สิ่งที่ควรรู้ ก่อนรับเลี้ยงน้องหมา-น้องแมว

สิ่งที่ควรรู้ ก่อนรับเลี้ยงน้องหมา-น้องแมว

สิ่งที่ควรรู้ ก่อนรับเลี้ยงน้องหมา-น้องแมว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่าแปลกใจที่หลายครั้งจะเห็นชาวโซเชียลให้ความสนใจ ประกาศหาบ้านให้น้องหมา-น้องแมว (ทั้งแบบจรจัด-ไม่จรจัด) กันอย่างล้นหลาม ด้วยความที่ต่างก็เป็นคนรักสัตว์ที่ไม่อาจทนเห็นน้องหมา น้องแมว ต้องไปใช้ชีวิตตามยถากรรมอยู่ข้างถนนได้ ฉะนั้น การตัดสินใจรับเลี้ยงน้องหมา-น้องแมว จึงเป็นทางออกที่คนรักสัตว์เลือก

แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนที่คุณรับน้องหมา-น้องแมวมาเลี้ยงนั้น ทั้งตัวคุณและเจ้าของที่ประกาศหาบ้านใหม่แก่น้องหมา-น้องแมว ควรรู้ และควรทำอะไรบ้าง

เมื่อเจ้าของ (คนทั่วไป) ประกาศหาบ้านใหม่ ให้น้องหมา น้องแมว

ปัจจุบัน คนรักสัตว์ไม่ได้มุ่งมั่นค้นหาลูกรักตัวน้อยที่มาจากฟาร์มหรือร้านขายสัตว์เลี้ยงเท่านั้น หลายคนก็เลือกที่จะรับอุปการะน้องหมา น้องแมว จากเจ้าของที่ไม่พร้อมจะเลี้ยง หรือผู้ที่บังเอิญได้รับน้องหมา น้องแมว มาอยู่ในความดูแล แต่ไม่สามารถดูแลได้ อาจด้วยเพราะที่พักคับแคบ หรือมีคนในครอบครัวแพ้ขนสัตว์ เมื่อเช่นนี้ การประกาศหาบ้านใหม่ ให้น้องหมา น้องแมว จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่จะปล่อยน้องหมา น้องแมว ให้ไปอยู่ในการดูแลคนใจบุญ ก็ควรมีการเช็กข้อมูลกันซะหน่อย

1. สอบถามข้อมูลส่วนตัว

อาทิ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ (บ้านใหม่น้องหมา น้องแมว) เพื่อให้รู้ว่า ใครกันที่รับอุปการะน้องหมา น้องแมวของคุณ และบ้านใหม่นั้น มีสภาพแวดล้อมแบบใด อาทิ เป็นคอนโด บ้านเดี่ยว หรือบ้านสวน

2. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับน้องหมา น้องแมว

ในเรื่องนี้ จะทำให้คุณรู้ว่า คนที่มารับอุปการะนั้น เคยเลี้ยงน้องหมา น้องแมวมาก่อนหรือไม่ และรู้เรื่องวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญ หากคนรับอุปการะไม่เคยเลี้ยงสัตว์มาก่อน คุณจะได้ให้ข้อมูลเบื้องต้น ตลอดจนวิธีการดูแลต่าง ๆ แก่เขาได้

3. นัดพบปะ 

แม้จะมีการตกลงรับสัตว์มาเลี้ยงแล้ว แต่การนัดพบกันระหว่างเจ้าของเดิมกับผู้รับอุปการะ เพื่อเช็กสุขภาพน้องหมา น้องแมว ก่อนรับมาเลี้ยงว่า เขาเป็นอย่างไร และอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ซึ่งในข้อนี้ ก็มีหลายครั้งที่ผู้อุปการะได้เห็นหน้าตาของน้องหมา น้องแมวแล้ว เกิดเปลี่ยนใจไม่รับอุปการะ หรือขอเปลี่ยนตัวสัตว์เลี้ยงก็มี

4. ติดตาม/สอบถาม ความเป็นอยู่น้องหมา น้องแมว 

สำหรับกรณีนี้ เหมือนเป็นการติดตามผลว่า หลังรับน้องหมา น้องแมวไปดูแลแล้ว พวกเขาได้รับการดูแลเป็นอย่างไร ที่สำคัญ หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา คุณก็สามารถให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือได้ทันที

กรณีเพจ ประกาศหาบ้านใหม่ ให้น้องหมา น้องแมว

นอกจาก ประชาชนทั่วไปที่ประกาศหาบ้านใหม่ให้สัตว์เลี้ยงแล้ว ที่ผ่านมา ก็มีเพจเฟซบุ๊ก หรือมูลนิธิที่ลงประกาศหาคนรักสัตว์มารับอุปการะสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในการดูแลเช่นกัน อาทิ Catster by Kingdomoftigers (คาเฟ่แมวจร) หรือ ปันน้ำใจให้แมวจร เป็นต้น แต่การรับสัตว์มาเลี้ยงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นะ คุณต้องผ่านการตรวจเช็กของเพจ ดังนี้

1. ตอบแบบสอบถาม

ซึ่งข้อมูลที่ต้องตอบตามแบบสอบถามส่วนใหญ่ ก็เป็นข้อมูลทั่วไป เช่น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เพื่อให้เจ้าของได้ประเมินด้วยว่า หากคุณรับอุปการะไปแล้ว น้องหมา น้องแมว จะไปใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด ที่สำคัญเป็นการเช็กว่า ผู้รับอุปการะมีตัวตนจริง ๆ ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับอุปการะได้สร้างความคุ้นเคยกับสัตว์เลี้ยงไปในตัว

2. ตรวจเช็กความพร้อมของผู้รับอุปการะ

เป็นการสำรวจว่า ผู้รับอุปการะมีความพร้อมที่จะดูแลสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งไปได้ตลอดหรือไม่ และมีสมาชิกในครอบครัวที่แพ้ขนสัตว์เลี้ยงไหม รวมทั้งต้องได้รับความยินยอมให้เลี้ยงสัตว์จากสมาชิกทุกคนด้วย

3. ติดตาม/สอบถาม ความเป็นอยู่น้องหมา น้องแมว 

กรณีนี้เป็นการติดตามผลว่า เมื่อได้รับน้องหมา น้องแมว ไปดูแล มีผลเป็นอย่างไร ติดขัดปัญหาตรงจุดใดหรือไม่

ผู้รับอุปการะ น้องหมา น้องแมว

ก่อนตัดสินใจนำสมาชิกตัวน้อยเข้ามาในบ้าน ลองมาดูกันว่า คุณควรรู้ หรือเตรียมพร้อมเรื่องใดบ้าง

1. ตรวจสอบที่มา

คือ คุณต้องรู้ก่อนว่า น้องหมา น้องแมว อายุเท่าไร เพศอะไร เป็นสายพันธุ์ใด มีโรคประจำตัวหรือไม่ เพื่อเตรียมการดูแลเขาให้เหมาะสม

2. ตรวจสุขภาพ ก่อนจะนำเข้าบ้าน

การตรวจสุขภาพน้องหมา น้องแมว ก่อนนำเข้าบ้านนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้รู้ว่า เป็นโรคระบาดหรือไม่ มีโรคประจำตัวไหม หรือเช็กว่าได้ฉีดวัคซีนอะไรไปบ้างแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงที่คุณจะรับสัตว์ที่ป่วยตั้งแต่ก่อนที่จะมาอยู่ด้วย

ในส่วนการตรวจสุขภาพนี้ ทางเจ้าของเดิมหรือผู้ที่ประกาศหาบ้านใหม่ให้น้องหมา น้องแมว อาจเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ซึ่งคุณก็สามารถขอดูเอกสารการตรวจหรือการฉีดวัคซีนได้

3. อุปกรณ์ต้องพร้อม

นอกจากศึกษาวิธีการเลี้ยงและดูแลน้องหมา น้องแมวแล้ว คุณก็ควรเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม อาทิ หากรับแมวมาเลี้ยง ก็ควรเตรียมกระบะทราย ทรายแมว จานใส่อาหารหรือใส่น้ำ ที่นอนนุ่ม ๆ กระเป๋าใส่น้องแมว ของเล่น เป็นต้น

