ เกิดอาการคัน ทำให้เป็นผื่นแพ้ และติดเชื้อได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า เสื้อผ้าที่เปียกชื้นจากฝนควรรีบซักทันที หรือผึ่งให้แห้งก่อนใส่ตะกร้าเพื่อรอการซัก หากเสื้อผ้ามีกลิ่นอับชื้นหรือปัญหาเชื้อราบนผ้าให้ทำความสะอาดเพื่อทำลายเชื้อราได้ด้วย 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 ซักตามปกติแล้วนำไปต้มในน้ำเดือดนาน 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง
วิธีที่ 2 แช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่สามารถหาได้ในครัวเรือน ได้แก่ น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมโซเดียมไฮโปคลอไรด์ โดยเติม 1 ฝา ต่อน้ำ 10 ลิตร แช่ผ้าไว้นาน 5-15 นาที หรือใช้น้ำส้มสายชู 2-3 ถ้วยตวงต่อน้ำ 1-2 ลิตร แช่ผ้าไว้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง แล้วซักตามปกติ จากนั้นนำไปตากแดดจัดหรือตากในที่ที่มีอากาศถ่ายเท จนแห้ง แล้วนำมารีดทั้งข้างในและข้างนอกตัวเสื้อ
นอกจากนี้ ก่อนทำความสะอาดเสื้อผ้า ควรอ่านป้ายสัญลักษณ์การดูแลรักษาเสื้อผ้า เพื่อเลือกวิธีทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ดีที่สุดและป้องกันเสื้อผ้าชำรุด ส่วนผู้ที่มีอาการคันหลังสวมใส่เสื้อผ้าช่วงหน้าฝน ไม่ควรเกาหรือปล่อยไว้จนลุกลาม ควรรีบไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป
“สำหรับรองเท้าที่เปียกชื้นจากการเดินลุยน้ำก็เป็นสาเหตุของเชื้อราหรือกลิ่นอับได้ เมื่อกลับถึงบ้านแล้ว ควรรีบถอดรองเท้าทันทีและทำความสะอาดเท้าด้วยสบู่และเช็ดเท้าให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า เพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้า โรคเท้าเหม็น ส่วนรองเท้าที่เปียกควรนำไปซักทำความสะอาดทันที หรือใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดคราบสกปรกจากน้ำฝนและดินโคลน แล้วนำไปผึ่งโดยพิงรองเท้าในแนวเฉียงเข้ากับผนังจนแห้ง และไม่ควรใส่รองเท้าคู่เดิมซ้ำกันหลาย ๆ วัน เพื่อให้รองเท้าได้ระบายอากาศลดความอับชื้น ทั้งนี้ในช่วงหน้าฝนควรเตรียมรองเท้าที่สามารถใส่เดินลุยน้ำได้สำรองติดไว้ เพื่อเปลี่ยนในเวลาที่ต้องเดินเหยียบน้ำหรือลุยน้ำ
และนอกจากการทำความสะอาดเสื้อผ้าและรองเท้าที่อับชื้นแล้ว ควรดูแลเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ไข้หวัด ภูมิแพ้อากาศได้ จึงควรทำร่างกายให้อบอุ่น หากเปียกฝน ให้รีบเช็ดตัวให้แห้งแล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกชื้นทันที” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด