ย้อนวันวานประวัติศาสตร์ถนนสีลม ผ่านมุมมอง สถาปนิกนักอนุรักษ์ วทัญญู เทพหัตถี

ย้อนวันวานประวัติศาสตร์ถนนสีลม ผ่านมุมมอง สถาปนิกนักอนุรักษ์ วทัญญู เทพหัตถี

ย้อนวันวานประวัติศาสตร์ถนนสีลม ผ่านมุมมอง สถาปนิกนักอนุรักษ์ วทัญญู เทพหัตถี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน ย่านสีลมเป็นดั่งจุดศูนย์รวมธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวา แต่หารู้ไม่ว่า ความเป็นมาของถนนเส้นนี้ ก่อนจะหล่อหลอมมาเป็นย่านสีลมอย่างที่พวกเรารู้จักและคุ้นเคยกัน มีการเปลี่ยนแปลงเช่นไรบ้างผ่านยุคสมัย

วันนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับสถาปนิกนักอนุรักษ์ คุณวทัญญู เทพหัตถี ที่จะมาร่วมเล่าถึงประวัติศาสตร์ถนนสีลม และความเป็นมาที่น่าจดจำ ส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่น   

จุดเริ่มต้น ที่มาของชื่อ “ถนนสีลม”

ถนนสีลมที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเดิมมีชื่อว่า ถนนขวาง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อราวปีพ.ศ. 2404 โดยเป็นถนนที่ถมขึ้นขนานไปตามแนวคลองสีลมที่ขุดเชื่อมการคมนาคมระหว่างคลองบางรักและคลองถนนตรง (คลองริมถนนพระรามที่ 4) ส่วนเหตุที่เรียกชื่อถนนว่าสีลมนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนนัก แต่อาจมีที่มาจากกังหันขนาดใหญ่ซึ่งใช้แรงลมในการสีข้าวก็เป็นได้

ยุคสมัยของถนนสีลม

หากเปรียบถนนสีลมดั่งยุคสมัย สามารถแบ่งออกได้เป็นสามรุ่นที่ชัดเจน ได้แก่:

  • ยุคกำเนิดถนนสีลม (พ.ศ. 2404 – 2435)

เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นในการตั้งถิ่นฐานของผู้คนหลายเชื้อชาติและศาสนา

  • ยุคครอบครัวสีลม (พ.ศ. 2436 – 2505)

เป็นช่วงเวลาที่ถนนสีลมเป็นย่านพักอาศัยชั้นดีของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและมีความสงบร่มรื่น ในช่วงเวลานี้ถนนสีลมมีการสัญจรด้วยยานพาหนะรูปแบบต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนไปตามความเจริญของกรุงเทพฯ  

  • สมัยรถรางสายสีลม (พ.ศ. 2436 – 2450)
  • สมัยรถเมล์ขาว (พ.ศ. 2451 – 2488)
  • สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2489 – 2505)
  • ยุคถนนสายธุรกิจ (พ.ศ. 2506 – ปัจจุบัน)

เป็นช่วงเวลาที่ถนนสีลมได้เปลี่ยนจากย่านพักอาศัยมาเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ มีการก่อสร้างอาคารสำนักงาน โรงแรมและคอนโดมิเนียมขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีระบบการขนส่งสมัยใหม่แบบรางเข้ามาถึงพื้นที่ ทั้งรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT

  • สมัยหลังถมคลองสีลม (พ.ศ. 2506 – 2524)
  • สมัยตึกสูง (พ.ศ. 2525 – 2541)
  • สมัยรถไฟฟ้า (พ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน)

การเปลี่ยนแปลงของคมนาคมเมืองกรุงฯ  

ย่านถนนสีลม เป็นย่านหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่เราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาของระบบคมนาคมได้อย่างชัดเจน ผ่านยุคสมัยที่หมุนเวียนเปลี่ยนผันไป ซึ่งแต่ละยุคล้วนมีเสน่ห์และเอกลักษณ์ในแบบของตนเอง โดยสะท้อนผ่านยานพาหนะแสนคลาสสิคที่โลดแล่นอยู่บนถนนสีลมอย่างไม่เคยหลับใหล ตั้งแต่ยุครถรางสายสีลมที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2436 ซึ่งถือเป็นพาหนะขนส่งมวลชนชนิดแรกของไทย ทั้งยังเป็นระบบรถรางไฟฟ้าแห่งแรกในทวีปเอเชียอีกด้วย โดยในระยะเวลาต่อมา ระบบขนส่งมวลชนได้พัฒนามาสู่รถเมล์ขาวของบริษัท นายเลิศ จำกัด ตลอดจนรถเมล์ของขสมก. ตามลำดับ และต่อมาในปี พ.ศ. 2542 การเดินทางโดยรถไฟฟ้า BTS สายสีลมก็ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้ถนนสีลมสามารถเข้าถึงได้สะดวกขึ้น จนกลายเป็นย่านธุรกิจสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของไทย ซึ่งไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย ย่านถนนสีลมก็ยังคงเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบายมาโดยตลอด

สถาปัตยกรรมที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

ในแง่มุมของงานสถาปัตยกรรมบนถนนสีลมนั้น มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัยมาโดยตลอด นับตั้งแต่ “ยุคกำเนิดถนนสีลม” โดยมีบ้านศาลาแดง คฤหาสน์สไตล์นีโอโกธิกรุ่นบุกเบิก บ้านพักแบบบังกาโลเขตร้อนชื้นของมิชชันนารีต่างชาติ และตึกแถวรุ่นแรกสไตล์นีโอคลาสสิค เป็นต้น นอกจากนี้บนถนนสีลมยังมีมรดกสถาปัตยกรมที่มีคุณค่าสูงอีกหลายแห่ง เช่น สุสาน ศาสนสถานรุ่นแรก เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นย่านนานาชาติ โดยเฉพาะชาวจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรมต่างเชื้อชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ของถนนสีลมจนถึงทุกวันนี้

ต่อมาถึงรุ่นครอบครัวสีลม ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ วังเจ้านาย บ้านพักอาศัยขุนนาง และคหบดีในรูปแบบบ้านไม้สองชั้นสไตล์ฝรั่ง ซึ่งให้แรงบันดาลใจต่อมาสำหรับการสร้างห้องแถวและตึกไม้สองชั้น ตลอดจนสถาปัตยกรรมของโบสถ์คริสต์และโรงเรียนคริสเตียน ไปสู่คลับชาวต่างประเทศและโรงแรมที่พักนักท่องเที่ยวในลำดับต่อมา

และท้ายสุด ย่านถนนสีลมได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาสู่ถนนสายธุรกิจในราว พ.ศ. 2506 ตราบจนถึงปัจจุบัน จากการกำเนิดของตึกแถวและอาคารพาณิชย์ที่มีความสูงน้อย (Low-rise) จนพัฒนาสู่ตึกสำนักงานและโรงแรมที่มีความสูงมากเพิ่มขึ้น (Medium & High Rise) ทั้งในสไตล์ไทยร่วมสมัย (Thai contemporary) อย่างโรงแรมดุสิตธานี สไตล์ตกแต่งผนังเป็นจังหวะซ้ำๆ (Patterned Façade) อย่างอาคารศรีเฟื่องฟุ้ง  รวมถึงตึกสไตล์ Brutalism อย่างตึกโรงแรมนารายณ์ และตึกยุคหลังสมัยใหม่ (Post-modernism) อย่างตึกสเตททาวเวอร์ สู่ตึกสูงระฟ้าสไตล์ Modern อย่างตึกมหานครที่เป็นเอกลักษณ์ของเส้นขอบฟ้ากรุงเทพฯ ในปัจจุบัน    

เรื่องราว บ้านสิวะดล กับ “น้ำใจ” ต่อชุมชนที่ไม่เคยลืมเลือน

แม้ถนนสีลม จะผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตามยุคสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งความทรงจำของสถาปัตยกรรมบ้านหลังเก่า ที่ตราตรึงในจิตใจคนย่านสีลมจากรุ่นสู่รุ่น นั่นก็คือ “บ้านสิวะดล”