4. เข้าหาอย่างเป็นมิตร

การพบกันครั้งแรกระหว่างคุณกับน้องหมา น้องแมว เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ควรแสดงทำให้กลัว ด้วยการเข้าหาอย่างเป็นมิตร และอาจเตรียมของเล่น หรือขนมกินเล่นของสัตว์เลี้ยงติดไปด้วย เพื่อผูกมิตร

สิ่งที่คุณต้องเตรียมใจ ก่อนรับน้องหมา น้องแมว มาดูแล

1. พร้อมรับสมาชิกใหม่

ขอให้คุณจำไว้ให้ขึ้นใจว่า การรับผิดชอบชีวิตสัตว์เลี้ยงตัวหนึ่ง นั่นหมายความว่า คุณต้องดูแลเขาไปตลอดชีวิตของเขา (10-20 ปีเลยทีเดียว) ไม่ว่าเขาจะสบายดีหรือเจ็บป่วย จะยังน่ารักหรือแก่หง่อมจนไม่มีแรงเดิน หากคุณคิดว่า ไม่สามารถดูแลไหว ก็อย่ารับพวกเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเลย

2. ศึกษาข้อมูลของสัตว์เลี้ยง

ขอให้คุณศึกษาลักษณะนิสัยของสัตว์แต่ละสายพันธุ์ก่อนรับมาเลี้ยงด้วย เพื่อที่เขาจะได้สามารถเข้ากับเราได้ไปตลอด อย่ามัวมองแต่ความน่ารัก น่าเอ็นดูเท่านั้น เพราะสัตว์แต่ละสายพันธุ์ มีนิสัยที่แตกต่างกันไป

3. สำรวจความพร้อมด้านต่าง ๆ

คุณควรตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า มีความพร้อมในการเลี้ยงน้องหมา น้องแมว เพียงใด

– มีเวลาเพียงพอไหม

เวลาถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการเลี้ยงสัตว์ เพราะสัตว์เลี้ยงล้วนต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากคุณ (เจ้าของ) ไม่ว่าจะเป็นการพาออกไปเดินเล่นนอกบ้าน หรือการอาบน้ำ ดังนั้น หากคุณเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเวลา หรือจำเป็นต้องเดินทางบ่อย ๆ ก็ลองทบทวนดูอีกครั้ง

– สภาพแวดล้อม เหมาะที่จะเลี้ยงหรือไม่

แม้คุณจะอยู่ในห้องพักเล็ก ๆ ก็สามารถเลี้ยงสัตว์ได้นะ (ถ้าไม่ผิดกฎของที่พัก) เพราะอย่างน้อยก็มีพื้นที่ให้น้องหมา น้องแมวได้ซุกซน หรือเล่นซ่อนแอบกับคุณในบางเวลา

– สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นได้หรือไม่

ท่องไว้ว่า การเลี้ยงสัตว์ทุกประเภทย่อมมีค่าใช้จ่ายตามมาไม่มาก ไม่น้อย โดยค่าใช้จ่ายคร่าว ๆ ที่ต้องดูแล อาทิ

(1) ค่าอาหารที่มีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุและสายพันธุ์
(2) ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ เมื่อมีอาการเจ็บป่วยหรือฉีดวัคซีนประจำปี
(3) ของใช้สำหรับน้องหมา น้องแมว อาทิ เบาะนอน แชมพูอาบน้ำ ปลอกคอ สายจูง เป็นต้น
(4) ค่ารับฝากน้องหมา น้องแมว เวลาที่คุณต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหลายวัน

ฉะนั้น ก่อนรับน้องหมา น้องแมว เข้ามาในชีวิตของคุณ ก็ลองชั่งใจเสียก่อนว่า คุณพร้อมทั้งเวลา ทั้งการเงินหรือไม่ แต่ถ้าไม่พร้อม ก็อย่ารับพวกเขามาเลี้ยงเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook