มา Work from home แบบมีความสุขกันเถอะ

มา Work from home แบบมีความสุขกันเถอะ

มา Work from home แบบมีความสุขกันเถอะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วงเวลาของการ Work from Home กันยาว ๆ อีกครั้ง! แม้ว่าจะไม่ต้องตื่นแต่เช้ามืด ไม่ต้องเดินทาง ไม่ต้องเสียสุขภาพจิตบนถนน หรือไม่ต้องสู้หน้าเจ้านายแบบจัง ๆ มันก็อาจจะดีในช่วงแรก ๆ แต่หลายคนก็ไม่ค่อยชอบการทำงานที่บ้านสักเท่าไร เพราะรู้สึกว่าควบคุมวินัยตัวเองยากเหลือเกิน ขี้เกียจ บางทีก็ไม่ได้งาน อากาศน่านอน ไม่มีใครมาคอยจับตาดู ข่าวสารต่าง ๆ ก็ไม่ได้น่าอภิรมย์ อยากไปข้างนอกก็ออกไปไม่ได้ อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม ที่มีแต่ความเครียดเต็มไปหมด การ Work from Home นาน ๆ จึงเป็นทุกข์อยู่เหมือนกัน

แต่เราไม่มีทางเลือกอื่นในสถานการณ์ที่โรคระบาดกำลังระบาดรุนแรงแบบนี้ เราจึงต้องจัดการตัวเองให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ต่างจากการทำงานที่ออฟฟิศ รวมถึงไม่รู้สึกหดหู่จนเป็นอุปสรรคการทำงาน Tonkit360 มีคำแนะนำดี ๆ ในการ Work from Home แบบ “มีความสุขกันเถอะ!” มาฝาก

รักษาเวลาทั้งการเข้านอนและตื่นนอน

การพักผ่อนเป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งต่อประสิทธิภาพการทำงาน ลองคิดดูสิว่าในวันที่เราพักผ่อนเต็มที่ สมองเราปลอดโปร่งสดใสแค่ไหน ไม่มีใครทำงานออกมาได้ดีหรอกถ้านั่งทำงานในสภาพไร้สติสัมปชัญญะ หรือสัปหงกหลับคากองงานไปแล้ว เพราะฉะนั้น รักษาเวลาในการเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา เวลาเดิมสม่ำเสมอ ไม่ใช่คิดว่าตื่นสายได้แล้วจะนอนดึกตามใจชอบ พักผ่อนให้เต็มที่ จะได้ไม่มานั่งง่วงหรือคอยแต่จะหาเวลาอู้ไปแอบงีบในเวลาทำงาน

กิจวัตรประจำวันต้องเรียบร้อยพร้อมทำงาน

เมื่อตื่นขึ้นมาแล้ว ให้ลุกไปทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองให้เรียบร้อย ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว กินข้าว ทำกิจกรรมทุกอย่างให้เหมือนกับไปทำงานที่ออฟฟิศ อย่านั่งทำงานทั้งชุดนอน เพื่อบอกให้สมองรับรู้ว่านี่เป็นเวลาทำงาน ไม่ใช่เวลาพักผ่อนแต่อย่างใด ทั้งนี้ การแต่งกาย อาจไม่ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศ แต่งหน้าจัดเหมือนเวลาเข้าออฟฟิศจริง ๆ แบบที่เขาว่ากันก็ได้ เพราะมันค่อนข้างเปลืองพอสมควร เพียงแต่เป็นชุดที่พร้อมทำงานก็พอ

มีแผนงานที่จะทำในแต่ละวัน ที่วางไว้แล้ว 1 สัปดาห์

ในช่วงค่ำวันอาทิตย์ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเตรียมพร้อมที่จะทำงานในวันรุ่งขึ้น จริง ๆ แล้วเรื่องธรรมดาที่น้อยคนนักจะชอบวันจันทร์ ซึ่งถ้าเราไม่เตรียมรับมือ วันจันทร์ที่ว่าอาจจะเป็นนรกมากกว่าเดิมเป็นสองเท่าก็ได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งเหม่องงว่าจะเริ่มทำอะไรจากตรงไหน ให้วางแผนงานที่จะทำคร่าว ๆ ตลอดทั้งสัปดาห์ในคืนวันอาทิตย์ แล้วเช้าวันจันทร์ หลังประชุมงาน ค่อยมาสรุปงานใน 1 สัปดาห์อีกทีว่าทิศทางการทำงานจะไปในทางไหน

จัดสภาพแวดล้อมให้พร้อมทำงานและการประชุม

อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานที่บ้าน คือ บรรยากาศไม่เอื้อเท่าที่ควร แต่เราไม่มีทางเลือกในสภาวะแบบนี้ จึงควรจัดมุมทำงานให้เป็นกิจจะลักษณะ ไร้เสียงน่ารำคาญรบกวนการทำงาน ให้เหมือนการทำงานที่ออฟฟิศให้มากที่สุด ข้าวของบนโต๊ะสะดวกพร้อมใช้งาน เครื่องมือติดต่อสื่อสารพร้อมตลอดเวลากับการในการทำงานที่คนในทีมไม่เห็นหน้าค่าตากัน และแยกพื้นที่ทำงานกับที่นอนออกจากกันเด็ดขาด มิเช่นนั้นได้ไหลไปกองบนที่นอนตลอดเวลาแน่ ๆ

พยายามกำหนดเวลาพักให้ตรงเวลาเหมือนทำงานที่ออฟฟิศ

แม้ว่าจะไม่ต้องสแกนนิ้วเช็กเวลาเข้า-ออกงานเหมือนตอนเข้าออฟฟิศ และเวลาก็ยืดหยุ่นมากกว่า แต่การแบ่งเวลาให้ชัดเจนเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นนิสัยและทำอย่างสม่ำเสมอ ทั้งเวลาเริ่มงาน เวลาพักกลางวัน และเวลาเลิกงาน เพื่อไม่ให้ตารางชีวิตเสียความสมดุลเละเทะไปหมด เพราะการทำงานอยู่บ้านมีแนวโน้มที่เราจะว่อกแว่กได้ตลอดเวลา จึงต้องมีวินัยกับตัวเองให้เป็นนิสัย และป้องกันการทำงานหนักจนเกิดอาการหมดไฟด้วย

มีกิจกรรมผ่อนคลายบ้างระหว่างพัก

การนั่งทำงานนาน ๆ ทำให้สมองล้า รวมถึงความเครียด ความกดดันเรื่องงาน ก็ทำให้เราเสียสมาธิไปได้ง่าย ๆ ฝืนไปก็ไม่มีประโยชน์ ควรแบ่งเวลาจากหน้าจอ มาพักสักสายตา พักสมองสักครู่ หยุดพักยืดเส้นยืดสายบ่อย ๆ จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน และทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีกฎสารพัดในการแบ่งเวลาทำงานกับเวลาพัก ลองเลือกแบบที่ใช้มาใช้กับตัวเองดู เช่น พักเล่นเกม 5 นาที เทคนิคมะเขือเทศ กฎ 50/10 เป็นต้น

ยืดหยุ่นกับเวลาแล้วเน้นที่ผลลัพธ์ของงานแทน

คนทำงานครบเวลางานไม่ได้การันตีคุณภาพของงานเสมอไป ในขณะเดียวกัน คนที่ไม่ได้ทำงานครบชั่วโมงเป๊ะ ๆ หรือล่วงเวลา ก็สามารถทำงานที่มีประสิทธิภาพได้ ความสมดุลแบบ Work-Life Balance อาจเป็นเพียงแนวคิดอุดมคติที่คนทำงานใฝ่ฝัน เราแยกเวลางานกับเวลาส่วนตัวไม่ได้อย่างเด็ดขาด เกิดเป็นความเครียด ความยืดหยุ่นเรื่องเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ควรปล่อยให้การทำงานลื่นไหล แล้วเน้นที่ศักยภาพคนทำงานกับผลลัพธ์ของงานแทน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook