รู้จักถังแก๊สประเภทต่าง ๆ พร้อมราคา เลือกถังแก๊สอย่างไรให้เหมาะกับบ้าน
ถังแก๊ส หรือ ถังก๊าซ อีกหนึ่งสิ่งที่หลายบ้านมีใช้งาน โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อบ้านเดี่ยว หรือซื้อทาวน์เฮ้าส์ / ทาวน์โฮม เนื่องจากมีครัวไทยที่เอื้อต่อการทำอาหารมากกว่าผู้ที่ซื้อคอนโด แต่จะเลือกถังแก๊สอย่างไรให้เหมาะกับบ้าน และมีวิธีใช้งานอย่างไรให้ปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดจากถังแก๊สรั่วหรือชำรุด ลองหาคำตอบได้จากบทความนี้
รู้จักกับถังแก๊สประเภทต่าง ๆ
ในปัจจุบันการใช้งานถังแก๊สยังได้รับความนิยมมาก เพื่อให้ได้เข้าใจว่าถังแต่ละแบบแต่ละประเภทเป็นอย่างไร แล้วแบบไหนเหมาะกับบ้านคุณ ลองมาทำความรู้จักกับประเภทของถังแก๊สกันก่อนว่ามีแบบไหนกันบ้าง โดยถังแก๊สปัจจุบันมีด้วยกัน 4 ประเภท ดังนี้
1. ถังแก๊สที่ทำด้วยเหล็ก หรืออะลูมิเนียม ถังแบบนี้คือถังแก๊สหุงต้ม ซึ่งเป็นถังทั่วไปที่เราใช้งานกันอยู่ และเป็นแบบที่มีน้ำหนักสูง แต่ก็มีราคาที่ถูกที่สุดด้วย
2. ถังแก๊สที่ทำด้วยเหล็ก หรืออะลูมิเนียม แต่มีการหุ้มอีกชั้นด้วยวัสดุใยแก้ว หรือเส้นใยคาร์บอน ถังแบบนี้จะเป็นถังบรรจุแก๊สที่ใช้ต้องวางไว้นในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง เสี่ยงต่อการสะสมความร้อน จึงมีชั้นที่หนาขึ้นกว่าแบบแรก
3. ถังแก๊สที่ทำด้วยแผ่นอะลูมิเนียมที่บางลงมา แต่เพิ่มความหนาด้วยการห่อหุ้มทั้งตัวถังด้วยวัสดุใยแก้ว หรือเส้นใยคาร์บอน ถังสำหรับรถยนต์ที่น้ำหนักเบา
4. ถังแก๊สที่ทำด้วยแผ่นพลาสติก และทำการห่อหุ้มเพิ่มด้วยวัสดุใยแก้ว หรือเส้นใยคาร์บอนผสมใยแก้ว หรือที่เรียกว่า ไฟเบอร์กลาส ถังแบบนี้จะเป็นถังที่น้ำหนักเบาที่สุด เหมาะกับกลุ่มรถยนต์ที่ต้องการแบกน้ำหนักถังที่เบาลงเพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานได้ดีขึ้น
วิธีการเลือกใช้งานถังแก๊สให้เหมาะสมกับบ้าน
สำหรับแม่บ้าน พ่อบ้านที่ต้องการใช้งานครัว หรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ แล้วต้องใช้งาน ถังแก๊สนั้นจะต้องเลือกขนาดไหนถึงเหมาะกับการใช้งานมากที่สุด ลองมาดูวิธีการเลือกใช้งานเพื่อให้ทั้งปลอดภัย และเหมาะสม ดังนี้
1. ถังแก๊ส ขนาด 4 กิโลกรัม
ถังแก๊ส ขนาด 4 กิโลกรัม จะมีความสูงเพียง 40 เซนติเมตร หรือที่รู้จักกันในชื่อของถังปิคนิค มีขนาดเล็กกะทัดรัดเหมาะกับบ้านขนาดเล็กที่มีพื้นที่ห้องครัวน้อย หรือไม่ได้มีห้องครัวเป็นกิจลักษณะ อาจจะยกถังไปทำบริเวณพื้นที่ซักล้างหลังบ้านเป็นครั้งคราว แต่ด้วยขนาดถังที่เล็กกว่าแบบอื่น จึงใช้งานได้ไม่มากเท่าขนาดถังอื่น
2. ถังแก๊ส ขนาด 7 กิโลกรัม
ถังแก๊ส ขนาด 7 กิโลกรัม จะมีความสูงที่ 48 เซนติเมตร ถังแก๊สขนาดนี้คือ ขนาดที่แบ่งทอนออกมาจากขนาดที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้คือขนาด 15 กิโลกรัม แต่ขนาด 7 กิโลกรัม เหมาะกับครอบครัวที่นาน ๆ จะทำกับข้าวกินเองสักครั้ง เช่น ใช้เวลาในการทำครัวน้อย หรือทำอาหารเพียงแควันเสาร์-อาทิตย์ หรือพื้นที่ของบ้านไม่มาก
3. ถังแก๊ส ขนาด 11.5 กิโลกรัม
ถังแก๊ส ขนาด 11.5 กิโลกรัม จะมีความสูง 58 เซนติเมตร เป็นขนาดทางเลือกสำหรับบ้านที่ทำอาหารบ่อยครั้ง แต่ไม่ใช่ทุกวัน และพื้นที่วางถังแก๊สไม่สามารถใช้งานกับถังขนาด 15 กิโลกรัม ที่สูงมากกว่าได้ ถังขนาดนี้จึงเป็นทางเลือกในการใช้งานที่ดี
4. ถังแก๊ส ขนาด 15 กิโลกรัม
ถังแก๊ส ขนาด 15 กิโลกรัม จะมีความสูง 66 เซนติเมตร เป็นขนาดถังแก๊สที่พบบ่อยที่สุดตามบ้านเรือน หรือแม้แต่ตามร้านอาหารร้านอาหาร เพราะว่าเป็นขนาดมาตรฐานที่ใช้งานทุกวัน โดยถังแก๊ส ขนาด 15 กิโลกรัม ปกติใช้งานได้นานประมาณ 2 เดือน
5. ถังแก๊ส ขนาด 48 กิโลกรัม
ถังแก๊ส ขนาด 48 กิโลกรัม จะมีความสูงมากถึง 140 เซนติเมตร เป็นถังแก๊สขนาดใหญ่ที่สุด อาจจะไม่เหมาะกับบ้านทั่วไป แต่ถ้าบ้านไหนที่ประกอบกิจการร้านอาหาร ทำเบเกอรี่ หรือครอบครัวขนาดใหญ่มาก ถังขนาดนี้อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะ เพราะไม่ต้องเปลี่ยนถังบ่อย ๆ แต่ต้องคำนึงถึงพื้นที่ครัวด้วยเช่นกัน เพราะต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างมากในการวางถังขนาดนี้
น้ำหนักข้างถังแก๊สหมายถึงอะไร
น้ำหนักข้างถังแก๊สที่ติดอยู่ข้างถัง เป็นการระบุขนาดบรรจุของถังแก๊สนั้น ยกตัวอย่างเช่น ถังแก๊ส ขนาด 15 กิโลกรัม (แก๊ส LPG จะถูกบีบอัดด้วยความเย็นจนมีสภาพจากแก๊สเป็นของเหลวอยู่ในถัง)
น้ำหนักของถังเปล่า คือ น้ำหนักของเนื้อเหล็ก ที่ประกอบขึ้นมาเป็นรูปร่างของถังแก๊สทรงแคปซูล มีหูจับด้านบน และมีขาตั้งด้านล่าง
ถังเปล่าขนาดบรรจุ 15 กิโลกรัม จะมีน้ำหนักโดยประมาณอยู่ที่ 16.5-18.0 กิโลกรัม
น้ำหนักรวมของถังแก๊ส เมื่อบรรจุแก๊สเต็มถังคือ น้ำหนักถัง + น้ำหนักแก๊ส = น้ำหนักรวม
ดังนั้น น้ำหนักโดยประมาณของถังแก๊สขนาด 15 กิโลกรัม จะอยู่ที่ประมาณ 31 กิโลกรัม แปรผันไปตามน้ำหนักถังเปล่า ที่ไม่ได้เท่ากันทุกถัง แต่น้ำหนักแก๊สจะต้องตรงกัน แต่หากน้ำหนักแก๊สที่บรรจุอยู่ไม่เท่ากับที่ระบุอยู่บนถังชนิดนั้น ผู้ใช้สามารถร้องเรียนต่อกรมการค้าภายในให้ดำเนินการเอาผิดต่อผู้จำหน่ายได้ เนื่องจากแก๊สหุงต้ม เป็นสินค้าควบคุม ผู้ผลิต และจำหน่ายต้องตรวจสอบคุณภาพ และปริมาณให้ดี ก่อนจะออกไปสู่ผู้บริโภค
ลักษณะของถังแก๊สที่ดี
ถังแก๊สที่ดีจะต้องมีเครื่องหมายของผู้ผลิต ตราสัญลักษณ์ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) และมีการระบุน้ำหนักไว้อย่างชัดเจน รวมถึงตัวถังมีสภาพสมบูรณ์ ตัววาล์วปิดสนิท มีซีลปิดผนึกเรียบร้อย บอกวันหมดอายุ และวันตรวจสอบคุณภาพถังครั้งล่าสุดจากผู้เชี่ยวชาญไว้ชัดเจน
วิธีการจัดวางถังแก๊สที่ถูกต้อง
แนวทางในการจัดวาง และการใช้งานของถังแก๊สนั้นไม่ยากเลย เพียงแต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของการรั่วไหลของแก๊ส
1. การจัดวางจะต้องจัดวางในพื้นที่ที่สามารถเปิดอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับ และเป็นห้องทึบ
2. ถังแก๊สจะต้องไม่วางในที่ที่มีความร้อนสูง เช่น แสงแดดส่องกระทบโดยตรงจนมีความร้อนสะสมมากจนอาจเกิดการระเบิดออกมาได้
3. วางแนวตั้ง การวางแนวนอนมีความเสี่ยงที่ถังแก๊สจะรั่วไหลออกมาได้ง่าย
4. ระมัดระวังในการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะการกลิ้งหรือกระแทก อาจทำให้ถังบุบหรือรั่วได้
5. ถังแก๊สจะต้องวางห่างออกจากเตาหรือประกายไฟ ประมาณ 1.5 เมตร เพื่อความปลอดภัย ในกรณีเกิดการรั่วไหล ประกายไฟจะไม่สามารถไปถึงถังแก๊สได้ง่าย
6. ถังแก๊สจะต้องต้องวางที่แห้ง เพื่อเลี่ยงการเกิดสนิมที่จะทำให้ถังผุได้
7. วางถังแก๊สในทิศทางที่สามารถเอื้อมมือเพื่อปิดวาล์วได้สะดวกที่สุด และง่ายต่อการเปลี่ยนถังจะดีที่สุดเพื่อความสะดวก และปลอดภัย
ถังแก๊สรั่วแก้ปัญหาอย่างไร
สัญญาณที่บ่งบอกว่าถังแก๊สรั่วคือ มีกลิ่นของแก๊สอยู่ในบริเวณนั้น หากมีกลิ่นแรงแสดงว่ามีปริมาณแก๊สรั่วออกมามากแล้ว ให้รีบปฏิบัติดังนี้
1. หากแก๊สรั่วจากการลืมปิดวาล์วถังแก๊สหรือปิดไม่สนิท ขั้นแรกให้รีบปิดวาล์วให้สนิททันที แต่หากเป็นกรณีถังแก๊สรั่วให้ย้ายถังอย่างระมัดระวังไปวางไว้ที่กลางแจ้งแล้วใช้ผ้าขนหนูซับน้ำห่อหุ้มบริเวณที่รั่วและฉีดน้ำชโลมให้ถังเย็นตลอดเวลา จนกว่าแก๊สจะหมดถัง หรือช่างจากร้านเข้ามาดูแล
2. เร่งระบายอากาศออกจากบริเวณนั้นโดยเร็วที่สุด อย่าให้ห้องกลายเป็นสภาพห้องปิดทึบ เพราะจะยิ่งทำให้แก๊สสะสมมากขึ้น
3. ห้ามเปิดสวิตช์ไฟ พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องดูดอากาศ หรือเครื่องดูดฝุ่นโดยเด็ดขาด เพราะทำให้เกิดประกายไฟ และอาจทำให้เกิดการระเบิดได้ ให้ใช้เปิดหน้าต่าง-ประตู แล้ววิธีพัด หรือโบกแทน
4. หากเกิดเพลิงไหม้ถังแก๊ส ให้รีบปิดวาล์วถังแก๊ส หากไม่สามารถปิดได้ให้ใช้ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีฉีดพ่นบริเวณจุดที่ไฟลุกไหม้จนกว่าไฟจะดับ
5. หมั่นตรวจรอยรั่วโดยใช้น้ำสบู่ทาตามสายยางและรอยต่อทุกจุด หากมีฟองสบู่ผุดขึ้นมา ให้รีบปิดวาล์วที่ถังแก๊สแล้วรีบแจ้งช่างจากร้านโดยด่วน
อัปเดตราคาถังแก๊สในปัจจุบัน
ราคาถังแก๊สในปัจจุบันจะเป็นในราคาตามเรทของขนาดถังแก๊ส ดังนี้
1. ถังขนาด 48 กิโลกรัม ราคาประมาณ 4,800 บาท
2. ถังขนาด 15 กิโลกรัม ราคาประมาณ 2,400 บาท
3. ถังขนาด 11.5 กิโลกรัม ราคาประมาณ 1,500 บาท
4. ถังขนาด 7 กิโลกรัม ราคาประมาณ 1,900 บาท
5. ถังขนาด 4 กิโลกรัม ราคาประมาณ 1,500 บาท
เฉพาะราคาแก๊สหุงต้ม
1. ถังขนาด 48 กิโลกรัม ราคาประมาณ 938-1,119 บาท
2. ถังขนาด 15 กิโลกรัม ราคาประมาณ 318 บาท
3. ถังขนาด 13.50 กิโลกรัม ราคาประมาณ 287-323 บาท
3. ถังขนาด 4 กิโลกรัม ราคาประมาณ 94-155 บาท
ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
คงมาตรการลดค่าแก๊สหุงต้ม 45 บาท ต่อถึงเดือนกันยายน
กระทรวงพลังงาน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนช่วงฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยลดราคาถังแก๊ส 3 บาท/กิโลกรัม ทำให้ถังแก๊ส ขนาด 15 กิโลกรัม จะลดไป 45 บาท โดยจะเหลือเพียง 318 บาท ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563
นอกจากนี้ยังขยายเวลาการช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อแก๊สหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 100 บาท/คน/เดือน ต่อไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าถังแก๊สมีให้เลือกหลายแบบ หลายขนาด ซึ่งก่อนจะเลือกใช้ถังแก๊สแบบไหนในบ้านจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน และคำนึงถึงเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญที่สุด