บ้านสิวะดล บ้านไม้ทรงฝรั่งหลังใหญ่ หนึ่งในสัญลักษณ์ของถนนสีลมเมื่อครั้งอดีต สร้างขึ้นเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อราวพ.ศ 2465 บนที่ดินแปลงใหญ่หลายไร่ อันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันระหว่างนายเคงเหลียน สีบุญเรืองและพี่สาวคือ คุณยายเพ็ชร์ ตัวบ้านหลังนี้สร้างขึ้นจากไม้สักขนาดใหญ่ เป็นฝีมือของทีมช่างไม้คนไทยและช่างจีนจากเมืองเซี่ยงไฮ้  บ้านสิวะดลนั้นมีพื้นที่ใช้สอยมากมาย ภายในจึงกั้นแบ่งออกเป็นห้องเล็กตามจำนวนสมาชิกของบ้านที่มีอยู่ประมาณ 20 คน

เมื่อครั้งอดีต “บ้านสิวะดล” เป็นที่รู้จักกันดีในชุมชนชาวสีลมยุคเก่า เพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีน้ำใจและมิตรภาพที่ดีงามต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งถ่ายทอดผ่านประตูรั้วด้านหน้าที่เปิดอยู่ตลอดเวลาเพื่อวางโอ่งข้าวสารไว้หน้าบ้านภายใต้แนวคิดว่า “ใครใคร่ตัก ตัก” ซึ่งเป็นแนวคิดการแบ่งปันจากคุณยายแก้ว  ภรรยานายเคงเหลียน ซึ่งเปรียบดั่งศูนย์รวมของบ้าน และศูนย์รวมของน้ำใจชุมชนสีลม ที่มอบให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ โดยในช่วงวิกฤตน้ำท่วม บ้านสิวะดลยังได้เปิดรั้วให้ผู้คนมาเก็บปลาช่อนที่วนเวียนอยู่หน้าบ้านอีกด้วย ซึ่งกลายมาเป็นเรื่องราวน่ารัก ตกทอดผ่านยุคสมัย สู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อมา

ภายหลังครอบครัวสีบุญเรือง ได้ซื้อที่ดินใกล้เคียงอย่างบ้านศยามานนท์ รวมเป็นที่ดินผืนเดียวกับบ้านสิวะดล ซึ่งในปีพ.ศ. 2515 ได้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเดิม เพื่อนำมาสร้างเป็นอาคารสีบุญเรือง ที่นับเป็นตึกที่สูงที่สุดบนถนนสีลมในช่วงเวลานั้น และมีการพัฒนาเป็นอาคารสีบุญเรือง 2 อาคารสิวะดลและอาคารจอดรถสองแห่งในลำดับต่อมา

ปรากฏการณ์ใหม่แห่งย่านสีลม

ในปัจจุบันพื้นที่ทำเลทองของบ้านสิวะดลตรงใจกลางของย่านสีลมแห่งนี้ ได้ถูกส่งต่อมายังบริษัท นายณ์ เอสเตท ภายใต้การร่วมมือกับไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาผืนดินนี้ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนเมือง เพื่อรองรับความต้องการของผู้คนที่หลากหลาย อันเป็นที่มาของโครงการ พาร์ค สีลม (Park Silom) สถาปัตยกรรมเชิง Mixed Use โดยมีแนวคิดการออกแบบที่เน้นความคิดสร้างสรรค์และใส่ใจในคุณภาพ ประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานให้เช่า ร้านค้าสำหรับชุมชนและพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อน เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ ยุคใหม่ได้หายใจอย่างเต็มปอดไปพร้อมๆ กับการทำงานอย่างมีความสุข   เพื่อต่อยอดมิตรภาพและการแบ่งปันตามเจตนารมณ์เดิมของบ้านสิวะดลที่คำนึงถึงการให้และการคืนคุณค่าสู่ผู้คนและสังคมเป็นจุดสำคัญ โดยโครงการ พาร์ค สีลม มีกำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2022 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่บนถนนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของถนนที่ชื่อว่า “สีลม”  

 

 

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ย้อนวันวานประวัติศาสตร์ถนนสีลม ผ่านมุมมอง สถาปนิกนักอนุรักษ์ วทัญญู เทพหัตถี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook