“Home” By Myself Handcrafted รีโนเวทบ้านในแบบที่เราอยากอยู่
เราลัดเลาะเข้าซอยในย่านบางขุนนนท์ หลังจากเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปตามถนนที่ไม่กว้างไม่แคบแต่กำลังพอดีสำหรับให้รถขับสวนกันได้อย่างสบายๆ 2 ข้างทางมีวิวทิวทัศน์จากต้นไม้ใหญ่ให้เราได้พักสายตาเป็นระยะ เสียงเตือนจากแอปพลิเคชันก็บอกกับเราว่า You have arrived at your destination คุณอู-ธนวัฒน์ ควนสุวรรณ ที่เป็นทั้งเจ้าของบ้านและเจ้าของแบรนด์เครื่องหนัง By Myself Handcrafted ออกมาเปิดประตูต้อนรับพวกเราพร้อมกล่าวคำทักทาย
หลังจากเดินเข้ามาภายในบ้านเราสัมผัสได้ถึงความเงียบสงบและเป็นส่วนตัว ทั้งการตกแต่งยังสะท้อนให้เห็นถึงความชอบและคาแรกเตอร์ของบ้านได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว คุณอูพาเดินสำรวจบ้านเล็กน้อย ก่อนจะมานั่งคุยกันที่มุมนั่งเล่น “เริ่มต้นคืออยากมีบ้านของตัวเอง ลองไปดูบ้านในโครงการแล้วรู้สึกไม่ใช่เราเลย ทุกหลังเหมือนกันหมด ด้วยอาชีพของเราที่ทำงานอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ต่างไปจากคนอื่นที่เช้าออกไปทำงาน เย็นกลับบ้าน ฟังก์ชันใช้งานเลยไม่ตรงกับความต้องการของเราเท่าไร”
มองหาบ้านเก่าในย่านที่คุ้นเคยก่อนจะรีโนเวตใหม่ทั้งหมดโดยมีความคิดว่าสร้างและออกแบบเองน่าจะตอบโจทย์มากกว่า “เดิมบ้านผมอยู่แถวจรัญฯ เลยลองขับรถมาดูละแวกใกล้ๆ อย่างบางขุนนนท์ เพราะปกติเราก็มาซื้อวัตถุดิบอุปกรณ์ทำเครื่องหนังในย่านนี้อยู่แล้ว รู้สึกคุ้นเคยและชอบที่ไม่มีตึกสูง ค่อนข้างเงียบ มีต้นไม้เยอะเหมือนอยู่ต่างจังหวัด เราขับรถเข้าทุกซอยจนมาเจอบ้านหลังนี้เป็นบ้านทาวน์เฮาส์ค่อนข้างทรุดโทรม ถึงสภาพภายในจะค่อนข้างแย่แต่โครงสร้างยังดูแข็งแรง ไม่มีจุดไหนร้าว เข้าไปแล้วรู้สึกเย็นสบาย ไม่อึดอัด แล้วเราเห็นภาพว่าอยากให้ตรงนี้เป็นอะไร ตรงนั้นจะทำแบบไหน ใช้เวลาคิดอยู่ 1 สัปดาห์ก็ตัดสินใจซื้อ”
เริ่มต้นจากใช้งานอย่างไรก็ออกแบบอย่างนั้น แล้วจัดสรรพื้นที่ให้ลงตัว “เราลิสต์ไว้ว่ามีอะไรที่ไม่ชอบบ้าง เช่น ตากผ้าหน้าบ้าน แทงก์น้ำ ปั๊มน้ำ เครื่องกรองน้ำ สิ่งเหล่านี้จะออกแบบซ่อนฟังก์ชันไว้ให้ดูเรียบร้อย โซนซักล้างจึงอยู่บริเวณชั้น 4 ของบ้านที่เหมือนเป็นดาดฟ้า และมีห้องเก็บอุปกรณ์ วัตถุดิบทำเครื่องหนัง เพราะข้างบนค่อนข้างร้อนเลยไม่ต้องกังวลเรื่องความชื้น”
คุณอูบอกกับเราว่าตอนนี้แทบไม่เหลือภาพเดิมของบ้านเก่าเพราะทุบทำใหม่แทบทุกส่วน เริ่มจากเพิ่มช่องแสงให้ตัวบ้านโดยเปลี่ยนกำแพงทึบด้านหน้าให้เป็นหน้าต่างกระจกที่มองเห็นวิวต้นไม้ด้านนอกได้ แบ่งฟังก์ชันใช้งานภายในบ้านอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ชั้นล่างเป็นส่วนนั่งเล่นพักผ่อน กินข้าว มีห้องครัวด้านหลัง ชั้น 2 เป็นสเปซไว้สำหรับทำงาน มีมุมเล็กๆ ไว้อ่านหนังสือและฟังเพลง ส่วนชั้น 3 เป็นห้องนอน
“เรามีเพื่อนที่เป็นสถาปนิกมาช่วยออกแบบ ผมไม่ได้เรียนจบมาด้านนี้โดยตรงแต่มีไอเดีย มีภาพในหัวว่าอยากได้ประมาณไหน และเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือเลยจะมี Reference ค่อนข้างเยอะ เพื่อนก็จะมาช่วยแปลไอเดียของเราเพื่อคุยกับช่าง คอนเซ็ปต์ตอนแรกยังไม่ชัดเจน ผมยังไม่รู้ว่าจะชอบสิ่งนี้สไตล์นี้ไปอีก 10 ปีหรือเปล่า เลยแบ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำเลยกับสิ่งที่เพิ่มเติมทีหลังได้ อย่างโทนสีผนังจริงๆ ไม่ใช่สีขาวแต่เป็นสีเทา ถ้าไม่มีสีขาวไปเทียบก็จะดูไม่ออก เราชอบงานเหล็ก ไม้ หนัง บ้านเลยจะดูดิบๆ หน่อยแต่เป็นความดิบที่มีความเนี้ยบ เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นงานไม้ช่วยเบรกอารมณ์ให้บ้านดูอบอุ่นขึ้น”
นอกจากเรื่องคอนเซ็ปต์และการตกแต่งแล้ว คุณอูยังให้ความสำคัญกับเรื่องฟังก์ชันใช้งานอีกด้วย “อย่างที่บอกคือต้องดูว่าไลฟ์สไตล์เราเป็นยังไง เราขับมอเตอร์ไซค์แต่ไม่ชอบจอดไว้ด้านนอก เลยออกแบบให้มีทางลาดตั้งแต่หน้าบานเข้ามาเพื่อให้ขับเข้ามาในบ้านได้ ประตูก็จะใหญ่กว่าปกติ อย่างน้อยแค่เราได้นั่งมองมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่ก็มีความสุขแล้ว ชั้นล่างเลยเป็นมุมนั่งเล่น มีโซฟาไว้อ่านหนังสือ นั่งดูรถไปเรื่อยๆ อีกอย่างคือบ้านผมไม่มีทีวี ถ้าไปซื้อบ้านจัดสรรฟังก์ชันเหล่านี้คงไม่มีแต่นี่เรามีโอกาสได้ดีไซน์เองทุกอย่าง”
“พื้นที่ใต้บันไดเดิมเป็นห้องน้ำเราทุบออกแล้วทำเป็นบานเลื่อนสำหรับเก็บรองเท้า เก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด เช่น ไม้กวาด เดิมจะมีห้องเล็กๆ ด้านข้างเป็นทางเดินแคบๆ ให้เข้าไปข้างใน เราก็รื้อออกทั้งหมดเพื่อเปิดสเปซให้โล่งใช้งานได้ต่อเนื่องกันไปจนถึงส่วนห้องครัวด้านหลัง”
ถึงจะออกตัวว่าเป็นคนไม่ค่อยทำอาหารแต่ดีเทลการออกแบบ รวมถึงฟังก์ชันต่างๆ บอกเลยว่าใส่ใจทุกรายละเอียด “ครัวเราตั้งใจทุบฝ้าออกแล้วทำเป็น Double Volume เพราะไม่อยากรู้สึกอึดอัด หลังคาด้านบนจะมีช่องแสงที่ผมขึ้นไปเรียงด้วยตัวเองเพื่อให้แสงกระจายตัวมากที่สุด กลัวช่างทำออกมาแล้วไม่ได้อย่างที่เราต้องการ พอมีแสงครัวก็ดูโปร่งและปลูกต้นไม้ได้ด้วย
“เคาน์เตอร์ออกแบบเป็นตัว I (ไอ) แบ่งการใช้งานให้เป็นสัดส่วน มีซิงก์ ถัดไปเป็นเตา โครงสร้างด้านบนเป็นปูนทอปด้วยหินอิตาลีสีดำ ส่วนตู้ใต้เคาน์เตอร์ผมได้ช่างไม้ที่เป็นช่างเก่าแก่มาทำให้ พ่อของเพื่อนช่วยแนะนำให้ วาดแบบในกระดาษ เราเป็นช่างเห็นการทำงานของเขา การดูแลรักษาอุปกรณ์คือรู้เลยว่าไม่ธรรมดา เหมือนช่างญี่ปุ่น ไม่เหมือนช่างไม้ส่วนใหญ่ที่เราเคยเจอ”
พอคุยมาถึงตรงนี้คุณอูก็ชวนให้เราไปดูในรายละเอียดต่างๆ พร้อมกับอธิบายดีเทลต่างๆ “หน้าบานจะแบ่งเป็นทั้งหมด 9 ช่อง ฟังก์ชันด้านในจะไม่เหมือนกันแต่เป็นไม้สักทั้งหมด บางช่องเป็นลิ้นชัก เป็นชั้นวางของ เป็นตู้โล่งๆ อย่างดีไซน์หน้าบานถ้าเป็นช่างทั่วไปคงใช้ไม้ระแนงสำเร็จรูปมาทำ แต่ช่างคนนี้ใช้ไม้ทั้งแท่งแล้วนำมาเลื่อยเป็นชิ้น ถ้ามองจากอีกฝั่งไปอีกฝั่งจะเห็นเลยว่าทุกอย่างตรงกันเป๊ะ ถ้าเป็นครัวสำเร็จรูปคงไม่สามารถทำแบบนี้ได้
“ในส่วนของระยะห่างแต่ละช่องเราอยากให้หน้าบานชิดกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เหมือนไม่มีรอยต่อ ผมเลือกใช้บานพับถ้วยเวลาเปิดหน้าบานจะพับเข้าไปด้านในทำให้ไม้ไม่ขบกัน มือจับเราก็ไม่อยากให้มีที่ดึง อยากได้หน้าบานเรียบๆ เขาก็เซาะร่องด้านบนให้สามารถเปิด-ปิดได้สะดวก ด้วยความที่เราเป็นช่างอยู่แล้วเลยค่อนข้างอินกับอะไรแบบนี้ แล้วตอนที่เขายกมาวางเข้าไปคือทุกอย่างพอดีเป๊ะ เราทึ่งมาก อันนี้ทำให้คิดหนักเหมือนกันนะถ้าในอนาคตต้องย้ายบ้าน ส่วนฟังก์ชันอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรมาก มีชั้นติดผนังไว้สำหรับวางของกับกรุกระเบื้องแบบ Subway ย้อนกลับไปช่วงประมาณ 7-8 ปี ตอนนั้นยังไม่มีกระเบื้อง Subway ที่เป็นแนวนอนสี่เหลี่ยมผืนผ้า เลยได้แบบนี้มาแล้วให้ช่างช่วยติดให้ทีละแผ่น”
“ตอนทำบ้านเรารู้อยู่แล้วว่าเราต้องการอะไร แค่เอามาย่อยเป็นข้อๆ ว่าตรงนี้เป็นแบบนี้ ใช้งานสะดวกสำหรับเรา จากนั้นก็ดีไซน์ออกมาไม่ว่าจะเป็นบันได ราวจับ ช่องแสง หรือแม้กระทั่งโคมไฟโถงกลางบ้านที่มีทั้งหมด 9 ดวง ในแต่ละชั้นขนาดกับระยะก็ไม่เท่ากันและเราเป็นคนเขียนแบบด้วยตัวเอง”
นอกจากทำงานหนัง By Myself Handcrafted แล้ว ถ้าจะบอกว่าบ้านหลังนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานคราฟต์ของคุณอูเราว่าก็คงจะไม่ผิดมากนัก…นอกจากดีไซน์สวยแล้วฟังก์ชันใช้งานยังตรงใจแบบที่คุณอูบอกไว้ “ออกแบบเองน่าจะตอบโจทย์มากกว่า”
อัลบั้มภาพ 26 ภาพ